จากที่ดินผืนงามในย่านสามยอด พร้อมบ้านหลังใหญ่ตั้งแต่สมัยคุณปู่ ผ่านร้อนผ่านหนาว เปลี่ยนการใช้งานสู่โรงเรียนภาษาจีน พัฒนาสู่อาคารพาณิชย์ จนกระทั่งวันนี้ที่ทายาทอย่าง “นพ.ก่อเกียรติ กิตติสุวรรณ” เห็นโอกาสจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และต้องการนำเสนอวิถีชีวิตชุมชนในเขตกรุงเก่า จึงพลิกโฉมมรดกของตระกูลสู่โรงแรมหรู “วิลล่า เดอ พระนคร”
ท่ามกลางเขตกรุงเก่าริมในย่านสามยอด นอกจากจะเป็นย่านของอร่อยแหล่งร้านอาหารระดับตำนาน ยังเป็นที่ตั้งของอาคารสีสะอาดตาสไตล์วิคตอเรียที่ตระหง่านอยู่ริมถนนมหาไชย ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสามยอดนัก อาคารแห่งนี้คือโรงแรม “วิลล่า เดอ พระนคร” (Villa de Pranakorn) บูทีคโฮเทลระดับห้าดาวแห่งแรกของย่านนี้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย นพ.ก่อเกียรติ กิตติสุวรรณ
“ที่ดินบริเวณนี้เป็นมรดกตั้งแต่รุ่นคุณปู่ อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี แต่เดิมมีสิ่งปลูกสร้างคือบ้านหลังใหญ่ แต่ตอนหลังเมื่อคุณปู่ย้ายออกไป อาคารก็ถูกปรับเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ไม่นานโรงเรียนก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น จากนั้นบ้านก็ทรุดโทรม ครอบครัวเราจึงพัฒนามาเป็นอาคารพาณิชย์” นพ.ก่อเกียรติ เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังถึงประวัติของที่ดินผืนงามขนาด 369 ตารางวาแห่งนี้
ครอบครัวกิตติสุวรรณดำเนินธุรกิจอาคารพาณิชย์จำนวน 14 ห้อง เป็นเวลาราว 50 ปี โดยปล่อยเช่าให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ กระทั่งสัญญาให้เช่าล็อตสุดท้ายเริ่มทยอยหมดอายุในปี 2561-2563 เขาจึงปรึกษากับทางบ้านว่าจะทำอย่างไรกับอาคารพาณิชย์เหล่านี้ดี
“ตอนแรกเราคิดว่าจะต่อสัญญาแล้วเก็บค่าเช่าไปเรื่อยๆ ดีไหม เพราะถ้าแบบนั้นก็ง่ายดี แต่เราก็มานึกอีกมุมหนึ่งว่า นั่นไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนที่เราอยู่มา 100 กว่าปีในย่านนี้ได้”
ระหว่างค้นหาไอเดีย คุณพ่อของคุณหมอจึงแนะนำให้ไปเรียนหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทำให้ นพ.ก่อเกียรติ ที่เป็นคุณหมอทหารและหมอผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้ความรู้เรื่องการทำธุรกิจโรงแรมแบบครบวงจร ประกอบกับเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง (จากการประเมิน ณ ปี 2561)
รวมถึงย่านสามยอดยังนับเป็นย่านเมืองเก่าที่ถือเป็นแลนด์มาร์คใหม่สำคัญของกรุงเทพฯ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายความคลาสสิก รายล้อมด้วยแหล่งชุมชนเก่าแก่และร้านอาหารชื่อดัง ทั้งยังอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์อย่าง พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ย่านเยาวราช เป็นต้น เขาจึงเดินหน้าปรับเปลี่ยนอาคารพาณิชย์แห่งนี้ให้เป็นโรงแรม เพื่อหวังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวระดับ Upper-Middle ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์
โดยดำเนินการไม่ต่อสัญญากับผู้เช่าที่สัญญาสิ้นสุด และจ่ายเงินชดเชยในการบอกเลิกสัญญาที่ยังไม่หมดอายุ ก่อนจะทุ่มงบราว 200 ล้านบาท (เป็นการกู้มาจากธนาคารเกือบ 100 ล้านบาท) รีโนเวตหมู่อาคารพาณิชย์เหล่านี้ให้กลายเป็นโรงแรมบูทีคลักชัวรี ซึ่งทำการรีโนเวตตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา และใช้เวลา 12-13 เดือนในการปรับปรุงจนสามารถเริ่มให้บริการได้บางส่วนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563
สำหรับวิลล่า เดอ พระนคร โรงแรมขนาด 6 ชั้นที่นอกจากภายนอกอาคารจะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์วิคตอเรียแล้ว ภายในยังตกแต่งสไตล์ชิโนโปรตุกีส ผสมอารยธรรมไทย-จีน ในโรงแรมประกอบด้วยห้องพักและห้องสวีตจำนวน 47 ห้อง ขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 30 ตารางเมตร
โดยไฮไลต์คือห้องสวีตระดับลักชัวรีอย่าง มหาไชยสวีต และ พระนครสวีต ซึ่งตกแต่งด้วยวัสดุชั้นดีและของหายาก เช่น อ่างอาบน้ำที่ติดตั้งในห้องน้ำ เป็นอ่างอาบน้ำทองแดงแท้ที่ช่างฝรั่งเศสทำขึ้นให้กับชนชั้นสูง ก่อนจะถูกนำไปใช้ในโรงแรมที่อินเดีย เป็นต้น
วิลล่า เดอ พระนคร ยังเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานโรงแรมห้าดาว อาทิ ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สปา สระว่ายน้ำ และพูลบาร์ โดยดำเนินงานบริหารโดย “ยูนิคอร์น ฮอสพิทัลลิตี้” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานโรงแรมบูติคแนวสมัยใหม่
ขณะที่ราคาห้องพักเริ่มต้นของโรงแรมวิลล่า เดอ พระนคร ในช่วงเปิดตัวเริ่มต้นที่ 4,800-15,000 บาท และอาจขยับขึ้น 20-30% ภายใน 1-2 ปี โดยปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 1 ห้อง/วัน ทั้งนี้ นพ.ก่อเกียรติ ตั้งเป้าอัตราการเข้าพักในช่วง 6-12 เดือนแรกที่ 20% และคาดว่าหลังจากนั้นจะมีอัตราการเข้าพักที่ 60%
สำหรับสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่อยู่ในระดับวิกฤตและส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว คุณหมอก่อเกียรติให้ความเห็นว่า เชื่อว่าเมื่อถึงฤดูกาลที่สภาพแวดล้อมในจีนเปลี่ยน สถานการณ์นี้จะค่อยๆ ดีขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสให้ใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องการ โดยคาดว่าอีก 3 เดือนจึงจะสามารถให้บริการได้ 100%
“การเปิดโรงแรมอย่างเป็นทางการเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้พอดี แม้ไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเราบ้างโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้แผนงานของเรายืดออกไป”
ทั้งนี้ จากรายงาน Asia Travel & Hospitality Outlook 2020 ของ STR ระบุว่า ธุรกิจโรงแรมในเมืองทั่วภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 รวมถึงกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง โดย RevPAR ของโรงแรมในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ตกลงไปอยู่ที่ -6%
ในขณะที่รายงานมีการคาดการณ์ว่า หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป จะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2564-2566 ธุรกิจโรงแรมจะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยจะมีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาในเอเชียสูงถึงกว่า 90 ล้านคน
“เรามั่นใจในศักยภาพของกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลก และมั่นใจว่าธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวจะยังเติบโตได้หลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ นอกจากนั้น พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป มองหาที่พักที่เติมเต็มประสบการณ์มากกว่าแค่พักอาศัย จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของแบรนด์” นพ.ก่อเกียรติกล่าวทิ้งท้าย
- อ่านเพิ่มเติม ทุนสิงคโปร์เปิดโรงแรมหรู “คาร์ลตัน” แห่งแรกในไทย