โบรกเกอร์ ‘ลิสต์ ซอเธอบี้ส์’ จับจังหวะซัพพลายอสังหาฯ ระดับบนล้นตลาดเปิดสาขาในไทย - Forbes Thailand

โบรกเกอร์ ‘ลิสต์ ซอเธอบี้ส์’ จับจังหวะซัพพลายอสังหาฯ ระดับบนล้นตลาดเปิดสาขาในไทย

ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ นายหน้าซื้อขายเช่าอสังหาฯ บุกเปิดสาขาในไทย วางแผนเจาะตลาดอสังหาฯ ระดับกลางบนจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี ชูจุดแข็งแบรนด์เก่าแก่ 270 ปีจากสหรัฐฯ และเครือข่ายผู้ซื้อจาก 72 ประเทศทั่วโลก ดึง ‘ชัญญา แซ่เตีย’ นั่งตำแหน่งซีโอโอ เชื่อมโยงสารพัดดีเวลอปเปอร์ไทย

Michael Valdes รองประธาน Sotheby’s International Realty เปิดเผยว่า Sotheby’s ซึ่งเป็นโรงประมูลที่ก่อตั้งขึ้นใน New York ตั้งแต่ปี 1744 ได้ขยายมาสู่ธุรกิจนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในปี 1976 และปัจจุบันได้ขยายสาขาไป 72 ประเทศทั่วโลกในลักษณะแฟรนไชส์ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ Sotheby’s ได้ให้แฟรนไชส์แก่ List Group ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้บริหาร Hirashi Kitami ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ List Sotheby’s International Realty ผู้บริหารแฟรนไชส์กล่าวว่า List Sotheby’s มีสำนักงานใหญ่ที่เมือง Yokohama ประเทศญี่ปุ่น เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1991 ก่อนจะเริ่มขยายไปในประเทศอื่นๆ ในปี 2010 ปัจจุบันมีฐานตลาดในญี่ปุ่น ฮาวาย ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นประเทศที่ 6 ที่บริษัทตัดสินใจเข้ามาตั้งสาขา ส่วนปีหน้านั้นบริษัทจะขยายไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย “เราเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพราะมองว่าไทยกับญี่ปุ่นมีสัมพันธ์อันดีมานานทำให้การลงทุนทำได้ง่าย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็กำลังอยู่ในช่วงเติบโตดี รวมถึงประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนของภาคการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่แล้วโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงมองว่าอนาคตหากจะมีการ synergy กันระหว่างบริษัทก็มีความเป็นไปได้มากกว่าประเทศอื่น” Kitami กล่าว
(จากซ้าย) Michael Valdes, Hirashi Kitami และ Quang Do
โดยการเข้ามาก่อตั้งบริษัทในไทยนั้น List Sotheby’s มีการร่วมทุนกับ Quang Do นักธุรกิจชาวเวียดนามที่มีฐานธุรกิจในไทย ก่อตั้งเป็น บริษัท ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียลตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท “คนไทยมีรสนิยมที่ดีขึ้นมาก เทรนด์อสังหาฯ ในไทยมีการตกแต่งอย่างสวยงามขึ้นซึ่งจะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูงได้” Quang Do กรรมการบริหาร ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) กล่าว  

เจาะอสังหาฯ ลักชัวรีห้องละ 10 ล้านบาท

สำหรับการบริหารในไทยนั้น ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) ดึงมือบริหาร ชัญญา แซ่เตีย นั่งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ชัญญาเป็นผู้บริหารที่ทำงานในวงการอสังหาฯ ไทย 23 ปี เคยร่วมงานกับบริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด, กลุ่มทีซีซี ของตระกูลสิริวัฒนภักดี, บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โบรกเกอร์ในเครือแสนสิริ, บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน), บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) และล่าสุดเธอคือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จากประสบการณ์ทำงานทั้งหมดทำให้ชัญญามีศักยภาพและสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับนักพัฒนาจัดสรรในไทย ชัญญากล่าวว่า การดำเนินงานของ ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนธุรกิจซื้อขายปล่อยเช่าอสังหาฯ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 50% และอีกส่วนคือ ธุรกิจที่ปรึกษาโครงการ 50% โดยบริษัทจะเน้นเฉพาะอสังหาฯ ระดับกลางบนจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี ได้แก่ คอนโดมิเนียมระดับกลางบนราคา 1.2-2 แสนบาทต่อตร.ม. ระดับลักชัวรีราคา 2-3 แสนบาทต่อตร.ม. และระดับซูเปอร์ลักชัวรีราคา 3 แสนบาทต่อตร.ม. หรือราคาต่อยูนิตจะเฉลี่ยที่ 10 ล้านบาทต่อยูนิต เน้นการขายห้องชุด 2 ห้องนอน เพ้นท์เฮาส์ และ 1 ห้องนอนขนาดใหญ่เป็นหลัก เพื่อจับกลุ่มลูกค้าบุคคลความมั่งคั่งสูงที่ต้องการซื้ออสังหาฯ สำหรับอยู่อาศัยเอง ชัญญาแจกแจงว่า ในปีแรกนี้หวังลูกค้าคนไทย 70% และต่างชาติ 30% ได้แก่กลุ่มชาวญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และสแกนดิเนเวีย ขณะที่ปี 2019 คาดว่าลูกค้าต่างชาติจะเริ่มเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% เนื่องจากบริษัทวางแผนจะเปิดตลาดเพิ่มใน จ.ภูเก็ต เกาะสมุย และจ.เชียงใหม่ อันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต่างชาติให้ความสนใจ  

ดันพอร์ตขายในมือถึง 6 พันล้านใน 2 ปี

ด้านพอร์ตอสังหาฯ ในมือและเป้ารายได้ ชัญญากล่าวว่า ขณะนี้ ลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) มีพอร์ตอสังหาฯ ขายที่รับเป็นโบรกเกอร์จำหน่ายแล้ว 200 ล้านบาทจากดีเวลอปเปอร์ 5-6 ราย ได้แก่ แสนสิริ, เนอวานา, พฤกษา, เอสซี แอสเสท และอีสเทอร์น สตาร์ และวางเป้าว่าจะเพิ่มพอร์ตเป็น 600 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่เป้าปี 2019 จะเพิ่มพอร์ตขายเป็น 2.7 พันล้าน และ 6 พันล้านภายในปี 2020
ชัญญา แซ่เตีย
พอร์ตสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ประกอบกับธุรกิจที่ปรึกษาโครงการทั้งงานขายและการช่วยบริหารโครงการครบวงจร จะทำให้รายได้ของลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) เพิ่มขึ้นตาม จากปีนี้วางเป้ารายได้ 18 ล้านบาท ปี 2019 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 82 ล้านบาท และ 182 ล้านบาทในปี 2020 “เมื่อปีก่อนในตลาดมีสต๊อกคอนโดฯ ระหว่างสร้างเหลือขายกว่า 2 หมื่นยูนิต ซึ่ง 10% ของจำนวนนี้เป็นสินค้าระดับบน ถือว่าเป็นจำนวนที่เหลือมากกว่าปกติ เป็นจังหวะโอกาสที่ดีของเอเย่นต์อย่างเราที่จะได้เข้ามาช่วยทำการขาย และคอนโดฯ ของไทยก็เป็นที่สนใจของต่างชาติอยู่แล้วด้วยราคาที่ถูกกว่ามากหากเทียบกับฮ่องกงหรือเมืองใหญ่ในจีน ทั้งยังตกแต่งอย่างเต็มที่ ใช้ดีไซเนอร์จากต่างประเทศ” ชัญญาเสริมด้วยว่า สำหรับลิสต์ ซอเธอบี้ส์ฯ (ประเทศไทย) ยังมีจุดเด่นที่แบรนด์ที่แข็งแกร่ง และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ซื้อและอสังหาฯ ที่เปิดขายได้ 72 ประเทศทั่วโลกผ่านระบบไอที ทำให้มีโอกาสการขายที่มากกว่า รวมถึงการจับกลุ่มระดับบนเท่านั้นทำให้บริษัทให้บริการได้เหมาะสมกับลูกค้า