บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ PCE เปิดกลยุทธ์ธุรกิจปี 2568 ขยายกำลังการผลิต และเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มให้สามารถใช้ทำช็อกโกแลตแทนโกโก้ได้ ตั้งเป้ารายได้ 30,000 ล้านบาท
พรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (PCE) ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจปี 2568 ว่า บริษัทวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าในธุรกิจการสกัดและการกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมขยายเป็น Bio Complex เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปล่อยของเสีย
รวมถึงให้ความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดน้ำมันปาล์มด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์มที่มีอยู่ เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตันจากเดิม 15,000 ตันต่อปี และส่งออกกะลาปาล์มมากกว่า 100,000 ตันต่อปี
บริษัทวางแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 90 ตัน/ชั่วโมง เป็น 135 ตัน/ชั่วโมง ขยายกำลังการผลิตการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จาก 300 ตัน/วัน เป็น 700 ตัน/วัน ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) เป็น 120,000 ตันในปี 2568 จากเดิมส่งออกปีละ 50,000 ตัน
นอกจากนี้ยังวางแผนลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โดยปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ 800-1,000 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม โดยนำเงินส่วนหนึ่งมาอัพเกรดเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการผลิตปาล์มมีศักยภาพมากขึ้น และขยายกำลังการผลิตน้ำมันสำหรับบริโภค เพื่อขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ และภายใน 3 ปีนี้จะพัฒนาโปรดักต์ใหม่จากน้ำมันปาล์มเพื่อให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น นำมาใช้เป็นส่วนผสมอาหารประเภทช็อกโกแล็ต แทนเมล็ดโกโก้ซึ่งมีราคาสูงและเพาะปลูกยาก
“มีพาร์ตเนอร์คุยกันแล้ว เขามีตลาดค่อนข้างใหญ่ในตลาดโลก เราชำนาญโลจิสติกส์ บริหาร เรามีพาร์ตเนอร์ที่ strong คุณขายและเราหาของในไทยให้”
พรพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและบริการทางออนไลน์ เพื่อตอบสนองอัตราการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน 3% คาดว่าจะทำให้รายได้ปี 2568 เติบโตสู่ระดับ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อนหน้า
“ปี 2568 มีแนวโน้มว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีนและอินเดียยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เราจะขยายกำลังการผลิต เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ และยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม”
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : โลกเปลี่ยน ‘ข้าวไทย’ ต้องปรับ ออกจากกับดักแข่งเป็น ‘เบอร์หนึ่ง’ หันมาต่อยอดสร้างคุณค่ารอบด้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine