ETDA เปิดโมเดล Green e-Commerceเพื่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยอย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

ETDA เปิดโมเดล Green e-Commerceเพื่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยอย่างยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2016 | 07:33 PM
READ 3903
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ETDA กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดโมเดล ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ Green e-Commerce เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 400 รายในรุ่นแรก เป็นเวลา 2 เดือน

“สำหรับเราผู้ประกอบการเปรียบได้กับ “ต้นกล้า” ที่รอวันเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงในระบบอีคอมเมิร์ซ โครงการ Green e-Commerce คือกิจกรรมที่เราตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้การดูแล สนับสนุน รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการ และร้านค้าสามารถดำเนินธุรกิจในโลกออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน” ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA กล่าว

จากผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ มี 3 ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายปั่นธุรกิจออนไลน์จนเติบใหญ่ในปัจจุบัน มัทนี วงศ์ศิ, สุชาดา สุจริตศรีชัยกุล, ธนชาติ เจนสาธิต ร่วมเปิดเผยความสำเร็จ

“ส่วนตัวแล้วมองว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีผลกับชุมชนและสังคมที่เราอยู่อย่างมาก เพราะมีเม็ดเงินเข้ามาสู่ธุรกิจของเรา กระจายไปยังช่างเย็บ ช่างทอ เกิดการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในชุมชนมากขึ้น โดยทุกธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเป็นอีก 1 ช่องทางในการตัดสินใจของคนซื้อ” มัทนี วงศ์ศิริ เจ้าของกิจการ “ผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่”

สำหรับเธอถือเป็นหน้าใหม่ในวงการเสื้อผ้าไทย แต่ด้วยรักในมรดกแห่งท้องถิ่นภูมิปัญญาของช่างทอชาวอีสาน จังหวัดอุดรธานี และต้องการพาแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้ในช่วงเวลาอันสั้น จึงอาศัยช่องทาง e-Commerce "โชคดีที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Green e -Commerce ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ เพราะได้ทั้งความรู้และแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดออนไลน์แนะนำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและกลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นเป็น 200% ต่อเดือน"

ด้าน ธนชาติ เจนสาธิต ผู้จัดการ บริษัท SUIT ON-LINE GARMENT จำกัด กล่าวถึงการโดดเข้าสู่โลก e-Commerce ไว้ว่า "การทำอีคอมเมิร์ซไม่ต่างอะไรกับการวิ่งมาราธอน ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง หมั่นสร้างมาตรฐานให้สูงขึ้นและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จากประสบการณ์ตัดเย็บเสื้อสูทมากว่า 40 ปี ในชื่อ โรงงานเสื้อสูททีเอ็มที การ์เม้นท์ เมื่อ 5 ปีที่แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างไม่รีรอ"

ซึ่งความน่าเชื่อถือในการโอนเงินคือปัญหาใหญ่ของธุรกิจ e–Commerce การตัดสินใจพัฒนาระบบชำระเงินเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

"ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวสินค้าและรูปแบบการขายทางออนไลน์อย่างมาก เพราะโลกออนไลน์ เปลี่ยนไปเร็วมาก เราคือร้านสูทร้านแรกในประเทศไทยที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่วันนี้มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมายในตลาดออนไลน์ เราจึงหยุดพัฒนาไม่ได้ ทั้งเรื่องการตลาดออนไลน์ การปรับปรุงเว็บไซต์ การพัฒนาระบบชำระเงิน การพัฒนาระบบสมาชิก” ธนชาติ เจนสาธิต กล่าว

ด้าน สุชาดา สุจริตศรีชัยกุล เจ้าของกิจการ Subtawee Goldsmiths เชื่อว่า “คิดก่อนเราก็เป็นผู้นำ คิดแตกต่าง เปิดตลาดใหม่ ยอดขายก็จะโตตามมา” การลุกขึ้นมาก้าวสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากการขายแค่หน้าร้านแบบเดิมๆ จึงเป็นความท้าทาย

"ตอนแรกไม่คิดจะทำเลย เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากมากในการขายทองซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูง ไม่คิดว่าจะมีใครซื้อออนไลน์ แต่ปกติจะถ่ายรูปสินค้าสวย ๆ ที่มาใหม่เก็บไว้ ให้ลูกค้าหน้าร้านดูถ้าสนใจอยากสั่งทำ จนไปเห็นใน Facebook มีร้านขายทองทางออนไลน์โดยที่ส่วนมากเป็นสินค้าราคาไม่สูง ครึ่งสลึง หรือ 1 สลึง เราจึงเกิดไอเดียทำ Facebook ร้านขึ้นมาโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะขายได้ แค่เอารูปสินค้าที่ถ่ายสวยๆ ลงไปโพสต์ให้คนดู สลับกับสินค้าราคาเบาๆ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อทอง จนมีคนซื้อจริงๆ และก็เติบโตจาก 10% ในช่วงแรกๆ เป็น 30% ในปัจจุบัน หลังเข้าร่วมโครงการ Green e-Commerce ก็ขยับเพิ่มอีก 70%”