เปิดยุทธศาสตร์ NIA เสริมเกราะระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเจิดจรัสในเวทีโลก - Forbes Thailand

เปิดยุทธศาสตร์ NIA เสริมเกราะระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเจิดจรัสในเวทีโลก

ในขณะที่ “นวัตกรรม” กลายเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศทั่วโลกอยากไปให้ถึง เพื่อครองความเป็น      “ชาตินวัตกรรม” รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่อง “นวัตกรรม” มาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง  เมื่อปี 2540 ถึงขนาดมีการตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นมาดูแลและส่งเสริมเกี่ยวกับนวัตกรรมโดยเฉพาะ เพราะเล็งเห็นแล้วว่าทรัพยากรของประเทศมีจำกัด ขณะที่ค่าแรงไม่ได้ถูกไปกว่าคู่แข่ง การต่อสู้ด้วยการปรับปรุงการผลิตแบบดั้งเดิม เช่น การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต ไม่อาจแข่งขันได้ในอนาคตอีกต่อไป จึงผลักดันให้ภาคเอกชนนำนวัตกรรมมาใช้มากขึ้น

ทว่า ที่ผ่านมาภาพของ “นวัตกรรม” ในสังคมไทยอาจจะยังไม่ชัดเจน เพิ่งจะมีการตื่นตัวเมื่อปี 2560 ตอนที่รัฐบาลโปรโมตวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เร่งเครื่องเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมหนักไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ถามว่า ทำไม “นวัตกรรม” ถึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดของโลกยุคนี้

คำตอบ คือ นวัตกรรม หรือการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อก่อให้เกิดคุณค่านี้ ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงจำกัด ระหว่างผู้คิดค้นกับผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศแข่งขันได้ดีขึ้น เติบโต เกิดการสร้างงาน ต่อยอดไปสู่การแก้โจทย์สังคมบางอย่าง หรือยกระดับสังคมให้ดีขึ้น รวมไปถึงการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ฝุ่นควัน    น้ำท่วม ฯลฯ จึงไม่แปลกเลยที่ “ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม” กลายเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ ไม่แพ้ระบบการศึกษา หรือความปลอดภัย

สิ่งที่น่าสนใจ คือ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

แน่นอนว่า มาจากหลากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในกลไกสำคัญที่เข้ามาช่วยผลักดันระบบนวัตกรรมให้เกิดขึ้น  ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง คือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2546 แรกเริ่มมีสถานะเป็นสำนักงานขนาดเล็ก เพื่อให้มีความคล่องตัวสูง และมีประสิทธิภาพในการเป็นพี่เลี้ยงและโปรโมตให้ภาคเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธในการแข่งขันในตลาดโลก

ต่อมาในปี 2552 จึงเปลี่ยนรูปแบบองค์กรมาเป็นมหาชน มีหน้าที่สร้างแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ มีเป้าหมายเปลี่ยนห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) เป็นห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เน้นการสร้างผู้ประกอบการที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ สนับสนุนให้ภาคเอกชนนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาผลิตภัณฑ์

ตลอด 12 ปีบนเส้นทางแห่งการหล่อหลอมระบบนิเวศนวัตกรรม แม้จะไม่ใช่หน่วยงานที่คิดค้นนวัตกรรมเอง แต่ NIA มีบทบาทสำคัญในการฟูมฟักให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติทั้งระดับนโยบาย สาขาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และประชาชน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ท้าทายขึ้นในทุกวัน

3 ยุทธศาสตร์เสริมจุดแข็ง-เติมจุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย 

เพราะคลุกคลีอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพ ทำงานร่วมงานกับภาคเอกชนมานาน ทำให้ NIA รู้จุดแข็งและจุดอ่อนในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ชาตินวัตกรรม” เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของ 3 กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อติดสปีดประเทศชาตินวัตกรรม

เริ่มต้นจากการสร้าง “คน” ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราขาดนวัตกร” ดังนั้น    การพัฒนาคน จึงเป็นสิ่งที่ NIA ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องผ่านหลักสูตรและโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะสำคัญต่างๆ ทั้งกระบวนการคิดและออกแบบนวัตกรรม การประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ การวางแผนธุรกิจและการตลาด รวมถึงการปรับมายด์เซ็ทแบบผู้ประกอบการนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมหน้าใหม่

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อป “STEAM4Innovator” พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมแบบ  เข้มข้น จนเกิดเป็นเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์กว่า 60,000 คน นวัตกรรุ่นเยาว์กว่า 550 คน ผลงานนวัตกรรมที่กำลังต่อยอดธุรกิจมากกว่า 30 ผลงาน โครงการ “Startup Thailand League” เวทีประกวด  ไอเดียนวัตกรรมสำหรับเยาวชนระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัย รวมถึง “Youth Startup Fund” กองทุนสนับสนุนสานฝันธุรกิจให้กับเยาวชน ซึ่ง NIA เตรียมขายผลโครงการเหล่านี้ ลงไปสู่นักเรียนระดับประถมและมัธยม เพื่อกระตุ้นให้เกิด ‘Startup Ecosystem’ ในสถานศึกษา

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่เข้มข้นขึ้น เช่น โครงการ “IDE to IPO” สำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ “PPCL” สำหรับผู้บริหารองค์กรระดับสูง ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ

พัฒนา “คน” แล้ว ลำดับถัดมา คือการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้สตาร์ทอัพและ        ผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทยกล้าที่จะลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา NIA มีการพัฒนากลไกการสนับสนุนเงินทุนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเสนอโครงการเพื่อขอรับทุน สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ไปจนถึงการเชื่อมต่อเครือข่าย    นักลงทุนจากทั่วโลกให้ได้รู้จักกับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเติบโต

ในอนาคต NIA มีแผนพัฒนา “การเงินนวัตกรรม” ให้กระจายไปสู่ระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ซึ่งยังมีผู้ประกอบการนวัตกรรมไม่มากนักและยังมีโอกาสเติบโตได้อีก รวมถึงวงเงินสนับสนุนให้กับกลุ่มนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อย่างธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อสังคมในมิติต่างๆ เช่น นวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก นวัตกรรมบริการภาครัฐ และนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และนวัตกรรมส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น

สุดท้าย คือการพัฒนา “นวัตกรรมข้อมูล” (Data-driven Innovation) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่พูดถึงใน    ต่างประเทศ ด้วยการนำข้อมูล ซึ่งเปรียบเสมือนวัตถุดิบและเครื่องมือชั้นดีสำหรับการสร้างนวัตกรรม สามารถนำไปสู่การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ที่สร้างมูลค่าและสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในมิติต่างๆ ผ่าน 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลนวัตกรรมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เช่น ข้อมูลสตาร์ทอัพ      ผู้ประกอบการนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจดำเนินงานด้านต่างๆ รวมไปถึงการวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังพัฒนา “โปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร” ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์ศักยภาพขององค์กรในภาพรวมของประเทศและอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบและกลไกสนับสนุนจากข้อมูลศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กร สามารถกำหนดแผนงานที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญเพื่อยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น รวมไปถึงการจัดตั้ง “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม” หรือ Innovation Foresight Institute (IFI) เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมในมิติต่างๆ ล่วงหน้า สำหรับนำไปต่อยอดในการกำหนดนโยบายภาครัฐและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

ทั้งหมดนี้ คือบทบาทหลักๆ ของ NIA ในการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทย ซึ่งยังมีข้อจำกัดสำคัญ คือขาดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ๆ มุ่งหาดีลในต่างประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับกระบวนทัศน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเข้าไปเป็นเครื่องมือหลักของการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุคที่ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ประเด็นความท้าทายที่ไม่อาจจะรับมือด้วยกันตั้งรับเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านมา

สำหรับอนาคตของสตาร์ทอัพไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ติดตามได้ในบทความ    ถัดไป