สร้าง Smart Living เพื่อสังคมแสน Smart - Forbes Thailand

สร้าง Smart Living เพื่อสังคมแสน Smart

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Dec 2017 | 12:19 PM
READ 6986

“เทคโนโลยีจะดีแค่ไหนก็ไร้ค่า หากไม่ได้สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติ และจะดียิ่งขึ้นเมื่อนำไปใช้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น”

แผนกเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเผยแนวโน้มจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9.8 พันล้านคนในปี 2593 และประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 2.1 พันล้านคนในปีเดียวกัน โดยจำนวนประชากรและผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่นานาประเทศตื่นตัวและเตรียมสร้างต้นแบบ “Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” Smart City จะช่วยแก้ปัญหาอนาคตเมืองที่จะมีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรอาศัยในเมืองมากขึ้น การบริหารจัดการซับซ้อนแต่ทรัพยากรมีจำกัด ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับเมืองเพื่อเพิ่มความน่าอยู่ ล้วนมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองอย่างเหมาะสม รวดเร็ว สะดวกสบาย ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9.8 พันล้านคน และประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2593 ทำให้การบริหารจัดการเมืองแบบ “เมืองอัจฉริยะ” มีความสำคัญ
สำหรับการทำเมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องมีข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงถึงกันจึงจะพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละพื้นที่ เพิ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งแง่สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป สภาพแวดล้อมในชุมชน ระบบการขนส่ง ระบบการจัดการพลังงาน ระบบการดูแลสุขภาพของคนปกติ ผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้สูงวัย การสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะทั่วโลกมักเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนประชาชนในพื้นที่  

Data Science กับการสร้างฐานข้อมูลคนเมือง

สหรัฐอเมริกา ในยุคประธานาธิบดี Barack Obama มีนโยบายและระดมทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จัดทำเรื่อง Smart Health ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ระดับประเทศ มีนักวิจัยเข้าร่วมมากมาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและปรับปรุงการให้บริการดูแลสุขภาพของประชากร เป็นที่มาของการเสนอแนวคิดต่อมลรัฐ Louisiana ให้พัฒนา โครงการ Urban Data Science (Smart City, Smart Home, Smart Health & Smart Living) เป็นการนำแนวคิดรวบรวมเชื่อมต่อข้อมูล Internet of Things :IoTs จากทุกอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล โดยมีคณะทำงานที่เรียกว่า “Louisiana Biomedical Research & Informatics Collaboratory” เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อนำเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ
โครงการ Urban Data Science ภายใต้นโยบาย Smart Health ยุคปธน. Barack Obama ของสหรัฐฯ จะเก็บข้อมูลบุคคลจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเพื่อนำมาประมวลภาพรวมสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
เงินทุนที่ได้รับนำไปสู่ความร่วมมือกับคณะทำงานขององค์กรอื่นๆ เพื่อสร้าง health data mart หรือรายงานประวัติซึ่งเป็นข้อมูลของโรงพยาบาลในการเก็บข้อมูลประชากรจากที่มีประมาณ 4.6 ล้านคน ได้ถึง 4.3 ล้านคน ความร่วมมือนี้เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลได้ทั้งมลรัฐ ทั้งส่วนที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐ ทำให้ปัจจุบันมี hospital data และ medical data ซึ่งสำคัญมากต่อการใช้ตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ Louisiana ได้ทำวิจัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อชีวิตความเป็นอยู่อัจฉริยะ (Personal Data Intelligence Living) ซึ่ง living data เหมือนการวิเคราะห์ไปถึงรากเหง้าของปัญหา ตรวจสอบได้ว่าจากพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้มีโอกาสจะเกิดโรคแบบนี้ คือการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) เชื่อมโยงเข้าไป  

Data เพื่อแก้ปัญหาสังคม

การดำเนินการเช่นนี้ ต้องเชื่อมั่นในทีมพันธมิตรร่วมวิจัยเพื่อให้ได้ดัชนีบ่งชี้ระดับความมีสุขภาพดี ถ้าลักษณะออกมาแบบนี้ควรทำอย่างไรต่อ แก้ไขปัญหาด้วยการออกกำลังหรืออื่นใด โดยหวังว่าจากจุดเริ่มต้นจะต่อยอดออกไปให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเป็นผลงานของ data science ที่นำมาใช้พัฒนาวิจัย ตั้งเป้าหมายภายในเวลา 5 ปี จะสามารถสร้าง index ของแต่ละบุคคลไปต่อยอดในข้อมูลของเมืองที่สามารถสร้างเป็นข้อมูลด้านสาธารณสุข สมมติตามข้อมูลจากโครงการทำ index ได้ว่าสีนี้คืออะไร เช่น ถ้าพื้นที่ที่โชว์เป็นสีแดงทั้งหมด ก็อาจจะลงลึกเข้าไปดูเทียบกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ระบบประปาในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่บริเวณนี้พบประชาชนเป็นพยาธิตับมากก็อาจต้องไปทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย หรือ หน่วยงานด้านปกครอง ว่าหมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ จะต้องมีกิจกรรมอบรม แก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยจะมีข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับไปได้ถึงพฤติกรรมการบริโภคของคน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น มาเป็นฐานให้ทราบสาเหตุและเข้าไปดำเนินการแก้ไข  

จาก Louisiana สู่ VISTEC

นอกจากงานวิจัยสร้างฐานข้อมูลดูแลสุขภาพของ Louisiana แล้ว ก็ได้นำความร่วมมือมาสู่ไทยระหว่าง สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ Louisiana Biomedical Research & Informatics Collaboratory ในโครงการ “The Urban Data Science Project” ซึ่งมี Smart Living เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มของ Smart City หากโครงการนี้สำเร็จจะมีประโยชน์ต่อสังคมและพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทย ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ เพราะข้อมูลที่เก็บมาจากสาขาต่างๆ เป็นข้อมูลแบบมีโครงสร้างและไม่ได้จัดโครงสร้างจำนวนมหาศาลที่ต้องนำองค์ความรู้ data science มาจัดการ ถ้าเป็นข้อมูลหมู่บ้าน คนอยู่ในบ้าน มีพ่อแม่ลูก อาจจะมีความสัมพันธ์ข้อมูลรูปแบบพฤติกรรมแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน ขยายสู่ความแตกต่างของแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่อๆ ไป การดำเนินการของคณะวิจัยเป็นการนำข้อมูลที่ได้จาก IoTs ที่อนุญาตให้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกันสื่อสารและโต้ตอบกับผู้อื่นได้โดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากมนุษย์ภายใต้โปรโตคอลอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันใช้งานแพร่หลายเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ เช่น home automation การขนส่ง และห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นรูปแบบของ urban IoTs เพื่อการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด โดยนำเทคโนโลยีหลากหลายสาขามาปรับปรุงการดำเนินชีวิต การดูแลสุขภาพ และบริการสาธารณะให้ดีขึ้นในเมืองที่อยู่อาศัย ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลคลาวด์ และ IoTs คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการช่วงแรกเพื่อเก็บข้อมูลและสรุปรายงานประมาณ 1-2 ปี เมื่อโครงการเล็กๆ สำเร็จจะขยายต่อไปสู่โครงการขนาดใหญ่ได้ กระทั่งอาจนำไปสู่แผนสุขภาพแห่งชาติยุค 4.0 ทั้งนี้ต้องขึ้นกับฝ่ายนโยบายจะนำไปต่อยอดอย่างไร   ศาสตราจารย์ ดร. โชคชัย เลี้ยงสุขสันต์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
คลิกเพื่ออ่าน "สร้าง Smart Living เพื่อสังคมแสน Smart" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine