ชฎาทิพ จูตระกูล ถอดรหัสค้าปลีกยุคใหม่ มุ่งสร้าง..เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“One Siam” คือชื่อที่ผู้บริหารสยามพิวรรธน์ ใช้เรียกขานธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มสยามที่ประกอบด้วย 3 ศูนย์การค้าหลักในโซนสยาม ที่ประกอบด้วย สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน ศูนย์กลางแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีทั้งผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนจะบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เมื่อขยายมาร่วมทุนเปิดบิ๊กโปรเจค
“เมืองไอคอนสยาม” เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา
จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้ สยามพิวรรธน์สร้างการเติบโตผูกพันกับธุรกิจศูนย์การค้าในไทยมายาวนานถึง 60 ปี เป็น 6 ทศวรรษที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการที่น่าสนใจให้กับธุรกิจค้าปลีกไทย พร้อมก้าวมายืนแถวหน้าสร้างชื่อสร้างการยอมรับธุรกิจศูนย์ค้าปลีกไทยในเวทีระดับนานาชาติ
“วันนี้สยามพิวรรธน์ก้าวข้ามการแข่งขันภายในประเทศ ไปสู่การแข่งขันบนเวทีโลก ซึ่งเต็มไปด้วยการต่อสู้ที่เข้มข้น เรามีความภาคภูมิใจบนจุดยืนของเราที่เป็นผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
ประโยคข้างต้น คือโจทย์สำคัญทางธุรกิจของสยามพิวรรธน์ในปัจจุบัน จากการประกาศวิสัยทัศน์ในแผนธุรกิจ 5 ปีของบริษัท โดยแม่ทัพหญิงคนแก่ง
“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำหลักที่สร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างการยอมรับธุรกิจค้าปลีกไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จากการได้รับรางวัลระดับสากลในธุรกิจค้าปลีกเป็นครั้งแรก
โดยสยามดิสคัฟเวอรี่ ได้รับการยกย่องจาก
สมาคมศูนย์การค้าโลก หรือ
ICSC ว่าเป็นสุดยอดทางด้านดีไซน์การออกแบบอันล้ำสมัยประจำปี 2561 ขณะเดียวกันยังได้รับรางวัลสูงสุดจากเวที World Retail Award ในฐานะโครงการที่ออกแบบด้วยคอนเซปต์ดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจากทั้งวงการศูนย์การค้าและการค้าปลีกของโลกพร้อมกัน
“เราดำเนินธุรกิจศูนย์การค้ามาแล้ว 60 ปี อีก 5 ปีข้างหน้าภารกิจของสยามพิวรรธน์ มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพี่อนำไทยให้ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก” ซีอีโอ สยามพิวรรธน์ ย้ำและว่า ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การทำธุรกิจศูนย์การค้าในอีก 5 ปีข้างหน้าย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน
สำหรับ
สยามพิวรรธน์ มองว่าการพัฒนาศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ การสร้างศูนย์และจัดพื้นที่ให้คนมาเปิดร้านขายของเพียงอย่างเดียวมัน Out of Date หรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การช้อปปิ้งอาจไม่จำเป็นต้องศูนย์การค้า ทุกวันนี้ช้อปปิ้งออนไลน์มีให้เลือกมากมาย จะทำอย่างไรให้ศูนย์การค้ายังเป็นคำตอบของผู้บริโภค จึงต้องสร้างเมืองที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับที่บริษัทได้ร่วมทุนพัฒนาโครงการ
“เมืองไอคอนสยาม” ที่ถือเป็นโครงการ Co-Creation ความร่วมมือระดับประเทศ ดึงผู้ค้ารายย่อยจากต่างจังหวัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ เพิ่มสีสันและทางเลือกแปลกใหม่ให้กับลูกค้าควบคู่กันไปด้วย
ดังนั้นโจทย์ของสยามพิวรรธน์จากนี้ไปอีก 5 ปี โครงการที่พัฒนาจะเป็นการสร้าง
“เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่พัฒนาบนที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป ซึ่งในเบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาเตรียมการลงทุน 3-4 แห่ง ซึ่งต้องร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นการสร้างเมืองขนาดใหญ่ ที่จะมีทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า แหล่งแฮงเอาท์ และศูนย์ประชุมนิทรรศการขนาดใหญ่
ดังเช่นพื้นที่ส่วนหนึ่งใน เมืองไอคอนสยาม ที่พัฒนาเป็น “ทรู ไอคอน ฮอลล์” (TRUE ICON HALL) ศูนย์ประชุมพร้อมนวัตกรรมล้ำยุคแห่งแรกในกรุงเทพฯ พร้อมรองรับบริการเทคโนโลยี 4G และ 5G บนพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ที่สามารถรองรับการจัดงานประชุมระดับชาติ และจัดแสดงโชว์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ จะพร้อมเปิดบริการกลางปี 2562
เตรียมงบ 7 หมื่นล้านลุยบิ๊กโปรเจค
“เราเตรียมงบสำหรับการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าไว้ประมาณ 70,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ และการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง” ชฎาทิพ เผยพร้อมย้ำว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ารายได้รวมของสยามพิวรรธน์ จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1-1.5 เท่า จากฐานรายได้ล่าสุด ณ สิ้นปี 2561 ที่มียอดรายได้รวมกลุ่มสยามทั้ง 46 บริษัทที่ 2.55 หมื่นล้านบาท และทรัพย์สินรวม 4.5 หมื่นล้านบาท
รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากแผนลงทุนต่อเนื่อง 5 ปีที่เตรียมไว้ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในคอนเซ็ปท์ เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คล้ายๆ กับเมืองไอคอนสยาม ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจา เตรียมที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการดังกล่าวในกรุงเทพฯ 3-4 แปลง ที่ดูอยู่ในปัจจุบันมีขนาด 100 ไร่ขึ้นไป ในโซนตะวันออก, โซนเหนือ และในตอนกลางของกรุงเทพฯ ซึ่งจะสร้างเป็นเมืองการค้าที่เป็น Retail Destination โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพื้นที่ และเฟ้นหาพันธมิตร
ขณะเดียวกันการพัฒนาศูนย์การค้าคอนเซ็ปท์ใหม่ก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยโครงการล่าสุดที่คาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในปลายปีนี้ คือ Luxury Premium Outlets แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่ใช้ชื่อว่า
“Siam Premium Outlets” เป็นการพัฒนาที่ดิน 150 ไร่ ย่านมอเตอร์เวย์-ลาดกระบัง ร่วมกับ
“ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป” หรือ ไซม่อน บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯประเภทค้าปลีกรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมทุนโดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ จากนั้นจะขยายไปเปิดต่างจังหวัดอีก 2 แห่ง
แผน 5 ปีกับเม็ดเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท นอกจากการลงทุนในประเทศแล้ว ชฎาทิพ เผยว่า บางส่วนจะเป็นการขยายไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งยังคงมองลักษณะการร่วมทุนกับพันธมิตรเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ทั้ง เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้านในเออีซี ขณะนี้ยังมีความต้องการให้เราเข้าไปพัฒนาศูนย์การค้า แต่ระยะเวลาสำหรับการตัดสินใจลงทุนมีไม่นานนัก คาดว่าไม่เกิน 3 ปีหลังจากนั้นประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็จะได้รับการพัฒนา และไม่จำเป็นต้องพึ่งการลงทุนจากเราอีกต่อไป
เจาะบิ๊กดาต้าลูกค้านำร่องแผนลงทุน
ไม่เพียงแผนพัฒนาที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าสิ่งหนึ่งที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจ คือการให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่กลุ่มสยามมีจากฐานลูกค้าของศูนย์ค้าปลีกในเครือทั้งหมด ซึ่ง 3 ศูนย์การค้าในสยามมีฐานลูกค้าใช้บริการราวม 2-2.5 แสนคน/วัน และที่เมืองไอคอนสยามอีกราว 1.2-1.5 แสนคน/วัน และลูกค้าในฐานบัตรสมาชิกอีกรวมแล้ว 7-8 ล้านคน
“ข้อมูลที่ได้จากลูกค้า จะเป็นบอกได้ว่าเราควรขยายการลงทุนอะไร” ซีอีโอสยามพิวรรธน์ เผยและว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจศูนย์การค้าเมื่อทราบว่า ลูกค้าที่มาเดินศูนย์ส่วนใหญ่ต้องการอะไร เลือกอะไรเพื่อการบริโภค ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากศูนย์การค้าทั้ง 4 แห่งของกลุ่มพบว่า ในเมืองไอคอนสยามลูกค้าที่มาเดิน 80% เป็นคนไทย และในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งเป็นลูกค้าใหม่ ซึ่งสะท้อนว่าการเปิดตลาดฝั่งธนประสบความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าใหม่ชัดเจน
ส่วนศูนย์การค้าในโซนสยามทั้ง 3 แห่ง ตัวเลขยังเหมือนเดิมคือจากลูกค้าราว 2 แสนคน/วัน จำนวน 65-70% เป็นลูกค้าคนไทย ที่เหลือ 30-35% เป็นลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีหลากหลายทั้งจีน อินเดีย กลุ่มประเทศ CLMV อินโดนีเซีย เกาหลี ซึ่งลูกค้าเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เป็นกลุ่มมี่เดินทางท่องเที่ยวเองหรือ FIT ไม่ได้มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ กำลังซื้อค่อนข้างดี
ฐานข้อมูลลูกค้าเหล่านี้จะถูกนำมาประมวล เป็นแผนธุรกิจในอนาคตของสยามพิวรรธน์ สำหรับการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
รายงานโดย อรวรรณ หอยจันทร์
คลิกอ่าน: