SCB EIC มอง ‘ยางพาราไทย’ แนวโน้มส่งออกหดตัว 8.8% - Forbes Thailand

SCB EIC มอง ‘ยางพาราไทย’ แนวโน้มส่งออกหดตัว 8.8%

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Feb 2025 | 08:20 AM
READ 100

SCB EIC คาดว่ารายได้อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว จากปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ


    อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายและพึ่งพารายได้จากตลาดโลกในระดับสูง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราแปรรูปอันดับ 1 ของโลก อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้จะรับซื้อผลผลิตยางพาราขั้นต้นจากเกษตรกรต้นน้ำ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลาง เช่น ซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อมาแปรรูปเป็นยางแท่ง เป็นต้น ซึ่ง 77.6% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จะใช้เพื่อการส่งออก

    โดยในปี 2023 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ 28.6% ทั้งนี้ในปี 2023 มูลค่าการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 3,649 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นราว 1.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ

    ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งออกโดยส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควันซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อคิดเป็นสัดส่วนต่อปริมาณการส่งออกทั้งหมดราว 57.9% และ 13.0% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกน้ำยางข้นเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอื่นๆ คิดเป็น 28.4% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด


    ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปต้องเผชิญในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2023 หดตัวสูงถึง 29.3%YOY เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพาราไทยลดลง จากปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดในพืช และความต้องการบริโภคในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการลดระดับการสต็อกสินค้าลง

    อย่างไรก็ดี ในปี 2024 ความต้องการบริโภคของประเทศคู่ค้ากลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอุปทานโลก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ราคาส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30.1%YOY ในขณะที่ปริมาณการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงถึง 38.4%YOY

    ซึ่งราคาและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบธุรกิจยางพาราแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้และกำไรโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 22.9%YOY และ 146.9%YOY ตามลำดับ


    SCB EIC คาดว่ารายได้อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคาปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    สอดคล้องกับราคาและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลง โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 6.7%YOY มาอยู่ที่ 1,608 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากภาวะขาดดุล หรือภาวะที่ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการใช้ในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลายลง ซึ่งเป็นผลมาจาก

    1) ความต้องการยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดยางล้อรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดย SCB EIC คาดว่า GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 1.9%YOY ในปี 2025 จากที่ขยายตัว 2.7%YOY ในปี 2024

    2) ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลงโดยเฉพาะในไทย

    นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 มีแนวโน้มลดลง 2.2%YOY มาอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ มีแนวโน้มเติบโตต่ำ

    ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปลดลงตามไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการมีกลยุทธ์การตั้งราคาแบบบวกจากต้นทุน (Cost Plus Pricing) ซึ่งจะทำให้กำไรโดยรวม (กำไรต่อหน่วยคูณปริมาณการขาย) ปรับตัวในทิศทางเดียวกับปริมาณการส่งออก


    อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปยังต้องเผชิญความเสี่ยง จากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Downside risk) ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด และส่งผลให้ราคาและปริมาณส่งออกยางพาราของไทยลดลงมากกว่าที่คาด

    ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจโลกเติบโตดีกว่าคาด (Upside risk) ก็จะส่งผลให้ราคาและปริมาณส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาดหรืออาจปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้

    ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหากปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโรคในพืชไม่คลี่คลายอย่างที่คาด หรือมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกก็จะไม่ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด ผลักดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้

    ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน โดยเมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต

    ซึ่งกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2025 เป็นตัวอย่างความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นจากกระแสความยั่งยืน โดย EUDR กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้ายางพาราหรือสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไปยังตลาด EU จะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่าจะต้องมาจากพื้นที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า

    ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยคว้าส่วนแบ่งตลาดยางพาราใน EU หรือในประเทศที่ส่งสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไป EU ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการดำเนินการตามระเบียบ EUDR มากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค



บทวิเคราะห์โดย ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)



ภาพ: SCB EIC



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จับตาธุรกิจ 'ขนส่ง-โลจิสติกส์' แข่งขันเดือด! เฉพาะปี 67 มียอดรวมธุรกิจสูง 1.82 แสนล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine