‘ภูเก็ต’ ครองแชมป์ตลาดอสังหาฯ เพื่อการพักผ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลาด Branded Residences มูลค่าสูงกว่า 2.3 พันล้านเหรียญ - Forbes Thailand

‘ภูเก็ต’ ครองแชมป์ตลาดอสังหาฯ เพื่อการพักผ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลาด Branded Residences มูลค่าสูงกว่า 2.3 พันล้านเหรียญ

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Apr 2024 | 01:15 PM
READ 2631

ปรากฏการณ์น่าจับตามองกำลังเกิดขึ้นบนเกาะภูเก็ต เมื่อนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาจับจองอสังหาริมทรัพย์บนเกาะ จนทำให้ภูเก็ตกลายเป็นตลาด Branded Residences ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปัจจุบันมูลค่ารวมของโครงการเหล่านี้ทะลุ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง


    ข้อมูลจาก C9 Hotelworks กลุ่มที่ปรึกษาโรงแรมชั้นนำ ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว ประกอบกับความมั่นใจในศักยภาพของภูเก็ต ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงการ Branded Residences ระดับหรูมากมายบนเกาะ

    การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของภูเก็ตจากเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสู่การเป็นยักษ์ใหญ่วงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องราวที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นผ่านเส้นกั้นบางๆ ระหว่างธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์


    ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ บริษัท ลากูน่า ภูเก็ต ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของภูเก็ต ที่ได้ปรับกลยุทธ์จากเน้นธุรกิจโรงแรมมาสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ดังต้นปีที่ผ่านมา

    รวมไปถึง บริษัท บันยันทรี กรุ๊ป (Banyan Tree Group) ทุ่มเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบรนด์หรู บนพื้นที่ดินข้างเคียง ลากูน่า ภูเก็ต ซึ่งโครงการนี้นำเสนอวิถีชีวิตทันสมัย สะท้อนกลยุทธ์ระยะยาวของ เคพี โฮ (KP Ho) ผู้นำด้านการท่องเที่ยวชื่อดังชาวสิงคโปร์ ที่เปลี่ยนจากเน้นการบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์บันยันทรีมาสู่กลยุทธ์แบบหลากหลายแบรนด์ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนชื่อเครือโรงแรมและมุ่งเน้นการเติบโตผ่านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

    บิลล์ บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้บริหาร C9 Hotelworks ผู้ติดตามการเปลี่ยนแปลงความสนใจของนักลงทุนจากธุรกิจโรงแรมไปสู่โครงการอเนกประสงค์ (Mixed-use) อธิบายว่า “หลังจากผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาด เราได้เห็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยจำนวนมากกลับมาลงทุนในภูเก็ตอีกครั้ง แรงผลักดันหลักมาจากการฟื้นตัวของตลาดรีสอร์ตและการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก

บิลล์ บาร์เน็ตต์


    “นอกจากนี้ แรงจูงใจอีกประการสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากกลุ่มผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ระดับบน ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ต้องการย้ายมาพำนักบนเกาะภูเก็ต หรือเชื่อมั่นว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ดังเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย"

    แบรนด์ดังที่เข้ามาล่าสุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต มีตั้งแต่ เดอะ “สแตนดาร์ด” (The Standard) ในพื้นที่หาดบางเทา ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตในปีที่ผ่านมา ขณะที่ “แสนสิริ” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากกรุงเทพฯ ก็ได้ประกาศแผนการลงทุนในภูเก็ตเช่นกัน รวมไปถึงการเปิดตัว การ์เดนส์ ออฟ เอเดน (Gardens of Eden) บนพื้นที่ติดทะเลกว่า 73 ไร่ โครงการอสังหาริมทรัพย์สีเขียวที่ได้รับทุนจากดูไบ

    ในปี 2566 ตลาดการท่องเที่ยวภูเก็ตมีการปรับราคาห้องพักสูงขึ้น ส่งผลให้เจ้าของโรงแรมส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ข้อมูลผลประกอบการโรงแรมทั่วทั้งตลาดจาก STR เมื่อเทียบกับปี 2561 และ 2562 ซึ่งเป็นปีทองของการท่องเที่ยว พบว่า อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยสูงขึ้น 20-30%

    บิลล์ ยังกล่าวอีกว่า เสถียรภาพการซื้อขายโรงแรมในภูเก็ตกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากธนาคารไทยชะลอการปล่อยสินเชื่อในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็ได้กลับมาปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการโรงแรมใหม่ (greenfield projects) อีกครั้ง สาเหตุหลักมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตมีการซื้อขายอย่างคึกคักและราคาค่าเช่าพุ่งสูงขึ้น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงหันมาผสมผสานธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์โดยหวังว่าการใช้แบรนด์ดังจะช่วยเพิ่มมูลค่าการขายได้


    อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาโครงการโรงแรม คือราคาที่ดินทั่วเกาะที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้นักพัฒนาฯ ต้องปรับกลยุทธ์ หันมาผสมผสานธุรกิจโรงแรมเข้ากับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย ตัวอย่างเช่น การนำแบรนด์โรงแรมชื่อดังมาบริหารควบคู่กับการขายที่พักสำหรับอยู่อาศัย

    นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตหลังโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานทั่วโลก บิลล์ มองว่า เทรนด์การย้ายถิ่นฐานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ประกอบกับแนวโน้มวิถีการทำงานแบบ work-from-anywhere และสังคมผู้สูงอายุที่เกษียณอายุเร็วขึ้นหรือเลือกใช้ชีวิตในสถานที่พักผ่อน ยิ่งส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้น

    ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย เช่น การยกเว้นวีซ่า โปรแกรมวีซ่าระยะยาว และโปรแกรม Thailand Elite ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนและผู้มองหาที่อยู่อาศัย

    งานวิจัยของ C9 Hotelworks ยังชี้ให้เห็นปัจจัยสำคัญอีกประการ คือจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นในภูเก็ต โดยปัจจุบันมีอยู่ 13 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    บิลล์มองว่าการเปลี่ยนแปลงของภูเก็ตไม่ได้เกิดจากตัวเกาะเอง แต่เป็นผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์โลกประกอบกับความดึงดูดใจที่เพิ่มขึ้นของภูเก็ตในฐานะชุมชนนานาชาติ ความนิยมในโครงการที่พักแบรนด์สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้ซื้ออย่างชัดเจน

    โดยคาดว่าในอนาคต นอกจากจะมีแบรนด์โรงแรมเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังจะมีแบรนด์นอกเหนือวงการโรงแรมเข้ามาผสมผสานด้วย เช่น แบรนด์แฟชั่น แบรนด์รถยนต์ และแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ด้วยปริมาณโครงการที่พักแบรนด์ระดับรีสอร์ตที่พุ่งสูง ภูเก็ตได้กลายเป็นตลาดระดับพันล้านเหรียญเทียบเคียงกับเมืองท่องเที่ยวระดับแนวหน้าอย่างไมอามีและดูไบ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ภูเก็ตฮอต! ‘ออริจิ้น’ กวาดยอดขาย ‘โซ ออริจิ้น บางเทา บีช’ ทะลุกว่า 70% ทั้งปีจ่อเปิดบ้าน-คอนโดใหม่ทั่วไทยอีก 33 โครงการ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine