เอกชนเผย “กราดยิงพารากอน” กระทบท่องเที่ยวระยะสั้น ด้านภาครัฐเร่งยกระดับความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว - Forbes Thailand

เอกชนเผย “กราดยิงพารากอน” กระทบท่องเที่ยวระยะสั้น ด้านภาครัฐเร่งยกระดับความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

เหตุการณ์กราดยิงในห้างสยามพารากอนสร้างความตื่นตระหนกแก่สังคมเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจเอกชนและเหล่านักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์จะกระทบต่อเศษฐกิจและรายได้ท่องเที่ยวในระยะสั้น ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมยกระดับมาตรการความปลอดภัยเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ


    จากกรณีเหตุการณ์กราดยิงในห้างสยามพารากอน (วันที่ 3 ตุลาคม 2566) โดยคนร้ายเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน และชาวเมียนมาที่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวน 5 ราย 

    ล่าสุดกระแสข่าวดังกล่าวนอกจากจะที่เป็นกล่าวถึงจำนวนมากในไทยแล้ว ยังขึ้นติดเทรนด์อันดับ 5 ผ่านสื่อโซเชียลของจีน อย่าง “เว่ยป๋อ” ด้วย จึงเป็นผลให้หลายฝ่ายต่างกังวลถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น หลังจากรัฐบาลเพิ่งออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว “ฟรีวีซ่า” ให้แก่เหล่านักท่องเที่ยวจีนได้เพียง 1 สัปดาห์ 


    ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกู้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วนโดยมี 3 ประเด็กหลัก ได้แก่ 

1. เร่งเยียวยาผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว 

2. เร่งยกระดับความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั้งแหล่งท่องเที่ยวแมนเมด และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 

3. การส่งเสริมให้นำวิชาศีลธรรม กลับมาในหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อทำให้เด็กมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น



    ขณะที่ บล.ยูโอบี ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในห้างดังใจกลางเมืองกรุงเทพ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้นเหล่านักลงทุนควรระวังความเสี่ยงในระยะสั้นนี้ด้วย ส่วนระยะกลาง-ยาว ทางยูโอบียังคงมองบวกที่สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ภายใน 5-6 เดือน เห็นได้จากตัวเลขในอดีต ปี 2558 เหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ใช้เวลาฟื้นตัวราวๆ 4 เดือน ขณะที่ปี 2561 อุบัติเหตุเรือชนกันที่ภูเก็ตใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 5 เดือน

    ด้าน บล.กสิกรไทย ได้ประเมินเหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มขนส่งในระยะสั้น ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยภาพรวมคาดการณ์ยังขยายตัวได้ ตามประมาณการที่ 27 ล้านคนในปีนี้ เนื่องจากตัวเลข 9 เดือนแรกของปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 20 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.2 ล้านคน และ 41 ล้านคนในปีหน้า 


    อย่างไรก็ตาม ทางนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ เร่งหามาตารการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกับทางเอกอัครราชทูตของจีนและลาวประจำประเทศไทยเพื่อแสดงความเสียใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนับจากนี้รัฐบาลไทยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุดเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทุกคน 

ซึ่งในส่วนของ SMS Alert ที่สังคมในโซเชียลอยากให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการนั้น ได้มีการพูดคุยกับ ประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าระบบดังกล่าวไม่ใช่แค่การเตือนภัยผ่าน SMS เพียงอย่างเดียว แต่มันจะต้องลิงก์เป็นระบบทั้งหมด เพื่อให้การกระจายข่าวสู่พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

    และสำหรับ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยว่า ขณะที่ทาง ททท. ได้เร่งดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่

1. มาตรการด้านความปลอดภัย ที่ต้องยกระดับในทุกพื้นที่ เพื่อนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ

2. มาตรการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

3. มาตรการสื่อสารภาครัฐและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของการสื่อสารภาครัฐเองได้แบ่งเป็น 3 ระยะ สั้น กลางและยาว ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น



อ่านเพิ่มเติม : KKP วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ยังไม่ตรงจุด ทุ่มเงินกระตุ้นระยะสั้น อาจเป็นปัญหาระยะยาว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine