วีเสิร์ฟ ไลฟ์สไตล์ ซูเปอร์แอป จากภูเก็ต พลิกเกมป่าล้อมเมือง ชูฐานธุรกิจท้องถิ่นแน่น จับมือบิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี ปั้น WE Token สร้างความแตกต่างในตลาด เสริมแกร่งผู้ประกอบการ เตรียมแผนระดมทุน พร้อมขยายธุรกิจทั่วประเทศภายในปี 2566
ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ กลายเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงมาก ซึ่ง 4 ปีก่อนหน้านั้น บริษัท วีเสิร์ฟ ไลฟ์สไตล์ จำกัด ผู้พัฒนา “WESERVE” Local Lifestyle Super App ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยนักธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในจังหวัดภูเก็ตที่มองเห็นการเติบโตของธุรกิจนี้เช่นเดียวกัน ณัฐชยา สืบศักดิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง และ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท วีเสิร์ฟ ไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า วีเสิร์ฟ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด จากกลุ่มนักธุรกิจสตาร์ทอัพในจังหวัดภูเก็ต ที่ต้องการแก้ปัญหาระบบขนส่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทั้งรถติด และหารถยาก สร้างความลำบากให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม WESERVE ขึ้นมาเพื่อให้บริการเรียกรถเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง บริการด้านการท่องเที่ยว ต่อมาจึงขยายไปสู่ฟู้ด เดลิเวอรี่ “ช่วงก่อนโควิด เราเติบโตสูงมาก เพราะเป็นบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว ที่ใช้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โรงแรม แต่พอเกิดโควิด การท่องเที่ยวชะลอตัวลง เราก็ปรับตัวให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ และขยายบริการในจังหวัดอื่นเพิ่มเติม ทำให้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา วีเสิร์ฟ เติบโตและมีกำไรมาโดยตลอด”ขยายฐานธุรกิจ “ป่าล้อมเมือง”
ปัจจุบัน วีเสิร์ฟเปิดให้บริการในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา สุราษฏร์ธานี สงขลา เพรชบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ และ เชียงราย ณัฐชยา กล่าวว่า จุดเด่นของวีเสิร์ฟ คือความเข้าใจคนในท้องถิ่น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้ ทำให้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรมาโดยตลอด โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้ 80 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 120 ล้านบาท และจะขยายฐานธุรกิจเพิ่มอีก 35 จังหวัด และคาดว่าจะเปิดบริการครบทั่วประเทศในปี 2566 และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เส้นทางเดินของวีเสิร์ฟ คือกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ที่นำจุดแข็งเรื่องความเข้าใจคนท้องถิ่นมาให้บริการลูกค้า คัดสรรสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ทั้งเรื่องการเดินทาง อาหาร และบริการต่าง ๆ โดยเข้าไปเป็นพันธมิตรกับนักธุรกิจในแต่ละจังหวัดในรูปแบบของการขายแฟรนไชส์ โดยบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์ม และระบบต่าง ๆ ช่วยทำให้ธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตขึ้น ปัจจุบัน บริษัทมีพันธมิตรผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ กว่า 20,000 ร้านค้า และผู้ใช้บริการกว่า 2 แสนราย นอกจากกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองแล้ว วีเสิร์ฟ ยังทำสิ่งที่แตกต่าง โดยการเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมมือกับบิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี และบริษัท ฟินสเตเบิ้ล พัฒนา WE Token Utility Token พร้อมใช้ เพื่อเติมเต็มความต้องการ และ เพิ่มความแข็งแกร่งของ Ecosystem เชื่อมต่อให้ผู้ใช้บริการมีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนบน WESERVE Platform โดยลูกค้ากว่า 200,000 ราย สามารถนำ WE Token มาแลกเปลี่ยนในบริการ หรือ NFT และมีแผนพัฒนาให้เป็นโทเค็นที่มีสิทธิ์โหวตได้อย่างโปร่งใสในอนาคต โดยตั้งเป้าให้สามารถแลกเเละรับโทเค็นได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเป็นสมาชิกบนแอปวีเสิร์ฟเพื่อรับ WE Token ได้ฟรี “ปัจจุบันความสนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ขยายตัวไปตามหัวเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาค รวมไปถึงกลุ่มนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการในเมืองรอง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลดีและเอื้ออำนวยให้ Utility Token ที่มีแพลตฟอร์มท้องถิ่นรองรับอย่างวีเสิร์ฟ สามารถเติมเต็มและเข้าถึงความต้องการในชีวิตประจำวันให้กับคนท้องถิ่นได้”เตรียมแผนระดมทุน
ณัฐชยา กล่าวว่า วีเสิร์ฟตั้งเป้าเพิ่มเติมบริการในแพลตฟอร์ม ให้สามารถจองบริการเกี่ยวกับท่องเที่ยว รถเช่าไฟฟ้า และอื่นๆอีกมากมาย พร้อมขยายตลาดครอบคลุมทั่วไทยภายในปี 2023 แล้วยังมีแผนที่จะขยายแพลตฟอร์มไปยังต่างประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น กัมพูชา และเวียดนาม ที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมทั้งมีแผนเข้าระดมทุนระดับซีรีส์ เอ ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อขยายธุรกิจวีเสิร์ฟต่อไป “เป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการแข่งขันกับใคร แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง WE Token ช่วยทำให้เราแตกต่าง และโดดเด่น ขณะที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจของคู่ค้า ด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้แข็งแรง” ณัฐชยากล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส เผยทิศทางและกลยุทธ์ปี 2565 บัตรเครดิต co-brand “บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน”ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine