มองกลับไปในปี 2546 เมื่อครั้งที่สถานีโทรทัศน์ Munhwa Broadcasting Corporation (MBC) เกาหลีใต้ออกอากาศละครชุดแดจังกึม และได้รับความนิยมจากผู้ชมในประเทศจนติดอันดับ 1 ใน 10 ละครชุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อีก 2 ปีต่อมาสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำละครชุดดังกล่าวมาเผยแพร่ภายในประเทศไทยและได้รับความนิยม อย่างล้นหลามทั้งในไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และทั่วโลก โดยส่งออกแดจังกึมไปแล้วถึง 91 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้จากลิขสิทธิ์ถึง 103.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ ที่ก่อให้เกิดกระแสความคลั่งไคล้วัฒนธรรมและนักแสดงเกาหลีในเวลาต่อมา
นอกจากละครชุดดังกล่าวแล้ว เกาหลีใต้ยังได้ผลิตละครชุดอีกหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับความนิยมจากหลายประเทศในเอเชีย อาทิ Full House, Autumn in My Heart, Coffee Prince และเรื่องล่าสุด Descendants of the Sun เมื่อต้นปี 2559 โดยละครชุดเหล่านี้ได้สร้างกระแส K-Drama อย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังใช้กระแสดังกล่าวเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ โดยมีการจัดทัวร์นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อตามรอยหลากละครเรื่องดังซึ่งการเยี่ยมฉากในการถ่ายทำละครได้จัดเข้าเป็นหนึ่งในการพาเที่ยวของทัวร์
จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวของ Korea Tourism Organization (KTO) หรือ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี เฉพาะปี 2546 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศเกาหลีใต้เป็นจำนวน 4.75 ล้านคน แต่หลังจากเกิดกระแสการเดินทางเพื่อตามรอยละครดังเกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 12.2 ล้านคน ในปี 2556 และหากนับมูลค่าของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นภายในประเทศปี 2558 มีมูลค่าถึง 1.52 แสนล้านเหรียญฯ
การเติบโตด้านท่องเที่ยวดังกล่าวมีรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยทางรัฐบาลได้ซื้อสถานที่ถ่ายทำละครแดจังกึม และจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งยังให้เงินสนับสนุนการผลิตผลงานที่น่าสนใจ จึงทำให้มีละครชุดที่น่าสนใจป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นส่วนผสมของ 2 กลยุทธ์ คือ การสร้างกระแส K-Drama ผ่านละครชุดจากเกาหลีใต้เพื่อเป็นกลไกหลัก ในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่สร้างกระแส K-POP เพื่อส่งออกศิลปะร่วมสมัยและสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ให้กับวงการดนตรีในเอเชีย โดยกลยุทธ์หลักทั้ง 2 นี้ได้สร้างกระแสไปทั่วโลก The Korean Wave คลื่นศิลปวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ได้ถูกปล่อยสู่หลากประเทศอย่างแนบเนียนและแยบยลยิ่งนัก นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
ด้วยกลยุทธ์และการวางแผนในการปล่อยกระแส The Korean Wave ผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น ทำให้ K-POP ได้แพร่หลายไปไกลทั่วเอเชียและข้ามทวีปไปยังแถบละตินอเมริกา จากผลสำรวจที่รวบรวมโดย Ministry of Culture, Sports and Tourism ของเกาหลีใต้ กระแส K-POP สามารถกอบโกยแฟนคลับจากทั่วมุมโลกกว่า 3.3 ล้านคน ในขณะที่ Korea Tourism Organization (KTO) เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจของกลุ่มแฟนคลับว่า 90% เป็นเพศหญิงยิ่งไปกว่านั้น กระแสดังกล่าวก่อให้เกิด3 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ K-POP ซึ่งมีการก่อร่างสร้างตัวในระยะเวลาใกล้เคียงกันโดย S.M. Entertainment ก่อตั้งในปี 2538 YG Entertainment ก่อตั้งในปี 2539 และ JYP Entertainment ในปี 2540 ทั้ง 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ต่างสร้างรายได้มหาศาลและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมกัน
ในปี 2555 ที่ 351.4 ล้านเหรียญ และ 445.7 ล้านเหรียญ ในปี 2556 และ 481.7 ล้านเหรียญ ในปี 2557 Yang Hyun Suk ผู้บริหาร YG Entertainment หนึ่งในยักษ์ใหญ่วงการดนตรีเกาหลีเล่าผ่าน Forbes Korea ถึงความโด่งดังของ K-POP ที่ได้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมว่า ในสมัยก่อนนั้น การเผยแพร่และการเข้าถึงดนตรียังมีข้อจำกัด โดยหากย้อนเวลาไปเมื่อ10 ปีก่อนนั้น ปรากฏการณ์ระดับโลกที่แจ้งเกิดศิลปินในสังกัด YG Entertainment อย่าง “PSY” เจ้าของบทเพลง “Gangnam Style” ที่สร้างสถิติยอดวิวสูงสุดตลอดกาล 2.6 พันล้านวิว ผ่าน YouTube ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน “ยุคดิจิทัลในเวลานี้ ทำให้ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ไม่มีผลใดๆ เลย” YangHyun Suk กล่าว
เขายังเสริมว่า YouTube คือการประชาสัมพันธ์ชั้นดีซึ่งสามารถสร้างฐานแฟนคลับไปยังทั่วโลก โดยล่าสุดจากการจัดอันดับ Forbes Celebrity 100 นั้น BIGBANG วงบอยแบนด์จากค่ายของเขาที่ตระเวนเปิดการแสดงสดไปทั่วมุมโลกติดอันดับและทำรายได้ในปี 2559 ได้ถึง 44 ล้านเหรียญ และติดลำดับที่ 54
หลังจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมโดยผ่านกลยุทธ์ The Korea Wave ในเดือนกรกฎาคม 2557 KTO ได้ เปิดแคมเปญใหม่ “Imagine Your Korea” เพื่อนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ K-Drama และ K-POP มาผนวกการประชาสัมพันธ์ร่วมกับ ศิลปะ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ อาทิ แฟชั่น รายการทีวีโชว์ เครื่องสำอาง และ อาหารประจำชาติเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมแนวคิดสร้างสรรค์เองมีส่วนในการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตโดยองค์รวม ซึ่งเมื่อรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศและการส่งออกเข้าไปด้วยในปี 2557 อุตสาหกรรมแนวคิดสร้างสรรค์ทำรายได้เป็นจำนวน 7.9 หมื่นล้านเหรียญ เติบโตจากปี 2556 ที่ 4.1% จากการเปิดเผยของ The Korea Creative Contents Agency หรือ KOCCA
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ร่วมกับ KTO เปิดตัวแคมเปญสำคัญ “Creative Korea” เมื่อต้นปี 2559 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาหลีในมุมมองใหม่ๆ อาทิการส่งออกเกมโชว์อย่าง Running Man ที่ใช้เกาะเชจูเป็นสถานที่ดำเนินรายการการเปิดตัว K-STYLE HUB ในกรุง Seoul เพื่อบริการนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมต่างๆ อาทิ ประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมอาหารศูนย์ข้อมูลทางการแพทย์ และโซนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเทศเกาหลีแบบง่ายๆ ผ่านการนำเสนอเครื่องมืออันทันสมัยและการนำดาราศิลปินจาก K-Drama และ K-POP มาเป็นพรีเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวเพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมในอุตสาหกรรมเชิงความคิดสร้างสรรค์ อาทิ ความยิ่งใหญ่ของ Dongdaemun Design Plaza (DDP) แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุง Seoul ที่ออกแบบโดยสถาปนิกผู้มีชื่อเสียง ในอาณาบริเวณ 85,000 ตารางเมตรใจกลางกรุง Seoul เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดสร้างสรรค์
Dongdaemun Design Plaza (DDP) แลนด์มาร์คใหม่ย่านเมียงดง
K-STYLE HUB
นอกจากแลนด์มาร์คใหม่ของ DDP ณ กรุง Seoul แล้ว เกาะเชจูเองได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดเช่นกัน โดยมีการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คสำคัญคือ Shin Hwa Theme Park บนพื้นที่ 283,280 ตารางเมตร โดยมี Jeju Free International City Development Center หรือ JDC เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างและใช้งบการพัฒนาถึง 114 ล้านเหรียญกำหนดแล้วเสร็จปี 2561 โดยหวังสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ให้กับเกาะเชจู โดยหมายดึงนักท่องเที่ยวและเสริมทัพเศรษฐกิจการจัดประชุม MICE ของเกาะเชจู ที่ปัจจุบันติดอันดับ 3 ของ MICE Destinations ของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีความสวยงามของเกาะเชจูที่ก่อกำเนิดจากภูเขาไฟซึ่งดับลงแล้วในอดีต เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO และได้รับคัดเลือกเป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติโลกยุคใหม่ ประกอบกับการลงทุนพัฒนาของภาครัฐและเอกชน และสิทธิ์ในการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องทำวีซ่าที่ช่วยเสริมทำให้ธุรกิจ MICE บนเกาะเชจูเจริญเติบโตรับการเดินทางของนักเดินทางเพื่อการประชุมธุรกิจ MICE บนเกาะเชจูเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยระหว่างปี 2541 - 2550 มีการ เติบโตกว่า 3,700%
Forbes Thailand ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ J CHO Marketing Director แห่ง Jeju MICE Organization ซึ่งได้เผยถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ MICE บนเกาะเชจูแห่งนี้ว่า มีข้อได้เปรียบจากการยกเลิกการทำวีซ่าเป็นหลัก อีกทั้งสภาพของเกาะล้อมรอบด้วยทะเลซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นของเกาหลีใต้ ทำให้ดึงดูดองค์กรได้มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นทางเรือสำราญ หรือผ่านสายการบินต่างๆ
“เราหวังว่าการพัฒนาบนเกาะเชจูในหลายๆ ด้านที่กำลังเกิดขึ้นจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE จากประเทศอื่นๆ ในเอเชียเข้ามาจัดการประชุมเพิ่มขึ้น โดยอยากให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับกลุ่มที่มาจากประเทศจีน” J CHO กล่าว
นอกจากตัวเลขที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ MICE แล้ว การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวยังเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของเกาะเชจู โดยปัจจุบันเชจูได้ยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มนักเดินทางที่ตั้งการพักผ่อนแบบหรูหราและกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่เกาะมีการเติบโตของจำนวนโรงแรมระดับ 5 ดาว อาทิโรงแรม Hyatt และโรงแรมจากผู้ประกอบการเกาหลีอย่างกลุ่มโรงแรม Lotte, Maison Glad Jeju ที่มีคาสิโนอยู่ร่วมด้วย และสนามกอล์ฟของเกาะเชจูแห่งนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่กลุ่มนักกอล์ฟต้องเข้าคิวล่วงหน้านับเดือนเพื่อมาสัมผัสความสวยงามของสนามกอล์ฟที่ให้บริการกว่า 30 แห่งทั่วเกาะ รวมถึงการล่องเรือยอชต์ซึ่งเป็นที่นิยมเช่นกัน
คลิกอ่านฉบับเต็ม "คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในคอนเซ็ปต์ “Creative Korea”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559
คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในคอนเซ็ปต์ “Creative Korea”
TAGGED ON