หนึ่งในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์จับตามอง คือ “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) ที่พัฒนาโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งมี ปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นหัวเรือใหญ่ โดยโครงการนี้เป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนถนนพระราม 4 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะพลิกโฉมย่านพระราม 4 ให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ระดับโลก และจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องดึงพันธมิตรและดีมานด์จากต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพ
Su Lin Soon ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก เล่าถึงวิธีคิดในการพัฒนาโครงการว่า จากมุมมองที่ได้เรียนรู้ผ่านย่านสำคัญต่างๆ ของมหานครทั่วโลก ทำให้ตระหนักได้ว่าควรสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยพลังและไม่มีวันหลับใหล
โดยนอกจากร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักอาศัย และโรงแรมแล้ว วัน แบงค็อกได้ให้ความสำคัญกับการเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไว้ทั่วโครงการ รวมถึงใส่ใจกับการสร้างผังเมืองที่ทุกคนสามารถเดินได้สบายๆ เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ผ่านการออกแบบถนนและตรอกซอยให้เชื่อมต่อกัน เรียงรายด้วยร้านค้า ร้านกาแฟ งานศิลปะ และพื้นที่จัดกิจกรรม ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ปรากฏอยู่ในหลายสถานที่ในหลายๆ เมืองทั่วโลก ที่จัดสรรให้มีทางเท้าที่น่าเดิน ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้คน และสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมา และเพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพฯ ถนนทุกสายในโครงการจะออกแบบให้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาอยู่ทั้งสองข้างทาง ส่วนพื้นที่ในอาคารจะมีระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงาน
ด้วยขนาดที่ยิ่งใหญ่ของโครงการ พื้นที่อาคารโดยรวม 1.83 ล้านตารางเมตร วัน แบงค็อกจึงเหมือนเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ที่ต้องมองเรื่องการใช้ชีวิตภายในโครงการอย่างสมบูรณ์ โดยคาดหวังผู้มาเยือนกว่า 2 แสนคนต่อวัน จึงต้องลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางที่มีความทันสมัยจะรองรับปริมาณผู้เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยภายในโครงการที่รัดกุม ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบบริหารพลังงานที่ดูแลโดยศูนย์บัญชาการประจำโครงการ และเซนเซอร์มากกว่า 2 แสนตัว ที่คอยบริหารจัดการทุกระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
การผสานนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในทุกองค์ประกอบของโครงการ ช่วยให้ทุกคนที่อยู่ใน วัน แบงค็อก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้มาเยือน และผู้อยู่อาศัย ล้วนได้รับประโยชน์จากการประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เรายังตั้งเป้าที่จะลดการทิ้งน้ำเสียให้เป็นศูนย์ รวมถึงโปรแกรมการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ 100% เพื่อนำมาใช้ในอาคารสำหรับระบบทำความเย็นและในพื้นที่ภูมิทัศน์ต่างๆ ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณของน้ำในสระว่ายน้ำโอลิมปิกถึง 1,000 แห่งต่อปี รวมถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 50% ผ่านระบบทำความเย็นที่เชื่อมต่อกัน
ด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ซึ่งจะทำให้วัน แบงค็อกเป็นเหมือนเมืองขนาดย่อม จึงต้องอาศัยการวางมาสเตอร์แพลนที่ดี โดยทีมงานจากเฟรเซอร์สฯ บางส่วนมาจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองที่โครงการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ถูกวางมาสเตอร์แพลนอย่างดี ให้สอดคล้องกับผังเมืองของประเทศ
Su Lin Soon กล่าวว่า ในสิงคโปร์ การวางผังเมืองนั้นเป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และโครงการประมูลที่ดินของรัฐบาลเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มาหลายทศวรรษแล้ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้างคุ้นเคยกับโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่
ในทางกลับกัน โครงการที่มีขนาดใหญ่มากมีรายละเอียดปลีกย่อยและซับซ้อนอย่างวัน แบงค็อกยังค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทยและกรุงเทพฯ เนื่องจากที่ดินใจกลางเมืองและติดกับระบบขนส่งมวลชนมีไม่มากแล้วในกรุงเทพฯ แต่เชื่อว่าเวลานี้เหมาะสมแล้วที่จะสร้างศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ในกรุงเทพฯ ที่จะได้รับการยอมรับระดับสากลในฐานะแลนด์มาร์กระดับโลก
นอกจากนี้ เรายังเชื่อมั่นว่า ในอนาคตของประเทศไทยและกรุงเทพฯ มีศักยภาพและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมหานครสู่เมืองระดับโลกอย่างแท้จริง และวัน แบงค็อกจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับเมืองและประเทศไทยไปสู่เวทีโลก
ด้วยสเกลของโครงการที่มีขนาดใหญ่ และตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใจกลางของกรุงเทพฯ พร้อมด้วยการเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบขนส่งมวลชน โครงการวัน แบงค็อกจึงวางแผนการใช้งานพื้นที่ไว้อย่างหลากหลาย พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการ และทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และที่พักอาศัย พร้อมด้วยพื้นที่ส่งเสริมการศึกษาการพักผ่อน สุขภาพ รวมถึงพื้นที่สำหรับศิลปะและวัฒนธรรม มีพื้นที่สาธารณะซึ่งเปิดให้ทุกคนเข้ามาได้ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กที่สมบูรณ์แบบ ดึงดูดองค์กรชั้นนำและเป็นปลายทางแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ
ภายในโครงการวัน แบงค็อก ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร โรงแรม 5 แห่ง คอนโดมิเนียม 110 ยูนิต จะเป็นคอนโดมิเนียมสิทธิการเช่าในแบบซูเปอร์ลักชัวรี่ด้วยระดับราคา 7 แสนบาท/ตารางเมตร จะเปิดขายในปี 2563 ส่วนงานก่อสร้างเริ่มแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยโครงการจะพัฒนาเสร็จพร้อมเปิดเฟสแรกในปี 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นทุนของบริษัท 40% และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 60%
ทีมบริหารวัน แบงค็อกเน้น 3 ปรัชญาหลัก ในการพัฒนาโครงการโดยเน้น “คนเป็นศูนย์กลาง” ของการออกแบบ “ความยั่งยืน” ด้วยพื้นที่สีเขียวและ “สมาร์ทซิตี้” ด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัลอันชาญฉลาดในด้านการอำนวยความสะดวกของผู้ใช้บริการทั่วทั้งโครงการ
เป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมวัน แบงค็อกมั่นใจว่า บิ๊กโปรเจกต์นี้จะเป็นเมืองแห่งการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ และจะทำให้พระราม 4 เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นต้นแบบสมาร์ทซิตี้ที่พัฒนาโดยภาคเอกชน มีความพร้อมและระบบบริการต่างๆ ที่ต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม เรื่อง: ฐิตาภา ญาณพัฒน์คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Life แถมฟรีมาในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 ในรูป e-Magazine