Aloke Lohia มหาเศรษฐีวัย 61 ปียังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้ “ไอวีแอล” หรือ IVL ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลก ด้วยเป้าหมายรายได้ 6 แสนล้านบาทภายในปี 2566 และปีที่ผ่านมา (2561) ไอวีแอลขยับใกล้เป้าหมายกับรายได้ 3.5 แสนล้านบาท เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยกลยุทธ์หลัก “รุกซื้อกิจการ”
การสร้างตัวและการเติบโตของ Aloke Lohia ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL (ไอวีแอล) ยังคงโดดเด่นในฐานะผู้นำแห่งการเทกโอเวอร์ โดย 5 ปีก่อนหน้านี้ไอวีแอลลงทุนซื้อบริษัทอุตสาหกรรมจากหลายประเทศ ใช้เม็ดเงินไปราว 2.5 พันล้านเหรียญ (8 หมื่นล้านบาท) กระจายซื้อหลายบริษัท กระทั่งปัจจุบันไอวีแอลมีโรงงานทั่วโลกถึง 101 แห่ง ใน 31 ประเทศ
ทุกวันนี้ไอวีแอลยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยการซื้อกิจการ ซึ่งการลงทุนครั้งล่าสุดถือเป็นดีลการซื้อใหญ่ที่สุดเท่าที่ไอวีแอลเคยลงทุนในคราวเดียว หลังได้มติจากคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 อนุมัติให้ไอวีแอลลงทุน 2 พันล้านเหรียญ (กว่า 6 หมื่นล้านบาท) ในการเข้าซื้อธุรกิจและสินทรัพย์บางส่วนจาก Huntsman Corporation ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการผลิตออกไซด์แบบบูรณาการ (Integrated Oxides) และอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์หลัก เช่น Ethylene Oxide (EO), Propylene Oxide (PO), Glycols, Ethanolamines (EOA), สารลดแรงตึงผิว (Surfactants), Linear Alkylbenezene (LAB) และ Methyl Tertiary-butyl Ether (MTBE)
Huntsman มีโรงงาน 5 แห่งใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย โรงงาน Port Neches, โรงงาน Dayton และโรงงาน Chocolate Bayou ในรัฐ Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงงาน Botany ในรัฐ New South Wales ประเทศออสเตรเลีย และโรงงาน Ankleshwar ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังรวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาสิทธิบัตรและเทคโนโลยีบางส่วน
ดีลใหญ่นำสู่การเปลี่ยนแปลง
“การลงทุนครั้งนี้มาจากหลายเหตุผล เป็นเรื่องราวที่เราทำต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นที่ไอวีแอลเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ทำขวดพลาสติก PET ต่อมาเราขยายทำแวลูเชน PTA (Purified Terephthalic Acid) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน” Lohia ซีอีโอไอวีแอลตอบคำถามแรกถึงแรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่สุดในการซื้อธุรกิจ Huntsman ครั้งนี้
เขาบอกว่ากิจการของ Huntsman จะมาต่อยอดธุรกิจตามเป้าหมายที่ไอวีแอลต้องการคือ Integrated Oxides หรือการผลิตออกไซด์แบบบูรณาการซึ่งจะเอื้อในการผลิตสินค้าจำเป็นในกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง 90% เป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู สบู่ ฯลฯ
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ ซีอีโอชาวอินเดียผู้บุกเบิกสร้างการเติบโตไอวีแอลไทยให้เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกผู้นี้ได้เขียนแผนภาพการเติบโตในเป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้า (2562-2566) ของไอวีแอลว่าจะค่อยๆ เปลี่ยนสัดส่วน EBITDA ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไอวีแอลดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี 2566 ไอวีแอลจะมีรายได้ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 6 แสนล้านบาท) ถึงเวลานั้นสัดส่วน EBITDA จากพลาสติก PET จะลดเหลือ 40% อีก 60% จะไม่ใช่พลาสติก
การเปลี่ยนสัดส่วน EBITDA จากดีลใหญ่ครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อไอวีแอลและ Huntsman นำสินทรัพย์มารวมกันซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ EBITDA ในส่วนพลาสติก PET จาก 55% ลดเหลือ 44%, Integrated Oxides จาก 16% จะเพิ่มเป็น 28%, ไฟเบอร์ จาก 15% จะลดเหลือ 12%, เคมิคอล จาก 11% เพิ่มเป็น 14% ขณะที่แพ็กเกจจิ้ง จาก 3% ยังคงรักษาที่ 3% เช่นเดิม
“ปี 2561-2566 เรามีคำมั่นเรื่องการลงทุน 5 พันล้านเหรียญ (กว่า 1.5 แสนล้านบาท) กับ Huntsman ใช้ไปแล้ว 2 พันล้านเหรียญ (กว่า 6 หมื่นล้านบาท) ส่วนที่เหลือเราจะลงทุนในเรื่องการรีไซเคิลพลาสติก PET เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้มากที่สุด เราจะลงทุนอีก 1 พันล้านเหรียญ (กว่า 3 หมื่นล้านบาท) สำหรับการรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลก เรามีโรงงานรีไซเคิลทั่วโลกและจะเพิ่มการลงทุนโรงงานรีไซเคิลในทุกตลาด ไม่เฉพาะ mission EU 2025 ที่จะกำหนดให้ต้องรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้ง 25%” ซีอีโอ
ไอวีแอลยืนยันเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจพลาสติก PET ที่ต่อยอดเรื่องความยั่งยืนด้วยการลงทุนโรงงานรีไซเคิลในทุกพื้นที่ ซึ่งเขาบอกว่าเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทจะลงทุนได้ราว 30 แห่ง จากปัจจุบันไอวีแอลมีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกอยู่ 11 แห่ง จะเพิ่มอีก 30 แห่งภายในปี 2566
กำไร IVL โตเท่าตัวต่อเนื่องทุก 5 ปี
บิ๊กบอสสอินโดรามาฯ ยังกล่าวด้วยว่า การซื้อกิจการ Huntsman ครั้งนี้ทำให้สเกลธุรกิจของไอวีแอลใหญ่ขึ้น และในอนาคตเหตุผลที่ไอวีแอลจะปรับสัดส่วนธุรกิจพลาสติก PET จาก 55% เหลือ 40% และธุรกิจ Integrated Oxides จาก 16% ไป 28% ก็เนื่องจาก Integrated Oxides จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผันผวนน้อยกว่า “การลงทุนครั้งนี้จะเห็นว่าเราขยายหลากหลายมากกว่าบริษัทเคมีภัณฑ์อื่นๆ” เป็นแง่มุมการเติบโตที่ผู้บริหารไอวีแอลต้องการชี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
“การเดินทางของเรา EBITDA เพิ่มเท่าตัวทุก 5 ปี จากปี 2551 เรากำไร 100 ล้านเหรียญ (3 พันล้านบาท) ในปี 2557 กำไร 700 ล้านเหรียญ (2.1 หมื่นล้านบาท) ปี 2561 กำไร 1.5 พันล้านเหรียญ (4.5 หมื่นล้านบาท) ในปี 2566 เป้าหมายเรากำไร 3 พันล้านเหรียญ (9.1 หมื่นล้านบาท) โตดับเบิลทุก 5 ปี” เป็นผลประกอบการและเป้าหมายในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเขามั่นใจว่าจะทำได้ ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนด้วยการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งหัวใจสำคัญของการซื้อกิจการของไอวีแอลทุกครั้งจะซื้อทั้งกิจการและทีมงานเข้ามาด้วยกัน ทำให้องค์กรนั้นๆ เดินหน้าธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยไอวีแอลจะดูแลเพียงแนวทางเท่านั้น
ปัจจุบันกิจการต่างๆ ที่ไอวีแอลลงทุนกระจายอยู่ใน 31 ประเทศ มีจำนวน 101 โรงงาน พนักงาน 19,581 คน รายได้จากการขายรวมในปี 2561 อยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ (กว่า 3 แสนล้านบาท) ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ Huntsman ทำให้เพิ่มจำานวนพนักงาน 1,200 คน และจำนวนโรงงานอีก 5 โรงงานใน 3 ประเทศ เรียกได้ว่ากระจายการลงทุนไปในหลายภูมิภาคของโลก ธุรกิจในกลุ่มไอวีแอลยังคงเติบโตแม้โลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แม้กระทั่งสงครามการค้าที่สองประเทศมหาอำนาจกำลังต่อสู้กันในปัจจุบันก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการในกลุ่มไอวีแอล ซึ่ง Lohia ย้ำว่า “เราเป็น global corporate ที่ทำ local business” หมายความว่าทุกโรงงานที่ไอวีแอลมี ล้วนทำกิจการในภูมิภาคนั้นๆ ไม่ได้ผูกติดกับการค้าโลก กระนั้นเขาก็ประเมินความเสี่ยงในการลงทุนตลอดเวลา
ออกหุ้นกู้ใหม่ 9 พันล้านบาท
หลังสัมภาษณ์ราว 2 สัปดาห์ ไอวีแอลก็เริ่มกิจกรรมเพื่อการลงทุนระลอกใหม่ด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้โดยบริษัทย่อยจำนวน 300 ล้านเหรียญ (กว่า 9 พันล้านบาท) ผ่านบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส โกลบอล เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ (Senior Unsecured Bonds) ให้แก่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีการจัดอันดับเครดิตและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งได้รับการค้ำประกันโดยบริษัทมีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.375% ต่อปี
การเดินทางบนถนนสายนักลงทุนของอินโดรามาฯ เริ่มต้นอีกครั้ง และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบเท่าที่เป้าหมายบริษัทยังคงมีไว้เพื่อก้าวไปให้ถึงรายได้ 6 แสนล้านบาทใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งคงไม่ไกลเกินเอื้อม
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง