ส่องแนวโน้มสตาร์ทอัพไทย พลังขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ - Forbes Thailand

ส่องแนวโน้มสตาร์ทอัพไทย พลังขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ

บทความที่แล้วได้ปูพื้นถึงที่มาของการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ชาตินวัตกรรม” รวมถึงยุทธศาสตร์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เจิดจรัสในเวทีโลกไปแล้ว แน่นอนว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการขับเคลื่อนอนาคตสตาร์ทอัพไทยแล้ว ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเองต้องเข้าใจเทรนด์ของการสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพของภาครัฐและเอกชน เพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับบริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป อ่านเกมแนวโน้มการลงทุนจากภาคเอกชน แนวโน้มแรกที่จะเกิดขึ้น คือ องค์กรธุรกิจจะหันมาสร้างสตาร์ทอัพเอง โดยมุ่งสร้างสตาร์ทอัพในรูปแบบทำงานร่วมกันมากกว่าแค่การลงทุนเพื่อผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (ธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน        1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า สถาบันการเงินหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์      ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นมาริเริ่มโครงการมากมาย เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย โดยนำจุดแข็งและประสบการณ์ในฐานะคอร์ปอเรตใหญ่มาเสริมจุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยผู้ร่วมก่อตั้งที่มีประสบการณ์และความชำนาญจากบริษัทขนาดใหญ่ และมีอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะหันมาให้ความสำคัญกับผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไร  มากขึ้น หลังจากเคส WeWork ที่ไม่เวิร์กสมชื่อ จนไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ได้  แถมยังตามมาด้วยข้อพิพาทมากมาย ทำให้ Venture Capital ทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนวิธีการประเมินพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ โดยเน้นไปที่การประเมินมูลค่าทางธุรกิจและตัวเลขทางการเงิน เพราะแม้สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหลายตัวสามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ยังมีปัญหาในการทำกำไร สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่หวังจะเห็นผลกำไรแบบก้าวกระโดด เพราะฉะนั้น นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ของสตาร์ทอัพ นอกจากจะมีไอเดียสร้างสรรค์ ยังต้องมีความเข้าใจด้านบัญชีและการเงิน ตลอดจนผลประกอบการของบริษัทอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นที่มาของรายได้ อัตราการทำกำไร ต้นทุนการทำธุรกิจ การควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หรือหากไม่ชำนาญอาจต้องหาผู้รู้มาเสริมทีมเพื่อดูแลการเงินของบริษัท อีกแนวโน้มที่กำลังได้รับความนิยม คือ การควบรวมและรูปแบบ B2B2C ซึ่งสตาร์ทอัพระดับโลกใช้เพื่อสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก แต่ข้อเสีย คือ ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ดังนั้นลำพังสตาร์ทอัพไทยอาจทำได้ยาก ต้องอาศัยการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและรายได้ที่มั่นคง โดยประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้ คือมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้บริการลูกค้าโดยไม่ต้องลงทุนเอง ขณะเดียวกันเพื่ออุดช่องว่างสตาร์ทอัพไทยที่มักทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดการแข่งขันอยู่ในวงแคบและไม่สามารถขยายธุรกิจได้ จึงควรอาศัยการควบรวมธุรกิจเพื่อผนึกพลังกันเติบโตสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก ระดมผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศ ภารกิจหลักของภาครัฐ ในส่วนของภาครัฐเอง แนวโน้มการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ยังคงเน้นไปที่การสร้างผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศ เพราะปัญหาใหญ่สำหรับระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทย คือขาดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ระบบ  อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ๆ มุ่งหาดีลในต่างประเทศ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวครั้งสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะเอ็นไอเอ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ มีการกระจายการพัฒนาและสร้างสตาร์ทอัพรายใหม่สู่ภูมิภาคอย่างจริงจังผ่านกลไกของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งมหาวิทยาลัยในเครือข่าย อุทยานวิทยาศาสตร์ และการสร้างผ่านนวัตกรรมในพื้นที่ ผ่านมา เอ็นไอเอ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนยุวสตาร์ทอัพ หรือ Youth Startup Fund ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่างเอ็นไอเอ กับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ โดยมีเงินทุนให้เปล่ารายละไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท พัฒนาต้นแบบและดำเนินธุรกิจ พร้อมกันนี้ ในฐานะผู้เชื่อมโยงโครงข่ายนวัตกรรมยักษ์ใหญ่ ยังผนึกกำลังกับ Career Visa ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมแหล่งฝึกงานคุณภาพ และข้อมูลที่ช่วยให้นักศึกษาเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกการทำงานจริง และมี    วิสัยทัศน์สอดคล้องกับเอ็นไอเอที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้รับประสบการณ์มากกว่าแค่ในห้องเรียน และ    ตอบโจทย์กับเป้าหมายตัวเอง ทั้งในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร สตาร์ทอัพ หรือการจะก้าวขึ้นมาเป็น      ผู้ประกอบการเอง จึงกลายเป็นที่มาของการสร้างช่องทางที่ทำให้คนรุ่นใหม่จากสถาบันคุณภาพกับ        ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชั้นนำมาเจอกัน ผ่านโครงการ Founder Apprentice ซึ่งเปิดรับสมัครนักเรียนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจนถึงเด็กที่จบใหม่ ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 0–3 ปี มาฝึกงานกับ Tech Startup หรือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมทุกรูปแบบ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการของเอ็นไอเอ ซึ่งต้องการเป็นสะพานเชื่อมทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติ มากกว่าเป็นแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพไทย โดยโรดแมปที่เอ็นไอเอวางไว้ว่าจะต้องไปให้ถึง คือ ภายใน 5 ปี จะมีสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท) ภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะต้องมีธุรกิจด้านนวัตกรรม 3,000 ราย อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มออกเดินทางไปสู่เป้าหมายแล้ว แต่เส้นทางการยกระดับประเทศสู่ประเทศฐานนวัตกรรมยังต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม เพื่อช่วยกันสร้างและนำนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศในทุกมิติให้เกิดขึ้นจริง บทความต่อไป จะชวนไปติดตามผลกระทบจากวิกฤตปี 2020 ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับวงการ  สตาร์ทอัพไทยพร้อมมีวิธีการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่ไม่มีใครเจอมาก่อน
อ่านเพิ่มเติม: เปิดยุทธศาสตร์ NIA เสริมเกราะระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเจิดจรัสในเวทีโลก