‘สิงห์ เอสเตท’ ปิดดีลขายที่ดินให้ ‘ยูนิเทค พีซีบี’ สร้างโรงงานในนิคมฯ เอส อ่างทอง ปักธงสู่แลนด์มาร์กผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ระดับโลก - Forbes Thailand

‘สิงห์ เอสเตท’ ปิดดีลขายที่ดินให้ ‘ยูนิเทค พีซีบี’ สร้างโรงงานในนิคมฯ เอส อ่างทอง ปักธงสู่แลนด์มาร์กผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ระดับโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Sep 2024 | 12:25 PM
READ 984

สิงห์ เอสเตท ปิดดีลสำคัญกับ ยูนิเทค พีซีบี ผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ HDI ชั้นนำระดับโลก เซ็นสัญญาซื้อขายที่นิคมอุตสาหกรรม ปักธงนิคมฯ เอส อ่างทอง แลนด์มาร์กโรงงานผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ระดับโลก


    ภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับ ผิง-เจ่า จาง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ยูนิเทค พีซีบี (ไทยแลนด์) จำกัด ในพิธีวางศิลาฤกษ์ บริษัท ยูนิเทค พีซีบี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ณ นิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง บนพื้นที่ 56 ไร่ เพื่อเป็นฐานในการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ส่งออกไปทั่วโลก

    ทั้งนี้ ได้มีการประกาศการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดิน ไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย ระหว่างบริษัท เอส อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทในเครือ สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ยูนิเทค พีซีบี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ HDI ชั้นนำระดับโลก จำนวน 56 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเอส อ่างทอง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

    นับเป็นการลงทุนจากต่างประเทศครั้งสำคัญ ที่สะท้อนถึงศักยภาพในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ และความมีมาตรฐานในการจัดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคและการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ของสิงห์ เอสเตท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่

    นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก และดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์และดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใน ecosystem ต่อไป


    ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมเอส อ่างทอง ในฐานะโครงการแรกของสิงห์ เอสเตท ในกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง ยูนิเทค พีซีบี บริษัทผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์อันดับต้นของโลก ให้ความไว้วางใจ ในการตั้งโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์แห่งใหม่

    “ซึ่งนิคมฯ เอส อ่างทอง มีทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์ เพียบพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคที่มั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมนี้สามารถรองรับฐานการผลิตให้กับลูกค้าได้อย่างครบถ้วนในการขยายธุรกิจให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลกต่อไป”

    ฐิติมากล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB และ PCBA) ในประเทศไทยขยายตัวขึ้น ด้วยปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศที่มีเสถียรภาพ รวมไปถึงทิศทางความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของโลก และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งศักยภาพของประเทศไทย ทำให้มีบริษัทต่างๆ เริ่มเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

    การซื้อที่ดินในทำเลศักยภาพที่นิคมฯ เอส อ่างทอง ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย ในการดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่จากประเทศต่างๆ สิงห์ เอสเตท มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่อันดับต้นของโลก สร้างรายได้ให้กับชุมชน และสังคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เติบโต ตามวิชั่นในการดำเนินธุรกิจ ENTRUSTED AND VALUE ENRICHER ของสิงห์เอสเตท ที่มุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน พร้อมทั้งรักษาความสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป”

    กำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด กล่าวว่า “นิคมฯ เอส อ่างทอง ขอขอบคุณ ยูนิเทค พีซีบี บริษัทผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์อันดับต้นของโลก ที่มองเห็นศักยภาพของนิคมฯ เอส อ่างทอง ในการลงทุนด้านพื้นที่เพื่อประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันความพร้อม และความสามารถของเราในการเป็นแหล่งผลิต ด้วยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก

    “โดยเอส อ่างทอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบ ด้วยพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง ลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยคาร์บอน ที่พร้อมรองรับการผลิตที่ต้องการมาตรฐานระดับโลก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 403 เมกะวัตต์ พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้า 22 KV และ 115 KV ที่สามารถรองรับผู้ประกอบการที่มีความต้องการไฟฟ้าในปริมาณมากและมีเสถียรภาพสูง

    “นอกจากนี้ น้ำประปาที่มีคุณภาพสูง สะอาด ด้วยระบบอัลตร้าฟิลเทรชั่น ซึ่งสามารถผลิตน้ำได้ถึง 10,000ลูกบาศก์เมตรต่อวัน, ระบบบำบัดน้ำเสียสามารถรองรับและบริหาร จัดการน้ำเสียได้ 6,610.9 ลบ.ม./วัน และบ่อพักน้ำทิ้งขนาดใหญ่จำนวน 2 บ่อ พื้นที่รวมกว่า 13,000 ลูกบาศก์เมตร ระบบบริหารจัดการกากตะกอนที่ได้ตามมาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม

    “รวมถึงระบบเครือข่ายโทรคมนาคม 5G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการ ระบบดับเพลิงนิคมฯ จัดให้มีระบบหัวดับเพลิงในทุกพื้นที่รอบนิคมฯ อีกทั้งประสานงานและเตรียมความพร้อมร่วมกับสถานีดับเพลิงของ อำเภอไชโย ในการฝึกซ้อมและดูแลความปลอดภัย และที่สำคัญคือ มีแรงงานจำนวนมาก รองรับการความต้องการของผู้ประกอบการ”

    ด้าน ลอว์เรนซ์ จาง ประธาน บริษัท ยูนิเทค พีซีบี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “ทางยูนิเทค พีซีบี รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอส อ่างทอง เพื่อจัดตั้งโรงงานแผ่นวงจรพิมพ์แห่งแรก ในประเทศไทย ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการขยายบริษัทของเราอย่างแท้จริง หลังจากที่ศึกษาและคัดเลือกสถานที่ตั้งอย่างละเอียด จนได้เลือกที่นิคม เอส อ่างทอง ที่เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ด้วยความพร้อมเป็นอย่างยิ่งทางด้านกายภาพ มีมาตรฐานที่ถูกต้องสำหรับการประกอบกิจการ

    "นอกจากนี้สถานที่ตั้งยังเดินทางสะดวก ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้สะดวกในการขนส่งสินค้า ซึ่งมีความคุ้มทุนในการประกอบกิจการในระยะยาว ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราเลือกเอส อ่างทองในการจัดตั้งโรงงานของเรา และเรามั่นใจว่าการลงนามในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายใหญ่ในการเตรียมพร้อมที่จะส่งออกบอร์ดวงจรพิมพ์คุณภาพสูงไปยังตลาดโลกได้เป็นอย่างดี”

    โครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต.ไชยภูมิ อ. ไชโย จ.อ่างทอง บนถนนเขตทางหลักรวมเขตทางกว้าง 35 เมตรรวมถึงทางเดินเท้า ที่ส่งให้ระบบการขนส่งสินค้าเป็นไปได้ด้วยความง่ายและสะดวกสบาย รวมถึงการเดินทางที่สะดวก



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีโอไอไฟเขียว “เวสเทิร์น ดิจิตอล” ลงทุนเพิ่มกว่า 23,000 ล้านบาท ขยายฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ครั้งใหญ่ รองรับคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine