เอพีแตกไลน์ '3 ธุรกิจใหม่' กลุ่มการศึกษาเปิดหลักสูตรพัฒนาตนเอง YourNextU เทคโนโลยีบริการหลังการขาย Katsan ดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน และ Homewiser ตัวช่วยบำรุงรักษา-ซ่อมแซมบ้าน ลงทุนรวม 660 ล้านบาท หวังภายใน 3 ปี ทำรายได้รวมกันแตะ 3.3 พันล้าน
วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากแผนงานของบริษัทที่มีการแตกไลน์ ธุรกิจใหม่ นอกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามวิสัยทัศน์ AP WORLD, A New Vision of Quality of Life บริษัทมีการลงทุนแล้ว 660 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว 3 ธุรกิจแรกที่จะเป็นการดิสรัปองค์กร ได้แก่
- Katsan เทคโนโลยีบริหารความปลอดภัยในโครงการจัดสรร
- Homewiser แอพพลิเคชั่นบำรุงรักษาและซ่อมแซมบ้าน
- YourNextU หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองสำหรับนำไปใช้ในชีวิตและการทำงานยุคใหม่
วิทการกล่าวว่า ทั้ง 3 ธุรกิจใหม่ได้เริ่มให้บริการแล้ว และหวังว่าจะสามารถทำรายได้รวมทั้ง 3 ธุรกิจ สะสม 3.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2562-64 โดยมี YourNextU เป็นหัวหอกสำคัญในกลุ่มที่จะทำรายได้ได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ บริการ Katsan และ Homewiser จะดำเนินงานโดยบริษัทลูกคือ เคลย์มอร์ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ขณะที่หลักสูตร YourNextU จะบริหารโดยบริษัท เอสอีเอซี (SEAC) ซึ่งเอพี ไทยแลนด์เข้าไปถือหุ้นราว 95-98% ตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน
ธุรกิจใหม่ YourNextU เจาะคนทำงานพัฒนาทักษะแบบ Live-Long Learning
สำหรับหลักสูตร YourNextU นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หรือ SEAC กล่าวว่า จะเป็นหลักสูตรการเรียนทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน เหมาะกับพนักงานออฟฟิศและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นหลักสูตรจากสถาบันการศึกษาระดับโลก เช่น Outward Mindset จาก The Arbinger Institute, Design Thinking จากมหาวิทยาลัย Standford, Self-Leadership จาก The Ken Blanchard Companies เป็นต้น
โดยหลักสูตรจะมีให้เรียนทั้งบนระบบออนไลน์ เปิดคลาสเรียนให้ได้อบรมกับวิทยากรแบบตัวต่อตัว และกิจกรรมพบปะกับเพื่อนๆ ร่วมคลาส และมีใบประกาศนียบัตรรับรองให้ ทั้งหมดกว่า 300 หลักสูตรของ YourNextU เปิดเรียนแบบบุฟเฟต์ สมัครสมาชิก 12 เดือน ราคา 12,000 บาท สามารถเรียนหลักสูตรใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
“โจทย์คือคนทำงานต้อง re-skill บ่อยขึ้นในอนาคต ยุคนี้ทักษะเดิมที่เรามีมันจะอยู่กับเราแค่ 2-3 ปีเท่านั้นแล้วเราก็ต้อง update ใหม่ การเรียนไม่ได้หยุดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป” นิภัทรากล่าว
หลักสูตร YourNextU เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 3,000 ราย แบ่ง 50% เป็นลูกค้าองค์กรที่เปิดให้พนักงานมาเรียนราว 20 บริษัท อีก 50% เป็นลูกค้าทั่วไปที่สมัครด้วยตนเอง นิภัทราตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงดูดผู้เรียนหลักสูตรนี้ได้ราว 80,000 คน
Katsan บริการ รปภ. อัจฉริยะ
วิทการกล่าวต่อว่า อีก 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบริการหลังขาย สำหรับ Katsan เป็นแพลตฟอร์มเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในโครงการจัดสรร โดยเฉพาะในโครงการแนวราบที่มีปัญหาสำคัญคือการเข้า-ออกของบุคคลภายนอก
“Katsan มาจากที่เราพูดคุยกับลูกบ้าน เขามองว่าการติด CCTV หรือมี รปภ.มากแค่ไหนก็อาจจะเกิดความหละหลวมได้” วิทการกล่าว
เพื่อแก้ปัญหานี้ แพลตฟอร์ม Katsan จะเป็นระบบดูแลพาหนะเข้าออกโดยใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ ทะเบียนรถของลูกบ้านจะสามารถเข้า-ออกได้อิสระ แต่หากเป็นทะเบียนรถแปลกปลอม เช่น แขกของลูกบ้าน รถส่งของ จะต้องได้รับอนุญาตให้เข้า-ออกจากลูกบ้านหลังนั้นๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกตรวจตราจากหน่วยรักษาความปลอดภัยและนิติบุคคลด้วย
“สมมติว่าลูกบ้านเรียกรถแท็กซี่เข้ามารับที่บ้าน ก็สามารถกรอกทะเบียนรถที่เรียกลงในแอพฯ ได้ และจำกัดช่วงเวลาให้แท็กซี่คันนั้นเข้าออกได้ในวันและเวลากี่โมง หากแท็กซี่มานอกช่วงเวลาที่กรอกไว้ก็จะเข้าหมู่บ้านไม่ได้อีก หรือถ้ามีรถส่งของเข้าไปในหมู่บ้านนานผิดปกติจะมีสัญญาณเตือนให้ รปภ.ติดตามดูแลว่ารถคันนั้นไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร เพื่อป้องกันเหตุจารกรรม” วิทการอธิบายหลักการทำงาน
นอกจากนี้ ลูกบ้านจะสามารถตรวจสอบทะเบียนรถในหมู่บ้านได้ทั้งหมด เป็นประโยชน์มากกับหมู่บ้านแบบทาวน์เฮาส์ซึ่งอาจจะมีรถจอดขวางประตูบ้านแต่หาเจ้าของไม่พบ
ระบบ Katsan ใช้งบติดตั้ง 2-3 แสนบาทซึ่งเอพีได้ทดลองในหมู่บ้านของบริษัทไปแล้ว 10 โครงการ รวมลูกบ้านประมาณ 2,000 ยูนิต และจะทยอยติดตั้งเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการแนวราบแห่งใหม่ของเอพีต่อจากนี้จะมีระบบ Katsan ทั้งหมด และยังเปิดให้โครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้พัฒนาโดยเอพีสามารถติดต่อเพื่อขอใช้ระบบได้เช่นกัน
แอพฯ ตรวจบำรุงบ้าน Homewiser
ด้านแอพพลิเคชั่น Homewiser เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยบำรุงรักษาบ้านเชิงป้องกัน “นึกถึงคนหรือรถยนต์ ต้องมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่บ้านกลับไม่ค่อยมีการตรวจ อาจจะเพราะเราไม่มั่นใจให้คนแปลกหน้าเข้ามาตรวจในบ้านเรา” วิทการกล่าว
แอพฯ นี้จะเป็นการทำ check list วงรอบในการตรวจส่วนต่างๆ ของบ้านประจำปี เช่น ท่อ ฝ้า กระเบื้องปูพื้น ตู้ไฟ ปั๊มน้ำ และมีช่างเข้าไปตรวจดูแลให้ ถ้าหากมีความเสียหายจะแก้ไขได้ทันท่วงที
วิทการกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ใช้ทดลองใช้แล้วกว่า 100 ราย บริการนี้สามารถใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นลูกบ้านเอพีหรือไม่ ส่วนโมเดลทางธุรกิจยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นการคิดค่าสมาชิกเหมารายปี หรือคิดเป็นรายครั้ง
“เรามีทีมงานดูเรื่องนวัตกรรม มีการศึกษาอยู่ตลอดว่าจะมีอะไรได้อีกในกรอบของ Quality of Life เช่น ตอนนี้เรากำลังศึกษาเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกาย” วิทการกล่าว “ปี 2562-63 รายได้จากธุรกิจใหม่คงยังไม่มีสัดส่วนมากนักในรายได้รวม ยังอยู่ในช่วงติดตามผลว่าจะเป็นอย่างไร คิดว่า 5 ปีจากนี้ถึงจะเริ่มเห็นผลของธุรกิจแห่งอนาคตเหล่านี้”