สิงห์ เอสเตท แตกบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจโรงแรม “เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” เปิด IPO ระดมทุนขยายพอร์ตเพิ่มเป็น 75 แห่งภายในปี 2568 มองระยะยาวเป็น “Global Holding Company” สร้างความแข็งแกร่งแบรนด์บริษัท (Own Brands) ต่อยอดรับจ้างบริหาร
นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S เปิดเผยถึงแผนการนำธุรกิจที่สามของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่
บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หลังจากบริษัทมีการจดทะเบียนฯ
บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และจัดตั้งกองทรัสต์
SPRIME สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงานตึกซันทาวเวอร์ส ถนนวิภาวดี ไปแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สิงห์ เอสเตทมีการทำธุรกิจ 3 ด้านคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ภายใต้แบรนด์ เช่น ดิ เอส, สันติบุรี เรสซิเดนส์, ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท และธุรกิจอาคารสำนักงาน โดยปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมทั้งสามกลุ่ม 5.89 หมื่นล้านบาท ทำรายได้ปี 2561 รวม 8.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากอสังหาฯ เพื่อขาย 50% และอสังหาฯ เพื่อเช่า 50%
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน
บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวต่อว่า บริษัทต้องการแยกเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จดทะเบียนภายใต้ชื่อย่อ SHR เนื่องจากธุรกิจนี้มีการลงทุนสูง การจดทะเบียนและระดมทุนใช้เครื่องมือทางการเงินได้ด้วยตนเองจะทำให้บริษัทแม่คือ S ลดภาระลง และเป็นการเพิ่มโอกาสแข่งขันให้ SHR
โดย SHR มีสินทรัพย์ทั้งหมด 2.6 หมื่นล้านบาท ทำรายได้ปีล่าสุด 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้รวมทั้งเครือ ถือเป็นรายได้ค่าเช่า (recurring income) ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับสิงห์ เอสเตท
การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้จะนำไปใช้ในการชำระหนี้และเป็นกระแสเงินสดสำหรับลงทุนต่อเนื่อง เฉพาะปี 2562 มีแผนใช้งบลงทุน 4-5 พันล้านบาท เบื้องต้นใช้สำหรับลงทุนในโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดโรงแรม 2 แห่งในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ SHR ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง
ฐิติมาคาดการณ์ว่าจะเข้าเทรด IPO ได้ภายในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้
SHR วางเป้าขยายพอร์ตโรงแรม 75 แห่ง
Dirk De Cuyper ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท เปิดเผยว่า
ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมในเครือ 39 แห่ง จำนวนรวม 4,647 ห้อง ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหราชอาณาจักร มัลดีฟส์ ฟิจิ และหมู่เกาะมอริเชียส
ทั้งหมดบริหารภายใต้แบรนด์หลากหลาย ทั้งแบรนด์ของบริษัทเอง (Own Brands) เช่น สันติบุรี, SAii แบรนด์จัดตั้งใหม่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ (White Label Brands) เช่น Curio Collection by Hilton และแบรนด์แฟรนไชส์ (Franchise Brands) เช่น เมอร์เคียว, ฮอลิเดย์ อินน์ ทั้งหมดอยู่ในระดับพรีเมียม คือตั้งแต่ระดับกลางบน 3.5 ดาว จนถึงโรงแรม 5 ดาวแบบอัลติเมท ลักชัวรี
เพื่อต่อยอดการเป็น
“Global Holding Company” บริษัทจึงตั้งเป้าการขยายพอร์ตโรงแรมและรีสอร์ทเป็น 75 แห่งภายในปี 2568 โดยยังคงคอนเซปท์การลงทุนโรงแรมและรีสอร์ทระดับพรีเมียมต่อเนื่อง มุ่งเน้นการลงทุนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น ประเทศไทย (เชียงใหม่, เชียงราย) ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรปโซนทะเลเมดิเตอเรเนียน ทวีปแอฟริกาโซนมหาสมุทร ประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลีย
โฟกัสลงทุนขนาดโรงแรม 100-200 ห้อง
แม้ยังไม่ระบุงบลงทุนรวมใน 6 ปีข้างหน้า แต่ Cuyper แจกแจงแนวทางการลงทุนว่าบริษัทมองศักยภาพของโรงแรมไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเทกโอเวอร์กิจการหรือก่อสร้างใหม่ คือ
- อยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวรายได้สูง และมีการท่องเที่ยวค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดปี
- ทำเลระดับไพรม์ เช่น ติดหน้าหาด
- อัตรากำไร (yield) ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดซึ่งแตกต่างกันในแต่ละทำเล เช่น สหราชอาณาจักรมี yield ที่ 4-5%
- ขนาดการลงทุนไม่ใหญ่เกินไป โดยบริษัทมองหาโรงแรมขนาด 100-200 ห้องเป็นหลัก
Cuyper กล่าวด้วยว่า
ปัจจุบันโรงแรมทั้ง 39 แห่งของบริษัทเป็นสินทรัพย์การลงทุนเองทั้งหมด แต่อนาคตบริษัทเปิดกว้างต่อการร่วมลงทุน หรือรับจ้างบริหารโรงแรมด้วยแบรนด์ของบริษัท โดยมองว่าการมีลักษณะการบริหารที่หลากหลายทำให้มีความยืดหยุ่น และคาดหวังว่าแบรนด์ของบริษัทจะสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากมีโอกาสทำกำไรที่ดีกว่าการเซ็นสัญญาใช้แบรนด์
สำหรับการดำเนินงานปี 2561 ซีอีโอ SHR แจ้งว่า โรงแรมในไทยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย (occupancy rate) ที่ 76% ในสหราชอาณาจักร 71% ในฟิจิและมอริเชียส 80-83% และเขาหวังว่าหลังเปิดตัวโรงแรม 2 แห่งในมัลดีฟส์ปีนี้จะสามารถเร่งอัตราเข้าพักเฉลี่ยได้เท่ากับตลาดที่ 70-71% ภายในปี 2563