หอการค้าไทย คาดการณ์ปี 68 “วันมาฆบูชา-วันวาเลนไทน์” ทำเงินสะพัดกว่า 5,200 ล้านบาท โดยหากแยกในส่วนของเทศกาล 'วาเลนไทน์' จะมีเงินสะพัดราว 2,700 ล้านบาท ขยายตัวมากสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ 7.2%
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในวันมาฆบูชาและช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ โดยการใช้จ่ายในวันมาฆบูชาคาดมีเงินสะพัด 2,500 ล้านบาทขยายตัว 2.8% เทียบกับปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 4 ปี แม้เป็นอัตราที่ไม่ได้สูงกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณของการจับจ่ายใช้สอยที่ดีเกิดขึ้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังคงตั้งใจไปทำบุญตักบาตร รองลงมาเป็นการเวียนเทียน และไปไหว้พระเหมือนกับในแต่ละปีที่ผ่านๆ มา ส่งผลให้มีค่าเฉลี่ยการค่าใช้จ่ายอยู่ที่คนละ 1,590 บาท
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/GPXSLFA4755Hz6btrNFG.jpg)
สำหรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ปีนี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัด 2,700 ล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ 7.2% ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยค่าใช้จ่ายเฉพาะซื้อของสำหรับมอบให้คู่รัก จำแนกตาม Gen พบว่า Gen X ใช้จ่ายมากสุดเฉลี่ย 1,669 บาทต่อคน รองลงเป็น GenY 1,238 บาทต่อคน และGenZ 617 บาทต่อคน เฉลี่ยรวมคนละ1,200 บาท โดยธุรกิจที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้านขายของขวัญและดอกไม้, ร้านอาหารและคาเฟ่, โรงแรมที่พัก, ร้านไวน์และเครื่องดื่ม รวมทั้ง ช็อกโกแลตและขนมหวาน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการใช้จ่ายด้วยความระมัดระวังเนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวน ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเองก็ยังไม่กระจายทั่วถึง จึงยังไม่สะท้อนต่อการใช้จ่ายมากนัก ดังนั้นจากตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวที่มีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 5,200 ล้านบาท ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.5-0.9%
ภาพ : หอการค้าไทย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC มอง ‘ยางพาราไทย’ แนวโน้มส่งออกหดตัว 8.8%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine