THOUGHT LEADERS: การค้าเสรีทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น - Forbes Thailand

THOUGHT LEADERS: การค้าเสรีทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Sep 2015 | 11:58 AM
READ 2373
โดย: Steve Forbes เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา

ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดของแผนการเจรจา Trans-Pacific Partnership ก็คือมันจะทำให้การจ้างงานลดลง ซึ่งเป็นประเด็นที่บรรดาสหภาพแรงงานมักจะใช้อยู่เสมอเพื่อคัดค้านการทำข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าในลักษณะนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้การจ้างงานลดลงคือ นวัตกรรมและผลิตภาพ ต่างหาก

คนเรามักจะมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือไม่ก็สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลานั่นแหละ เมื่อสักสองสามปีก่อน มีใครเคยรู้จัก iPad หรือ กระบวนการที่เราเรียกกันว่า Streaming บ้างล่ะ? ทั้งนี้การอยู่ในตลาดที่เสรีนั้น การจ้างงานบางประเภทอาจจะถูกเลิกไป แต่จำนวนการจ้างงานโดยรวมและคุณภาพของงานจะเพิ่มขึ้น

คนทุกวันนี้รู้สึกและมองภาพการทำงานในโรงงานด้วยอารมณ์ถวิลถึงอดีตซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกันกับการมองภาพของวิถีเกษตรก่อนหน้านั้น แต่ในความเป็นจริง การทำงานทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นเรื่องของการใช้แรงงานอย่างหนักจนหลังแทบหักมาจนกระทั่งมันดีขึ้นเมื่อสักร้อยกว่าปีมานี้เอง ยังจำกันได้ไหมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในโรงงานว่าเป็นงานที่ซ้ำซากและไร้จิตวิญญาณอย่างสิ้นเชิง

มันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์นั่นแหละที่จะมองหาและป้ายความผิดไปที่อะไรสักอย่างเมื่อชีวิตเราถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป  แต่เมื่ออุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าถูกขจัดออกไป คนส่วนใหญ่ก็จะรับรู้สภาพความเป็นจริงได้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาของสหรัฐฯ ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของนายธนาคารที่ชั่วร้าย หรือนักปั่นค่าเงินจากต่างชาติ แต่คือรัฐบาลของเราเองที่ขูดรีดภาษีประชาชนอย่างหนัก การดำเนินนโยบายการเงินแบบที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์มากมายเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์รักษาพยาบาล และอื่นๆ อีกมากมายที่ขัดขวางไม่ให้เราใช้พลังในการทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน
 
การลดภาษีใช้ได้ผลทุกครั้งไป

หนึ่งในข้อดีของการบริหารแบบสหพันธรัฐก็คือ การเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐสามารถทดลองใช้นโยบายต่างๆ ดูได้ว่ามันใช้ได้ผลดีหรือไม่ กฎหมายปฏิรูปสวัสดิการสังคมปี 1996 เกิดจากนโยบายที่มีการทดลองใช้ที่รัฐ Wisconsin ซึ่งทำให้เห็นว่าการจะขอรับสวัสดิการจากรัฐจะต้องมีการทำงานแลก มันเหมือนสิ่งที่ช่วยรับรองว่าคนจะไม่นั่งๆ นอนๆ รอรับสวัสดิการจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะทดลองใช้มาตรการภาษีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีแววว่าจะไปได้ดีกับแผนปฏิรูปภาษีหลังการเลือกตั้งปี 2016

Sam Brownback ผู้ว่าการรัฐ Kansas เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการใช้มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้ และยกเลิกการเก็บภาษีธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งทำให้งบประมาณของรัฐซึ่งอ่อนแออยู่แล้วยิ่งขาดดุลหนักขึ้นไปอีก เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวในทันที แต่ผลจากมาตรการลดภาษีของเขาซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สองปีก่อนหน้านั้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของรัฐ โดยในปัจจุบันการจ้างงานในรัฐ Kansas โตแซงหน้ารัฐส่วนใหญ่ ในขณะที่อัตราการว่างงานต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และอัตราการจ้างงานต่อประชากรก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

John Kasich ผู้ว่าการรัฐ Ohio ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็กำลังพยายามลดภาษีเงินได้ในรัฐของเขาเองอยู่ ซึ่งเขาอาจจะถึงขั้นยกเลิกภาษีตัวนี้ไปเลยก็ได้ แล้วหันไปพึ่งการเก็บภาษีจากการบริโภคที่มีฐานกว้างกว่าแทน (เขายกเลิกการเก็บภาษีมรดกของรัฐ Ohio ไปแล้ว)

หนังสือที่ผู้นำทางการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ควรอ่านก็คือ “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of States" เขียนโดย Arthur Laffer Stephen Moore Rex A. Sinquefield และ Travis H. Brown (Wiley, 2014) ซึ่งช่วยพิสูจน์ว่าในระยะยาวแล้ว รัฐที่ไม่เก็บภาษีเงินได้มีผลงานดีกว่ารัฐที่เก็บภาษีหนัก ทั้งในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจ ประชากร การจ้างงาน รายได้ของประชากร และรายได้ของรัฐบาล

สิ่งที่รัฐต่างๆ กำลังแสดงให้รัฐบาลกลางเห็นอยู่ก็คือการลดภาษีเงินได้ลงจะช่วยทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

คลิ๊กอ่าน Forbes Thailand ฉบับ August 2015 ในรูปแบบ E-Magazine