S&P คงสถานะเรตติ้งไทย เตือนลดชั้น หากเสถียรภาพการเมืองแย่กว่าเดิม - Forbes Thailand

S&P คงสถานะเรตติ้งไทย เตือนลดชั้น หากเสถียรภาพการเมืองแย่กว่าเดิม

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Dec 2014 | 10:14 PM
READ 2317
18 ธันวาคม 2557 - Standard & Poor’s ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย แต่เตือนว่าอาจพิจารณาลดระดับเรตติ้่งได้ หากเสถียรภาพทางการเมืองแย่ลงไปกว่า 7 ปีที่ผ่านมา จนกระทบปัจจัยทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ
 
 
สถาบันจัดอันดับความเชื่อถือระหว่างประเทศเชื่อว่า ประเทศไทยจะยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินการคลัง และรับมือกับปัจจัยต่างประเทศได้ดีพอ แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังดำเนินต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
อย่างไรก็ตาม S&P’s อาจ “พิจารณาลดระดับเรตติ้่งได้ หากเสถียรภาพทางการเมืองและของสถาบันต่างๆ ตกต่ำลงไปกว่าสภาพการณ์ที่เป็นมาตลอดทั้ง 7 ปี เราอาจจะลดชั้นความน่าเชื่อถือของประเทศไทย หากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศอ่อนแออย่างมีนัยยะสำคัญ"
 
แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการสร้างความกลมเกลียวในทางการเมือง  S&P's เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้น ส่งผลให้อันดับเครดิตของประเทศเข้มแข็งขึ้น
 
S&P’s แถลงวันนี้ โดยคงเครดิตเงินตราต่างประเทศในระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 ส่วนเครดิตเงินบาทระยะยาวที่ A- ระยะสั้น A-2 โดยยังคงเสถียรภาพต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุผลว่า ประเทศไทยมีงบดุลที่มีความสมดุลสูง ในระบบมีสภาพคล่อง ระดับหนี้ภาครัฐที่ไม่สูงมาก และนโยบายการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหนุนเรตติ้ง โดยช่วยถ่วงสมดุลกับปัจจัยด้านลบ ได้แก่ รายได้ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมือง
 
ความเข้มแข็งที่สำคัญของประเทศคือ สถานะเงินลงทุนจากต่างชาติที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องของเงินตราต่างประเทศในระดับสูง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ที่เข้ามามาก ช่วยสร้างทุนสำรองของประเทศให้สามารถชำระบัญชีเดินสะพัดได้นานถึง 7.3 เดือน ขณะที่หนี้สินต่างประเทศสุทธิอยู่ในระดับปานกลาง ที่ 24% ของ GDP ซึ่งกว่าสองในสามเป็น FDI และเงินลงทุนในตลาดหุ้น 
 
ทาง S&P's คาดหวังว่าตัวชี้สภาพคล่องจากต่างประเทศของไทยจะยังเข้มแข็ง แม้บางขณะอาจลดต่ำบ้าง ส่วนภาคส่งออกได้ช่วยดูดซับความเสี่ยงในภาคการค้าไว้ได้ ขณะที่การปรับโครงสร้างภาคการผลิตยังเดินหน้าต่อไป โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ความต้องการเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของมูลค่าทางบัญชี ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 70% และเงินทุนสำรองจะลดความสามารถในการชำระบัญชีเหลือเพียง 6 เดือน 
 
ด้วยจุดยืนทางการคลังแบบอนุรักษ์จึงมุ่งดำเนินนโยบายเกินดุลในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สินภาครัฐยังอยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่ารัฐบาลที่แล้ว ได้ใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวในปริมาณสูงมาก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย S&P's คาดว่าหนี้สินภาครัฐยังคงทรงตัวในอัตรา 26% ของ GDP ตลอดช่วงสามปีข้างหน้า และประเมินว่ารายได้ภาครัฐราว 7% จะกลายเป็นต้นทุนดอกเบี้ยเพื่อชำระคืนหนี้สินของประเทศ 
 
อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 3% ได้เป็นหลักค้ำยันความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค และช่วยเกื้อหนุนการเจริญเติบโตของประเทศ ขณะที่เสถียรภาพด้านราคาและระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวได้ช่วยรักษาศักยภาพด้านการส่งออก ส่วนการเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง
 
S&P's เชื่อว่า รัฐบาลจะทยอยแบกรับหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งทางรัฐบาลประเมินว่าความเสียหายสูงสุดจะอยู่ที่ 3.8% ของ GDP ปี 2014 
 
นอกจากนี้แล้ว ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้เครดิตประเทศอ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ด้วยวิถีทางนอกเหนือรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 2006 ทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิรูปโครงสร้าง และขัดขวางการใช้จ่ายเพื่อสาธารณูปโภคของภาครัฐ จนเศรษฐกิจต้องชะลอตัว ขณะที่การประท้วงบนท้องถนนก็ส่งผลร้ายต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของประเทศ ทำให้การเติบโตในอนาคตอันใกล้ยังคงอ่อนแอ โดย S&P's ประเมินว่า GDP ในช่วงสามปีหน้าจะเติบโตระดับ 4-5%  และยังคาดว่า GDP ต่อหัวของประชากรในปี 2015 จะมากกว่า 6,000 เหรียญ 
 
"การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้นำความสงบกลับสู่ประเทศ แต่ความแตกแยกในทางการเมืองและทางสังคมกลับยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะเกิดได้เมื่อไร และการเลือกตั้งนี้จะช่วยลดความแตกแยกระหว่างภูมิภาคและชนชั้นได้หรือไม่”


ข่าวอื่นๆ