Airbnb ปี 2562 เร่งผลักดันแพลตฟอร์มให้ถูกกฎหมาย ช่วยรัฐบาลกระจาย “การท่องเที่ยวท้องถิ่น” - Forbes Thailand

Airbnb ปี 2562 เร่งผลักดันแพลตฟอร์มให้ถูกกฎหมาย ช่วยรัฐบาลกระจาย “การท่องเที่ยวท้องถิ่น”

อุปสรรคข้อใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของ Airbnb คือเรื่องการทำให้แพลตฟอร์มนี้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปีนี้ Airbnb ไทยจะยังคงจับมือรัฐบาลช่วยผลักดัน “การท่องเที่ยวท้องถิ่น” โดยเฉพาะในเมืองรอง หวังซื้อใจรัฐด้วยศักยภาพเม็ดเงินที่ส่งถึงประชาชน ชี้ “ผู้หญิง” มีบทบาทมากในการท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้รวมกันกว่า 2.8 พันล้านบาท

Mich Goh หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Airbnb ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายสาธารณะของ Airbnb ในปีนี้ ยังคงมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทย Airbnb ร่วมเป็นพันธมิตรกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการบริหารการท่องเที่ยวสู่ชุมชนมาตั้งแต่ปีก่อน หรือในบางจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ Airbnb ร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนความเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางด้านกีฬา ไม่ว่าจะเป็นอีเวนท์การจัดแข่งขันรถแข่ง MotoGP หรืองานวิ่งมาราธอน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางบริษัทจึงเข้าสนับสนุนเพื่อให้ชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมเปิดที่พักกับ Airbnb รับนักท่องเที่ยว เป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน
Mich Goh หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Airbnb ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Goh กล่าวว่า การทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรภาครัฐและท้องถิ่นเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยจะเริ่มผลักดันไม่เพียงแค่การเป็น ‘Host’ หรือเปิดที่พักให้เช่ากับ Airbnb แต่รวมไปถึงการใช้ฟังก์ชัน ‘Experience’ ซึ่งเป็นการจัดทริปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรม อาทิ เรียนทำลูกประคบ, ทำอาหารไทย, ฝึกทอผ้า เพราะการจัดกิจกรรมรับนักท่องเที่ยวผ่านฟังก์ชัน Experience จะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Airbnb จะยังคงมุ่งเน้นการทำงานกับท้องถิ่นในเมืองรองที่น่าสนใจ เช่น สระบุรี บุรีรัมย์ อยุธยา Goh ยังกล่าวถึงสถิติของ Airbnb ไทยเมื่อปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้าพักกับแพลตฟอร์มรวม 1.8 ล้านคน และมี Listing หรือบ้านพักที่ขึ้นทะเบียนกับ Airbnb รวม 8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ด้านรายได้ของ Host ที่เปิดบ้านพักกับแพลตฟอร์มทำรายได้เฉลี่ย 78,000 บาทต่อคนต่อปี  

ปลดล็อกกฎหมายให้ท้องถิ่นมีรายได้

ต่อกรณีการผลักดันเพื่อให้แพลตฟอร์ม Airbnb เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกต้องตามกฎหมาย Goh เปิดเผยว่าการทำงานที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจะช่วยผลักดันให้แพลตฟอร์มมีความก้าวหน้าในทางธุรกิจได้ “เราแสดงให้รัฐบาลทราบถึงโมเดลต่างๆ กันในการกำกับดูแลการเช่าที่พักระยะสั้น บางประเทศใช้วิธีแก้ไขกฎหมายเดิม บางประเทศใช้การร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาควบคุม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวมาก โดยเฉพาะคนจีนที่นิยมเดินทางมา ดังนั้นเราพยายามพูดคุยกับทุกรัฐบาลโดยการแบ่งปันข้อมูลรายได้ที่ประชาชนจะได้รับจากการท่องเที่ยวหากรัฐบาลอนุญาตให้มีโมเดลธุรกิจนี้ ซึ่งขณะนี้การพูดคุยเป็นไปในทิศทางบวก” Goh เสริมด้วยว่า ในเอเชียนั้น ประเทศ "ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่มีความชัดเจนด้านกฎหมายกำกับดูแลการเช่าระยะสั้นมากที่สุด ทั้งนี้ Forbes Thailand รายงานเพิ่มเติมว่า การให้เช่าที่พักระยะสั้นต่ำกว่า 1 เดือน อาจขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547  เนื่องจากการนำที่พักปล่อยเช่ารายวันหรือรายสัปดาห์จะต้องขอใบอนุญาตประกอบการโรงแรมตามกฎหมายนี้ และมีข้อบังคับในการขออนุญาตอีกมาก เช่น ลักษณะอาคาร การดูแลสุขลักษณะ คุณสมบัติของผู้จัดการโรงแรม เป็นต้น  

ชี้ “ผู้หญิง” มีบทบาทในการท่องเที่ยวไทย

Airbnb ยังเปิดเผยชุดข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยด้วยว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในมุมนักท่องเที่ยว และมุม Host ผู้ดำเนินกิจการที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวผู้หญิงไทยนั้นเลือกท่องเที่ยวคนเดียว 26% , เป็นคู่ 48% และเป็นกลุ่ม 26% ที่น่าสนใจคือนักท่องเที่ยวหญิงเดี่ยวนั้นมีการเติบโตขึ้น 40% ในปีที่ผ่านมา ผู้หญิงไทยที่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะเดี่ยวหรือกลุ่ม เลือก จุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรกในไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, พัทยา, เชียงราย และอยุธยา และ จุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรกในต่างประเทศ ได้แก่ London, Paris, Rome, Barcelona และ Seoul นอกจากนี้ เทรนด์ความชื่นชอบในการท่องเที่ยวผู้หญิงยังมีแนวโน้มใน 3 เทรนด์หลัก คือ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการทำกิจกรรม การท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่ Airbnb ผลักดัน ด้านผู้หญิงที่เป็น Host เปิดกิจการที่พักกับ Airbnb นั้นคิดเป็นสัดส่วน 53% จากทั้งหมด และเติบโตขึ้นถึง 22% เมื่อปีก่อน และที่เป็น Host ด้านกิจกรรมในฟังก์ชัน Experience นั้นมีถึง 60% ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งหากวัดเฉพาะรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากผู้หญิงที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Airbnb ในปี 2561 ทำรายได้รวมกันกว่า 2.8 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 45% เห็นได้ชัดว่าผู้หญิงมีความสำคัญในแพลตฟอร์มนี้และในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย “มีความเป็นไปได้ว่ามีผู้หญิงมาทำงานด้านนี้มากขึ้นเพราะหลายคนเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูก หรือทำการเกษตร ซึ่งพวกเธอมีเวลา มีความสามารถ และมองเห็นโอกาสว่าเธอทำงานตรงนี้ได้ นอกจากนี้ผู้หญิงไทยยังมีฮอสพิทาลิตี้ที่ดีอีกด้วย” Goh ให้ความเห็น ข้อมูลจาก Airbnb เสริมด้วยว่า ไม่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ผู้หญิงยังมีบทบาทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ มีผู้หญิงเป็น Host ที่พักกับ Airbnb คิดเป็นสัดส่วนถึง 64% ในฟิลิปปินส์ 60% หรือที่กำลังเป็นดาวรุ่งเช่น ปารากวัยและปากีสถาน เจ้าของที่พักใน Airbnb ที่เป็นผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นเท่าตัวระหว่างปี 2560-61