ไทยเบฟ ผนึกกำลังทัพธุรกิจอาหารเครื่องดื่มต่อยอด Vision 2020 สู่ PASSION 2025 พร้อมโชว์ศักยภาพรักษาตำแหน่งผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาหลังจากกลุ่มไทยเบฟเดินหน้าตามแผน Vision2020 ตั้งแต่ปี 2557-2563 ได้ส่งผลให้ยอดขายและกำไรของบริษัทสามารถขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยการเติบโตทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ อาหาร รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจ ขณะที่ไทยเบฟคงความเป็นผู้นำในธุรกิจสุรา ในธุรกิจเบียร์เมื่อรวมยอดขายของเบียร์ในประเทศไทย และในประเทศเวียดนามซึ่งมีปริมาณยอดขายเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น ชาเขียวโออิชิ น้ำดื่มคริสตัล และขับเคลื่อนธุรกิจอาหารจนทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเบฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices -DJSI เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็น Word Industry leader ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เป็นปีที่ 4 โดยไทยเบฟนับเป็นบริษัทแรกในประเภทอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น World Leader ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ Vision 2020 “ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มไทยเบฟก็สามารถยังยืนหยัดพร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มากกว่าเดิม แม้เราจะได้รับผลกระทบต่อยอดขายบ้าง โดยในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนของเรา โดยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติพิเศษในสถานการณ์ COVID-19 หรือ ThaiBev Situation Room (TSR) เพื่อเป็นศูนย์ติดตามข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงติดตามการดำเนินงานของกลุ่มไทยเบฟให้สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้ตามจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค” จากความสำเร็จในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาสู่การต่อยอด PASSION2025 ด้วยความมุ่งมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ BUILD (สรรสร้างความสามารถ) คือ สรรสร้างความสามารถและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่ และ STRENGTHEN (เสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง) คือ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก เพื่อรักษาและก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้ง UNLOCK (สุดพลังศักยภาพไทยเบฟ) คือ นำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดพลังสูงสุด “ผมขอยืนยันในศักยภาพของเราที่มีความพร้อมอย่างรอบด้าน และความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มไทยเบฟ ร่วมกับคณะผู้บริหาร และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโตไปด้วยกัน กับก้าวที่แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็น Stable and Sustainable ASEAN Leader ภายใต้ PASSION 2025 อันจะสะท้อนถึง ความมุ่งมั่น ตั้งใจและทุ่มเทของทุกคนในกลุ่มไทยเบฟ” ฐาปนกล่าว ขณะที่ผู้นำทัพในแต่ละสายธุรกิจได้กล่าวถึงภาพรวมในช่วงปีที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานตาม PASSION2025 เริ่มจาก ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา (รองผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด ด้านการเงินและบัญชี ธุรกิจต่างประเทศ : มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2563) ยอมรับถึงความท้าทายในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไว้ได้ ด้วยความหลากหลายของแบรนด์ ซึ่งตอบโจทย์การบริโภคสินค้าที่บ้าน และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับภาพลักษณ์สุราไทย (premiumization) โดยเฉพาะแสงโสมที่สามารถสร้างการเติบโตกว่าร้อบละ 14 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ สามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึงร้อยละ 37 รวมทั้ง เมอริเดียนบรั่นดี ยังสามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึง 50% และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8% โดยในปีนี้กลุ่มธุรกิจสุรายังได้มีการออกผลิตภัณฑ์ Phraya Elements ซึ่งเป็นสุราระดับพรีเมียมที่ผ่านการเก็บบ่มในถังไม้โอ๊คยาวนานหลายปี ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามหรูหราโดยวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ส่วน ไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ ย้ำในวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นนำเบียร์ช้างขึ้นแท่นเบียร์อันดับ 1 ของเบียร์สัญชาติไทยในระดับสากล ทั้งด้านปริมาณการขายและด้านผลิตภัณฑ์ที่ต้องเป็นที่ 1 ในใจผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยแรงผลักดันสำคัญ ได้แก่ การขยายฐานลูกค้าทางภูมิศาสตร์ของเบียร์ช้าง และการสร้างคุณค่าของตราสินค้า การขยายฐานลูกค้าทางภูมิศาสตร์ของเบียร์ช้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปสู่เมืองสำคัญต่างๆ ในต่างประเทศ สำหรับการขยายตัวในระดับภูมิภาค เบียร์ช้างได้เปิดตัวการผลิตภายนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในเมียนมาเมื่อปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี ขณะที่แบรนด์ซาเบโก้ และกลุ่มอุตสาหกรรมเบียร์ในเวียดนามในปี 2563 เป็นกลุ่มที่เผขิญความท้าทายจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ทั่วโลก โดยสามารถปรับตัวและกู้สถานการณ์ฟื้นคืนในช่วงไตรมาส 2 ด้วยการขายในลักษณะการทำงานเชิงรุก และทำการตลาดด้วยการผลิตเบียร์ Bia Lac Viet ฉลองครบรอบ 145 ปี และทดลองขายผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตที่สามารถใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และการบริหารห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบ Transport Management System (TMS) พร้อมบริหารจัดการธุรกิจด้วยดิจิทัลในโครงการซาเบโก้ 4.0 ควบคู่การลดค่าใช้จ่ายผ่านการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ ด้าน โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย (2561-2563) รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางจำหน่าย (1 ตุลาคม 2563) ย้ำชัดถึงการรักษามาตรฐานการดำเนินงานของ “ช้าง” ท่างกลางความท้าทาย ด้วยการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าตลาด พร้อม 3 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย การสื่อสารแบรนด์ การสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ รวมทั้ง การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “ช้าง โคลด์ บรูว์” (Chang Cold Brew)ฉลองครบรอบปีที่ 25 และ “ไวรัลแพ็ค” (Viral Pack) หรือ “ช้าง โคลด์ บรูว์ ขนาด 25 กระป๋อง” ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดพิเศษที่มีความยาวมากที่สุดเท่าที่ช้างเคยจัดทำขึ้น จนเกิดกระแสการพูดถึงในโลกโซเชียลจำนวน ส่วน เลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ ประเทศไทย (2561-2563) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) (1 ตุลาคม 2563) มุ่งโฟกัส 3 ตลาดหลัก 3 ตลาดใหม่ และ 4 ตลาดการส่งออกเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั่วภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งลงทุนในแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนโครงการด้านการเงิน และการสร้างความยั่งยืนของผลกำไร การมองไปข้างหน้านั้นธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 โดยเปิดช่องทางการขายในรูปแบบสถานที่ การขยายช่องทางการขายไปยังช่องทางดิจิทัล โฟกัสที่ด้านสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนั้น นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) ยังคงเดินหน้าแผนพัฒนาธุรกิจอาหารให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 และกลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายสาขา การขยายช่องทางการให้บริการหลายรูปแบบ เช่น ช่องทางการจัดส่งถึงบ้าน (Home Delivery), Take home/Pick up, ไดร์ฟทรู และอื่นๆ การนำเอาดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสามารถสร้างประสบการณ์ ความสะดวกสบายให้กับลูกค้าได้แบบ Personalization และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานมากยิ่งขึ้น รวมถึง Heath & Well-being มุ่งพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ-ความปลอดภัย ตลอดจนเสริมสร้างบุคลากร โดยเพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะ ความชำนาญในการทำงาน เพื่อพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่มีความคล่องตัวสูง อ่านเพิ่มเติม: คาดสิ้นปี “ดัชนีหุ้นไทย” ปิดที่ 1,300 จุดไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand