การขยายตัวเพิ่มขึ้นของพื้นที่ Co-working Space ในเอเชียแปซิฟิก - Forbes Thailand

การขยายตัวเพิ่มขึ้นของพื้นที่ Co-working Space ในเอเชียแปซิฟิก

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Aug 2016 | 03:56 PM
READ 4511

Co-working Space หรือพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกันนั้นมีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ความต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นจากทั้งพนักงงานและองค์กรและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา

จากรายงานเรื่อง “พื้นที่ Co-working Space ในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง: ดีหรือไม่?” ของซีบีอาร์อี ได้รายงานถึงการขยายตัวพื้นที่ Co-working Space ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จาก 75 แห่งในปี 2550 เป็น 7,800 แห่งในปี 2558 พื้นที่ Co-working Space ในเอเชียแปซิฟิก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญไปยังเมืองอื่นๆ (Gateway City) เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ซิดนีย์ และเมลเบิร์น โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประเมินว่ามีพื้นที่ Co-working Space รวมกว่า 300 แห่งในเมืองเหล่านี้ โดยที่โตเกียวมีอยู่ราว 100 แห่ง ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้มีอยู่ราว 40-60 แห่งในแต่ละเมือง แต่ในเอเชียแปซิฟิกยังคงมีจำนวนพื้นที่ Co-working Space ของเมืองในฝั่งตะวันตกอยู่มาก อาทิ นิวยอร์คและลอนดอนต่างมีพื้นที่ Co-working Space อยู่ไม่น้อยกว่า 120 แห่ง และส่วนมากผู้ให้บริการพื้นที่ Co-working Space ที่เป็นผู้ให้บริการท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ยังคงครองตลาดในเอเชียแปซิฟิก โดยคิดเป็น 60% ของสัดส่วนตลาด แต่ผู้ให้บริการระดับสากลหลายรายก็กำลังขยายธุรกิจอย่างมากในภูมิภาคนี้ “การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการพื้นที่ Co-working Space นั้นมีความเข้มข้นมากขึ้นจากการเปิดพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงขยายสาขาในทำเลชั้นนำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สูงขึ้นและสัดส่วนกำไรลดลง  ผู้ให้บริการพื้นที่ Co-working Space จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจ ควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดี และต้องทันต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย รวมถึงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณพื้นที่ในตลาดและความต้องการด้วย” ดร.เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวและเสริมว่า “การให้บริการพื้นที่ Co-working Space ไม่เหมือนการปล่อยเช่าพื้นที่สำนักงาน หรือการให้ผู้เช่ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำงานตามปกติ  กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ คือ การสร้างประสบการณ์ สร้างสังคม รวมถึงส่งเสริมโอกาสในการทำธุรกิจและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มาใช้บริการ” “ในเอเชียแปซิฟิก พื้นที่ Co-working Space ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลที่ไม่ดีต่อการตั้งสำนักงานหรือการปล่อยเช่าสำนักงานแบบปกติ แต่ก็มีนัยยะบางประการสำหรับผู้เช่าและเจ้าของพื้นที่สำนักงาน ตัวอย่างเช่น หากมองไปที่ความจำเป็นในการออกแบบพื้นที่สำนักงานใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันและสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน เจ้าของพื้นที่สำนักงานอาจพิจารณาระหว่างการปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับผู้ให้บริการพื้นที่ Co-working Space กับการพัฒนาพื้นที่ Co-working Space ขึ้นมาเอง หลังจากประเมินค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่จะได้รับ”
ดร.เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ด้าน นิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทยให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า “คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำพื้นที่ Co-working Space เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรง แต่การทำพื้นที่ Co-working Space ในกรุงเทพมหานครนั้นก็จำเป็นต้องศึกษาทั้งในด้านความต้องการของตลาด ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และผลตอบแทนที่จะได้รัฟบอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเห็นภาพตลาดที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันการแข่งขันในตลาด Co-working Space ในกรุงเทพฯ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”