ROCHE เผย ดัชนีการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล - Forbes Thailand

ROCHE เผย ดัชนีการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Apr 2021 | 11:05 AM
READ 3126

ROCHE เผยข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล และจะดีแค่ไหนหากประเทศไทยสามารถก้าวสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลได้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

ROCHE  เผยข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งจากในอดีต ผู้ป่วยทุกรายที่ป่วยด้วยโรคชนิดเดียวกันจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาตามอาการบนมาตรฐานเดียวกัน (One-size-fits-all approach) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีส่วนปฏิวัติแนวทางการดูแลสุขภาพ ขยายทางเลือกการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคงหนีไม่พ้น การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล   การดูแลสุขภาพรักษาแบบจำเพาะบุคคล คืออะไร? การดูแลสุขภาพรักษาแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalised Healthcare เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางพันธุกรรมและการเจาะลึกความหลากหลายของโรคชนิดต่างๆ ด้วยแนวคิดที่เน้นการเก็บข้อมูลจากพื้นฐานทางสุขภาพและประวัติการรักษาของผู้ป่วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม จนค้นพบว่าถึงแม้ผู้ป่วยแต่ละรายจะป่วยจากโรคชนิดเดียวกันและแสดงอาการเหมือนกัน ก็อาจมีสาเหตุของโรคต่างกัน ดังนั้นการใช้แนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาที่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยแต่ละรายจึงนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะร่างกายของแต่ละคนล้วนมีความต่างด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา แพทย์จึงสามารถพยากรณ์ความเสี่ยงการเกิดโรคบางชนิดในอนาคต วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทั้งยังสามารถเลือกแนวทางการรักษาที่ตอบโจทย์ความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุด ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalised Health Index) ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล จึงเกิดการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดอันดับความพร้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อเร่งพัฒนาการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้กลายเป็นแนวทางพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalised Health Index) ยังสามารถใช้เป็นแนวทางประกอบการกำหนดนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนนำไปต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต ข้อมูลจากดัชนีประเมินความพร้อมของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “Focus Area Country” ร่วมกับมาเลเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวใช้เกณฑ์พิจารณาความพร้อมออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านข้อมูล (3) ด้านบริการ และ (4) ด้านเทคโนโลยี โดยภาพรวมประเทศไทยมีความพร้อมอยู่ในลำดับที่ 7 จากเมื่อเทียบประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศ หากจำแนกตามความพร้อมในแต่ละด้านนั้น ประเทศไทยจะอยู่ลำดับที่ 7 ด้านนโยบาย, ที่ 5 ด้านข้อมูล, ที่ 6 ด้านบริการ และอยู่อันดับรั้งท้ายด้านเทคโนโลยี นอกจากความพร้อมทั้ง 4 ด้านหลักแล้ว หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ในแง่กลยุทธ์ด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalised Health Strategy) ประเทศไทยครองอันดับ 1 ร่วมกับประเทศไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในด้านนโยบาย ประเทศไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา เช่น เรื่องการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 8 และยังต้องการการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสุขภาพที่ดีของประชาชนแปรผันตามปัจจัยทางสังคม เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และความสมบูรณ์ทางโภชนาการ ส่วนด้านการบริการ โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D Expenditure) ของการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ความพร้อมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 เป็นต้น ดังนั้น ผลการศึกษาจากดัชนีดังกล่าวจึงเป็นแนวทางชี้ให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงเสนอแนวทางปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงการดูและสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น การรักษาแบบจำเพาะบุคคลจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมไทยในอนาคต โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโรคมะเร็ง ซึ่งคร่าคนไทยเป็นอันดับต้นๆ มาต่อเนื่องหลายปี ในด้านมุมมองของผู้ป่วย ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้เผยถึงการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลผ่านมุมมองของอดีตผู้ป่วยมะเร็งว่า “มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนและแทรกซ้อน กล่าวคือ เป็นโรคที่รักษายากและมีโอกาสเกิดการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย ทำให้เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบเดียวกันจากแพทย์ก็ไม่ได้แปลว่าแต่ละคนจะตอบสนองต่อรักษาเหมือนกันเสมอไป ในทางกลับกัน แนวทางการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับลักษณะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเฉพาะคน ส่งผลให้ขั้นตอนการรักษากินเวลาสั้นลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติในที่สุด” สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามหรือแพร่กระจายแล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถตรวจยีนที่เป็นต้นเหตุการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ได้อย่างครอบคลุมคราวละหลายร้อยยีนในการตรวจเพียงครั้งเดียว ช่วยให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับแนวทางการรักษาที่ตรงจุด ตอบสนองต่อการรักษาดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างขั้นตอนการรักษา และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงความท้าทายในการปรับใช้และผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลว่า “ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของการตรวจยีน ซึ่งยังตรวจได้เพียงบางชนิด ไม่สามารถตรวจยีนได้พร้อมกัน และในแง่ของการเข้าถึงยามุ่งเป้า ซึ่งทุกวันนี้มีเพิ่มขึ้นหลายชนิด ประสิทธิภาพดีขึ้น ผลข้างเคียงลดลง ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ในระดับโมเลกุล ให้มีความสามารถในการตรวจได้มากขึ้น เข้าถึงได้ทั่วประเทศ และสมควรผลักดันการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลให้เป็นวาระแห่งชาติ และส่งเสริมงานวิจัยด้านการพัฒนาการตรวจนี้ในโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาการรักษาให้มีความก้าวหน้า และที่สำคัญคือการช่วยกันผลักดันให้ยามุ่งเป้าที่จำเป็นในโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทยให้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านการเข้าถึงยาของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ” ปัจจุบัน การตรวจยีนแบบครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ยังไม่กลายเป็นมาตรฐานการดูแลสุขภาพในประเทศไทย ทั้งที่การตรวจยีนแบบครอบคลุมนับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการรักษาแบบจำเพาะบุคลล ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้มีความพร้อมและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน อ่านเพิ่มเติม: โปรตีนทางเลือก … อาหารแห่งอนาคต?
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine