เอสซีจี เซรามิกส์ เจอพิษเศรษฐกิจ ฉุดรายได้วูบ - Forbes Thailand

เอสซีจี เซรามิกส์ เจอพิษเศรษฐกิจ ฉุดรายได้วูบ

ตลาดรวมเซรามิกกว่า 3 หมื่นล้านบาทหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน และภัยแล้งฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค ส่งผลกระทบรายได้ เอสซีจี เซรามิกส์ ปรับโครงสร้างเลย์ออฟพนักงาน พร้อมเดินหน้ารุกขยายสาขา ภายใต้โมเดล “คลัง เซรามิค แฟมิลี่”

นำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเบื้อง ภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดเซรามิกในประเทศ มูลค่า 3-3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่มีการเติบโตและติดลบเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ปัญหาภัยแล้งและหนี้ครัวเรือน ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Loan to Value - LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัว

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาส 4 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 2.55 พันล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 7% จากไตรมาสก่อน โดยมีผลขาดทุน 70 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่ออกจากงานตามแผนปรับโครงสร้างองค์กร จำนวน 150 คน เป็นจำนวนเงิน 85 ล้านบาท และหากหักค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรในไตรมาส 4  ซึ่งจากการควบรวม 5 บริษัทย่อยในปีที่ผ่านมา ทำให้มีพนักงานออกตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรรวม 450 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10-15% ของพนักงานทั้งหมด 3,700 คน

ส่วนผลประกอบการโดยรวมของปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 1.11 หมื่นล้านบาท ลดลง 4% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 158 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ประกอบกับสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร การขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย และมีกำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแคเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน

ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการส่งออก 1,946 ล้านบาท ลดลง 23% ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลกระทบต่อยอดขายกระเบื้องเซรามิกในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตได้ในประเทศเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังประเทศดังกล่าวมากขึ้น

 

ตลาดเซรามิกปีนี้ยังชะลอตัว

นำพลยังคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตลาดเซรามิกว่า ในปีนี้ธุรกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังจากมาตรการของภาครัฐที่มุ่งช่วยผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% มาตรการสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท การคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ใน 3 ปีแรก และการผ่อนปรนมาตรการ LTV ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

“หากตลาดเซรามิกโดยรวมยังทรงตัว เราคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3-5% แต่หากติดลบ เราก็ต้องพยายามรักษาผลกำไร ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” นำพลกล่าวถึงกลยุทธ์ที่วางไว้ในปีนี้ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและตลาดการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทยังวางแผนเร่งขยายสาขา “คลังเซรามิค” ร้านค้าปลีกจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกสำหรับตลาดระดับกลางลงมา ให้ครอบคลุมพื้นที่และความต้องการของลูกค้า โดยใช้โมเดลใหม่ “คลังเซรามิค แฟมิลี่” ที่ร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายเปิดสาขาร่วมกัน ซึ่งโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะทำให้บริษัทขยายสาขาได้เร็วขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง จากเดิมใช้เงินลงทุน 6-10 ล้านบาทต่อสาขา เหลือประมาณ 3-5 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 100 สาขา จากจำนวน 28 สาขาภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุนรวมของบริษัทราว 400-500 ล้านบาทในการขยายสาขา ด้านการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

ทั้งนี้ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ ก่อตั้งเมื่อเดือน สิงหาคม 2562 จากการควบ 5 บริษัทย่อยภายในเครือ SCG (The Siam Cement Group) ได้แก่ (1) บริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด (“TCC”) (2) บริษัทเดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด (“SGI”) (3) บริษัทโสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด (“SSG”) (4) บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) และ (5) บริษัทเจมาโก จำกัด (“GMG”) ส่งผลให้เอสซีจี เซรามิกส์ กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของประเทศ ซึ่งมียอดขายกว่า 50% จากแบรนด์คอตโต้ และกำลังการผลิตกระเบื้องสูงสุดรวมกันปีละ 94 ล้านตารางเมตรจากฐานการผลิตทั้งหมด 4 แห่งในจังหวัดสระบุรี

 
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine