ชวนทาลิปสติก "สีส้ม" รณรงค์ยุติความรุนแรง กับแคมเปญ #HEARMETOO สหประชาชาติเผยผู้หญิง 1 ใน 3 คนทั่วโลกเคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต
องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือ WPP Marketing Communications เปิดตัวแคมเปญ “ยุติความรุนแรงทางเพศ #HEARMETOO หรือ #มีอะไรจะบอก รณรงค์การยุติความรุนเเรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย กระตุ้นให้ทุกคนร่วมเป็นกระบอกเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย
มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการงานสื่อสารองค์กร UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากสถิติของ UN Women พบว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 คนทั่วโลกและไทยนั้น มีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต
โดยในปี 2013 พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ตกอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 87 รายต่อวัน และยังพบว่า 83% ของการทำร้ายมาจากบุคคลใกล้ตัว ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่าในปัจจุบัน (ปี 2018) พบว่าความรุนแรงนั้นไม่มีการลดลงเลยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
"สถิติในภาพรวมพบมีความรุนเเรงมากขึ้นทุกปี อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ถูกกระทำมีความกล้าที่จะออกมาประกาศความจริงเพิ่มขึ้น เเต่ทุกวันนี้สังคมก็ยังฟังไม่พอ เเละยังฟังเเบบมีอคติ"
มณฑิรา ขยายความว่า ที่ผ่านมาเป็นปัญหาอย่างมากด้วยผู้เสียหายจะถูกทำให้ไร้ตัวตนหรือถูกทำให้เป็นฝ่ายผิด เเละมักจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมเเต่งตัวเเบบนั้น พาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นทำไม ทำให้การกล้าออกมาพูดความจริงนั้นต้องโดนว่าร้ายจากสังคม ทั้งๆที่ไม่ใช่คนกระทำผิด ที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ แฮชแท็ก #Metoo เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ และเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก
"ความรุนเเรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับการศึกษาใด รวยหรือจน อายุน้อยหรือมาก ดังนั้นสังคมต้องช่วยเหลือกันป้องกันเเละยุติความรุนเเรงเหล่านี้"
ขณะที่เมื่อถามถึงอิทธิพลของสื่อที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนเเรงในเชิงลบ โดยเฉพาะการพาดหัวข่าวในปัจจุบันนั้น มณฑิราเเสดงความคิดเห็นว่า สื่อไทยยังคงเน้นไปที่พาดหัวที่รุนเเรง ใช้คำบรรยายรายละเอียดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม เเละพุ่งตรงไปยังผู้ถูกกระทำ เช่นการใช้ภาพของผู้ถูกกระทำ เเต่ไม่นำเสนอภาพของคนที่ทำผิด บางเเห่งเปิดเผยชื่อจริงเเละที่อยู่ของผู้เสียหายทั้งหมด โดยสื่อควรปรับทัศนคติของสังคมที่มองผู้หญิงว่าเป็น "เหยื่อ" ให้กลายเป็น "ฮีโร่" ที่กล้าหาญจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมเเละความเสมอภาค
ด้าน อารีวรรณ จตุทอง หรืออ้วน อดีตรองนางสาวไทยอันดับ 2 ปี 1994 ผู้เคยถูกกระทำความรุนแรงสู่การเป็นนักสิทธิสตรีมากว่า 20 ปี กล่าวว่า ข้อมูลผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว ที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีถึง 20,000 กว่าคนต่อปี แต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพียง 2,000-3,000 คนต่อปี และจบด้วยด้วยคำพิพากษาของศาลเพียง 200-300 คดีต่อปี
"เป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบร่วมกันว่า เรื่องฟ้องร้องที่หายไประหว่างทางตั้งเเต่พนักงานสอบสวน อัยการ และศาลกว่าหมื่นคดีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างการหายไปเพราะกลัวคดีความ กลัวการให้การซ้ำเเล้วซ้ำอีกซึ่งสะเทือนใจมาก หรือการออกไปเผชิญหน้าผู้คน โดยส่วนตัวเห็นว่าความรุนเเรงไม่ควรปล่อยให้ไกล่เกลี่ยยอมความ”
อารีวรรณ กล่าวอีกว่า เเม้จะมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทํารุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ออกมาบังคับใช้จริงเเล้ว เเต่ทัศนคติของคนในสังคมต้องเปลี่ยนไปด้วย ต้องปลูกฝังทั้งหญิงชายว่าความรุนเเรงต่อกันไม่ใช่เรื่องปกติ และต้องบรรจุอยู่ในการเรียนการสอน เพราะตลอด 20 ปีที่รณรงค์ปกป้องสิทธิสตรีมา ปัญหานี้ก็ยังดำเนินไปเหมือนเดิมเเละมากกว่าเดิม
"คนเราต้นทุนไม่เท่ากันก็จริง เเต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกคนมีต้นทุนเพียงพอที่จะลุกขึ้นมาสู้ได้"
ขณะที่ ธารารัตน์ ปัญญา หรือนุ่น นักศึกษานิติศาสตร์ ผู้ที่เคยถูกรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยล่วงละเมิดทางเพศเเล้วกล้าที่จะออกมาเปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย จนเป็นกระเเสที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นว่า "อยากให้เหยื่อลุกขึ้นมาพูด ไม่ใช่ปล่อยเงียบ เราจะอายทำไมคนทำผิดสิที่ต้องอาย"
โดยในวันนี้ เธอได้เล่าถึงการก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากที่ต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ว่า ต้องขอบคุณคนรอบตัวเเละครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้างเสมอมา เเละขอบคุณพลังในตัวเองที่ทำให้กล้าสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เธอก็พร้อมที่จะส่งพลังความกล้าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมเป็นเรื่องยาก เเต่ต้องทำไปเรื่อยๆ
"เราไม่ได้ผิด ไม่ต้องอาย ขอจงรู้ไว้ว่าผู้หญิงทุกคนมีพลังในตัวเอง การเเชร์เรื่องราวการถูกล่วงละเมิดให้สังคมได้รู้ จะนำไปสู่การตระหนักเเละเเนวทางจัดการ ช่วยเหลือกับเรื่องนี้ นี่จึงไม่ใช่การเเค่ต้อสู้เพื่อตัวเอง เเต่เราต้องการช่วยเหลือผู้หญิงทุกคนที่ต้องเจอเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้"
ด้าน นันทิยา ภูมิสุวรรณ ผู้เเทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เธอเป็นผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่เคยถูกกระทำความรุนแรงเเละผันตัวมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า การที่จะก้าวผ่านเรื่องราวร้ายๆมาได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความเข้าใจจากครอบครัวเเละคนใกล้ชิด เเละมูลนิธิฯก็ช่วยเหลือให้เธอสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงอยากจะให้ทุกคนที่มีปัญหาเเละกำลังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิต ได้ลองมาปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
สำหรับแคมเปญ #HEARMETOO มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ผู้หญิงไทยกล้าที่จะบอกเล่าประสบการณ์การประสบความรุนแรงในอดีต หรือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
โดยในช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้ ด้วยเป้าหมายหลักคือ การปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการนำเสนอประเภทของความรุนแรง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence)
ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical Violence)
ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Violence)
ความรุนแรงในบริบททางเศรษฐกิจ (Economic Violence)
โดยแคมเปญประกอบไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เช่น
การรณรงค์ทาลิปสติกสีส้ม โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #HEARMETOO #มีอะไรจะบอก ทั้งเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าที่จะพูดและบอกเล่าประสบการณ์ของตน พร้อมสะท้อนทัศนคติที่เป็นส่วนช่วยให้เธอก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายในอดีตซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทย โดยสามารถร่วมกิจกรรมรณรงค์ทาลิปสติกสีส้ม ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้
พาดหัวข่าวใหม่ (Disruptive News Headlines) โดย UN Women ได้จับมือกับเว็บไซต์ MThaiในการเปลี่ยนหัวข้อข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในเชิงลบให้กลายเป็นหัวข้อข่าวใหม่ในเชิงบวก เพื่อปรับทัศนคติของสังคม ที่มองผู้หญิงว่าเป็น “เหยื่อ” ให้กลายเป็น “ฮีโร่” ที่กล้าหาญ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมกิจกรรม “พาดหัวข่าวใหม่” ผ่านการแชร์บนโซเชียลมีเดีย ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้
Immersive 360-Degree Experience แคมเปญ #HEARMETOO ยังได้สร้างสถานการณ์จำลองความรุนแรงขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 360 องศา ผ่านเว็บไซต์ของแคมเปญ โดยมีภาพเคลื่อนไหวและเรื่องราวประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง เพื่อให้ผู้ชมได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์จริง ที่ 1 ใน 3 ของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลกเคยเจอ พร้อมทั้งเข้าใจถึงความรู้สึกของเธอณ สถานการณ์นั้น สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้ที่ เว็บไซต์ www.hearmetoo.or.th
ภาพยนตร์สั้นออนไลน์ #HEARMETOO ถ่ายทอดผ่านมุมมองของอารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทย ผู้ที่เคยผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเธอได้ผันตัวเองเป็นนักกฎหมาย และผู้ร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิสตรีมานานกว่า 20 ปี โดยภาพยนต์สั้นนี้จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.hearmetoo.or.th เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงไทยทุกคน ให้มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน เเละภาพยนตร์เสียง 3 ชุด ที่จะสะท้อนความรุนแรงจากเหตุการณ์จริงของตัวแทนผู้ร่วมรณรงค์