เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เผยรายได้รวม 1.48 พันล้านบาทใน 9 เดือนแรกจากเดลิเวอรี่และการขายแฟรนไชส์เขียงเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่บริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้ารุกโค้งสุดท้ายปลายปีรับตลาดฟื้นตัวหนุนบรรยากาศนั่งรับประทานภายในร้านกลับมาคึกคัก
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายมั่นใจว่าจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน) ที่เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้หลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3 ทำให้ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลให้ร้านอาหารภายในศูนย์การค้าต้องปิดการให้บริการกระทบต่อรายได้ อย่างไรก็ตาม จากการปรับกลยุทธ์มุ่งให้บริการเดลิเวอรี่และการขายแฟรนไชส์เขียงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน) ทำได้ 1.48 พันล้านบาท หรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งการปรับลดค่าใช้จ่ายร้านอาหารที่อยู่ภายในศูนย์การค้าให้สอดคล้องภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถลดผลกระทบต่อปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ซึ่งขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาท นอกจากนี้ บุญยงยังให้ความเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายหลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีความคึกคักมากขึ้น โดยลูกค้าเข้ามาใช้บริการนั่งทานในร้านที่ให้บริการบุฟเฟ่ต์ ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น AKA ตามศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นหรือเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งลูกค้าจะออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ดังนั้น บริษัทได้เตรียมวางกลยุทธ์การตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างครบครัน โดยเปิดตัว On the table โฉมใหม่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยนำร่องที่สาขาสีลม และกำลังอยู่ระหว่างปรับโฉมที่สาขา เมกาบางนา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งเตรียมร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปลายปีและต้อนรับปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่ โดยมุ่งตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าทั้งในรูปแบบนั่งทานในร้าน ซื้อกลับบ้าน (Take Home) และบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งล่าสุดนำแบรนด์ในเครืออย่าง ZEN Grand Premium Buffet และ AKA Ultimate Buffet จัดโปรโมชั่นครั้งใหญ่ ด้วยความมั่นใจในผลการดำเนินงานที่จะสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ตามเป้าหมายในไตรมาส 4 ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์การผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เช่น การเปิดให้นั่งทานอาหารในร้าน การปรับลดพื้นที่เคอร์ฟิว และการเปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจร้านอาหารประเภท Full-Service Restaurants โดยทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มออกไปทานอาหารและใช้เวลาในร้านอาหารมากขึ้นหรือถี่ขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปี 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวจำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปีประกอบกับการเพิ่มขึ้นของยอดการใช้จ่ายจากระยะเวลาในการใช้บริการต่อครั้งที่นานขึ้น ทำให้อาจจะมีการสั่งอาหารรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านบาทจากคาดการณ์เดิม และมีมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ 28.5 จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม โอกาสการกลับมาฟื้นตัวและมูลค่ายอดขายของธุรกิจดังกล่าวยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นต้น รวมทั้ง ปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อรูปแบบการฟื้นตัวของร้านอาหารในกลุ่มนี้ที่แตกต่างกัน โดยในปีข้างหน้าคาดว่าตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะกลับมามีสีสัน ด้วยแรงขับเคลื่อนจากแผนการลงทุนของผู้ให้บริการรายใหญ่ซึ่งถูกชะลอมาจากปี 2564 และการเร่งขยายพอร์ตอาหารให้ครอบคลุมประเภทอาหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2565 ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มเติมในแพลตฟอร์มธุรกิจร้านอาหารให้สามารถรองรับการทำตลาดทั้งส่วนการขายในร้าน การขายแบบเดลิเวอรี่ และการขายสินค้าระหว่างแบรนด์ (Cross-selling) มากขึ้น ดังนั้น แม้ทิศทางธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะกลับมาดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องเผชิญโจทย์ทางธุกิจที่สำคัญ เช่น แนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ได้แก่ ราคาวัตถุดิบ อาหารปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองโรคที่อาจทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มประมาณ 2-5% (เมื่อเทียบกับก่อนโควิด) ได้แก่ ชุดตรวจ ATK ของพนักงาน น้ำยาทำความสะอาด ค่าเจลแอลกอฮอล์ ระบบฟอกอากาศและเครื่องอบค่าเชื้ออุปกรณ์ ขณะเดียวกันการรักษาระยะห่างและจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการก็น่าจะส่งผลให้รายได้ต่อพื้นที่ (Sales per Square Foot) ของร้านอาหารยังไม่สามารถกลับมาอย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีประเด็นสภาพคล่องและมีภาระทางการเงินด้านสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มสัดส่วนการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการมีแอดมินเพจหรือแชทบอทที่คอยดูแลตอบคำถาม และรับออร์เดอร์บนช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการผสมผสานระหว่างช่องทางการขายและการทำการตลาดผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้จากหลากหลายช่องทาง (Omni Channel) จะกลายเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยลดการสัมผัส (Contactless) เช่น หุ่นยนต์จัดส่งอาหาร Digital menus และ Mobile payment จะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกร้านอาหารจำเป็นต้องมี เพื่อลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้ามาใช้บริการในร้านอาหาร อ่านเพิ่มเติม: Female Invest รับเงินหนุน 4.5 ล้านเหรียญฯ มุ่งผลักผู้หญิงเป็นนักลงทุนไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine