ผลสำรวจความเห็นสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ไตรมาส 4 คาด ดัชนีหุ้นไทย ปีนี้ปิดที่ 1,300 จุด ปัจจัยการเมืองทั้งในและต่างประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันตลาดทุนไทย แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ “ช้อปช่วยชาติ” ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท เป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 16 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 5 บริษัท และบริษัท โกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 บริษัท ได้คาดการณ์เป้าหมายดัชนีหุ้นไทย ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 จุด ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจของไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,383 จุด สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง สิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 1,347 จุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.59 คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,301 – 1,400 จุด และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 23.53 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,201 – 1,300 ขณะที่คาดการณ์จุดต่ำสุดของ SET Index จากนี้ถึงสิ้นปี จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,198 จุด ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก โดยให้คะแนนร้อยละ 68.18 รองลงมาร้อยละ 54.55 คาดว่ามาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลในด้านลบต่อตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 100 ตอบว่ามาจากปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 70 มาจากปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ ตามด้วยสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ และ การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย “เป็นที่น่าสังเกตุว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้นผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไตรมาส 4 มีเพียงร้อยละ 40.91 ที่มองว่าเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่มีผู้ตอบแบบสอบถามแย้งว่าเป็นปัจจัยลบ” สมบัติให้ความเห็น ขณะที่คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ติดลบร้อยละ 7.81 ส่วนสมมติฐาน GDP ในปี 2564 นั้นผู้ตอบแบบสอบถามทุกรายมองว่าจะเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 3.91 โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบของปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 40.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แนะรัฐเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ สมาคมนักวิเคราะห์ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน มีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรเร่งนโยบายที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การช่วยเหลือผู้ว่างงาน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ ขณะที่อีกร้อยละ 35 เสนอให้เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน นอกจากนี้ให้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่น มาตรการลดภาษี เร่งการลงทุนภาคเอกชนหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำให้มีเงินสดร้อยละ 20 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 18 ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 21 รองลงมา คือการลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 20 การแบ่งเงินลงทุนในทองคำ ร้อยละ 10 และกองทุนอสังหาฯ ร้อยละ 10 ตามลำดับ โดยรายชื่อหุ้นเด่นที่มีนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันเกิน 4 สำนักขึ้นไป ได้แก่ ADVANCE, BDMS, CPALL และ HANA ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและสายการบิน เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: “เทรนด์การลงทุน” หลังโควิด-19ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand