เรนท์สพรี PropTech สัญชาติไทย รุกตลาดอเมริกา รับเทรนด์คนยุคมิลเลนเนี่ยม ดันเช่าบ้านพุ่ง ปี 2564 กวาดรายได้ 300 ล้านบาท หลังปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เจาะตลาดนายหน้า เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกากว่า 750,000 ราย เล็งขึ้นแท่นยูนิคอร์นปี 2567 พร้อมขยายธุรกิจทั่วโลก
จากปัญหาของการไปเป็นนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาของ เอกบุตร สิริศุภางค์ เมื่อ 6 ปีทีแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ “เรนท์สพรี” (RentSpree) แพลตฟอร์มช่วยเหลือการเช่าบ้านแบบครบวงจร ที่ขยายการให้บริการจากรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันครอบคลุม 50 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา กับรายได้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วถึง 300 ล้านบาท กับโอกาสธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันให้ เรนท์สพรี สตาร์ทอัพสัญชาติไทยให้ก้าวสู่ยูนิคอร์นในอีก 2 ปีข้างหน้ากว่าจะเป็น ‘เรนท์สพรี’
ที่ห้องนั่งเล่นของบ้านเช่าแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 เอกบุตร สิริศุภางค์ นักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กับเพื่อนอีก 7 คน ซึ่งรวมถึง Michael Lucarelli ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ที่ติดอันดับ 30 under 30 การจัดอันดับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ในหมวดองค์กรเทคโนโลยีโดย Forbes ในปี 2021 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เรนท์สพรี นั่งขบคิดปัญหาของการเช่าบ้าน ที่ทุกคนได้พบเจอเหมือนๆ กัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทุกคนได้เจอในการหาบ้านเช่าในอเมริกา เป็นปัญหาที่ประหลาด ทั้งความยากในการค้นหาบ้าน กระบวนการที่ล้าหลัง ซ้ำซ้อน โอกาสที่จะหาบ้านเช่าได้มีแค่ร้อยละ 33 และต้องสมัครถึง 3 ครั้งถึงจะหาบ้านเช่าได้ และใช้เวลาอีก 5–7 วันกว่าจะรู้ผล จึงคิดว่าถ้ามีแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จะเป็นโอกาสในการช่วยผู้หาบ้านเช่าได้ และเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย จึงนำเงินลงทุนส่วนตัวราว 5 ล้านบาท เปิดธุรกิจ RentSpree ขึ้น “นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ RentSpree คอนเซ็ปต์ คือการเป็นยูนิเวอร์ซัล แอปพลิเคชั่น เอกสารบ้านเช่าออนไลน์ สามารถดึงข้อมูลจากธนาคารได้ทันที ทั้งประวัติของเจ้าของบ้าน ผู้เช่า นายหน้า ที่ช่วยให้การหาบ้านเช่าได้เร็วขึ้น แต่ช่วง 2–3 ปีแรก ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ พยายามหาเงินทุน ไปแข่งเวทีสตาร์ทอัพที่ไหนก็แพ้ตลอด จึงเลิกหวังกับเงินลงทุน และหันมาปรับโมเดลธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น” เอกบุตรกล่าว เดิม RentSpree เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นช่วยเหลือผู้หาบ้านเช่าเป็นหลัก จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เป็น B2B2C คือการเข้าเป็นพันธมิตรกับองค์กรที่ดูแลธุรกิจจัดหาบ้านเช่า นายหน้า แทนที่จะทำธุรกิจกับผู้เช่าโดยตรง ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้จะช่วยโปรโมตบริการของบริษัทให้เป็นที่รู้จัก และมีคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน “โมเดล B2B2C คือแทนที่เราจะเข้าหาลูกค้าโดยตรง เราก็โปรโมตร่วมกับพาร์ตเนอร์ ใช้พันธมิตรช่วยทำมาร์เก็ตติ้ง โดยที่เราไม่ต้องลงทุน เพราะสตาร์ทอัพไม่ได้มีเงินลงทุนสูง สิ่งที่เราทำคือการให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาโปรดักส์ที่สามารถตอบโจทย์บริการได้อย่างรวดเร็ว” เอกบุตรระบุ จากนั้น เรนท์สพรี เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2563 ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนักลงทุน มูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ปี 2564 ได้รับเงินทุน 8.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการระดมทุนรอบซีรีส์ เอ และปีนี้คาดว่าจะได้รับเงินทุน 17.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2567 จะได้รับเงินลงทุน 85.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้ พร้อมกับแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกาโมเดลธุรกิจรับเทรนด์คนรุ่นใหม่
เอกบุตร กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของเรนท์สพรีสอดรับกับพฤติกรรมของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนยุคมิลเลนเนี่ยน ที่มีการโยกย้ายงานบ่อย การเช่าบ้านตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่มากกว่า ขณะที่ราคาบ้าน อสังหาริมทรพัย์มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ทำให้การซื้อบ้านเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป คือ ต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ สำหรับการทำงาน และการอยู่อาศัยไปในตัว ตลาดบ้านเช่า จึงขยายตัวมากขึ้น ซึ่งในสหรัฐอเมริกาตลาดนี้เติบโตประมาณร้อยละ 3-5 ต่อปี มีมูลค่า 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในส่วนของธุรกิจนายหน้า มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือเจ้าของบ้านต้องหารายได้เพิ่มจากการให้เช่า ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมาก และเป็นตลาดที่เรนท์สพรีให้ความสำคัญ ปัจจุบันเรนท์สพรีมีฐานลูกค้า 750,000 ราย เป็นผู้เช่า 620,000 ราย เป็นเอเย่นต์และเจ้าของบ้าน 130,000 ราย และเป็นพันธมิตรกับองค์กรในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อีกกว่า 200 องค์กร “โมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ ทำให้เรนท์สพรี มีรายรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า โดยในปี 2021 สามารถสร้างรายรับได้ถึง 300 ล้านบาท และสำหรับในปี 2022 นี้ ทางบริษัทฯ ก็ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 600 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งขององค์กร คือทำให้ เรนท์สพรี เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของคนไทยภายในปี 2024” เอกบุตรกล่าวอย่างมุ่งมั่นไทยฐานธุรกิจขยายทั่วโลก
เอกบุตร กล่าวว่า ได้รับเงินทุนมูลค่ากว่า 250 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทำให้เรนท์สพรีกลายมาเป็นสตาร์ทอัพระดับ Series A โดยมี 645 Ventures เป็นกลุ่มนักลงทุนหลักที่รวมลงทุนกับเรนท์สพรีตั้งแต่รอบ Seed Round พร้อมด้วย Green Visor Capital และ Vesta Ventures การได้รับเงินทุนครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ผลักดันให้มูลค่าธุรกิจของเรนท์สพรี สูงถึง 1,600 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเงินลงทุนก้อนดังกล่าวมาพัฒนาธุรกิจให้ไปสู่ระดับโลก รวมถึงขยายทีมบุคลากรในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยเรนท์สพรีได้ตั้งเป้าขยายจำนวนบุคลากรในประเทศไทยจาก 85 คน ให้เป็น 200 คนภายในสิ้นปี 2022 นับว่าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์คนไทย เป็นกุญแจสำคัญที่ต่อยอดแพลตฟอร์ม ให้กลายมาเป็นผู้นำตลาดด้านการเช่าบ้านที่สหรัฐอเมริกาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีทีมงานประมาณ 40 คน ซึ่งจะดูแลการขยายตลาดในแคนาดา ยุโรป เอเชีย เป็นลำดับต่อไป “ในระยะต่อไป เราจะพัฒนาตัวเองเป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับการหาบ้านเช่า ที่มีบริการแบบครบวงจร และพัฒนาโปรดักส์ให้ใช้งานได้สะดวก รวดเร็วขึ้น โดยนำระบบ AI มาใช้ และสามารถเชื่อมต่อระบบได้ทุกประเทศ ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568” เอกบุตรกล่าว และที่มาในประเทศไทยช้า เพราะยังติดปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูล เช่น ประวัติผู้เช่า เจ้าของบ้าน ยังไม่สามารถทำได้ “สำหรับ เรนท์สพรี กลยุทธ์สำคัญที่จะขับเคลื่อน บริษัทฯ ไปสู่เป้าหมายในการก้าวไปสู่ระดับยูนิคอร์นนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ People คนไทยเป็นบุคคลากรที่มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก แน่นอนว่า เรนท์สพรี เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เราจึงต้องการเฟ้นหาบุคลากรคนไทยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเรา เราพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ เดินหน้าสู่เป้าหมายไปพร้อมกับเรา “เรนท์สพรี มุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการเช่าบ้านในระดับโลก เพื่อยกระดับชีวิตของผู้คน ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเชื่อมโยงกันได้มากขึ้นภายในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งเราได้ตั้งเป้าว่าต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ว่า เราได้สร้างสิ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้จริง พร้อมขยายต่อยอดแพลตฟอร์มให้ใช้ได้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในอนาคต” เอกบุตรกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: กรุงศรีฯ เดินหน้าขยายตัวสู่ธนาคารแห่งอาเซียนไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine