EDL-Gen หาพันธมิตรลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าลาว - Forbes Thailand

EDL-Gen หาพันธมิตรลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าลาว

EDL-Gen เปิดแผนยุทธศาสตร์ก้าวสู่ผู้นำพลังงานสะอาดภูมิภาคอาเซียน พร้อมเปิดรับพันธมิตร ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในลาว ตั้งเป้าปี 2572 เปิด 42 โครงการ กำลังการผลิต 2,435 เมกะวัตต์ ชี้เทรนด์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม โควิดไม่กระทบผลการดำเนินงาน

บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือรัฐบาล สปป.ลาว และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว เปิดแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน สปป.ลาว เป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน หรือ แบตเตอรี่ของอาเซียน พร้อมเปิดกว้างหาพันธมิตรเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ใน สปป.ลาว เปิดเผยว่าได้วางวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มั่นคงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว โดยบริษัทฯ จะนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากว่า 50 ปี ในการจัดหา ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานทางเลือกที่สะอาด ยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อน สปป.ลาว ให้เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน สอดรับเทรนด์ของโลกในการพัฒนาพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Energy ทั้งนี้ การพัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ EDL-Gen ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐาน ISO14001 จากการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาด ผ่านเขื่อนที่มีกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลา หรือ Run-off-the-river จึงไม่กระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รวมถึงคุณภาพชีวิตสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขง และควบคุมเสียงไม่ให้กระทบต่อชุมชน ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนใน สปป.ลาวที่ดี "เรามีเป้าหมายผลักดัน สปป.ลาว ให้เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้อนความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งนำความเชี่ยวชาญมาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำ ยั่งยืน และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกระแส Green Energy ของโลก โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มาผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน" ดวงสี ระบุ
ดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน)
หาพันธมิตรลุยโรงไฟฟ้า 42 โครงการ ดวงสี กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2572 จะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,435 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ EDL-Gen ลงทุนและพัฒนาโครงการเอง รวม 18 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 974 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการร่วมทุนกับ IPP จำนวน 24 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้นรวม 1,461 เมกะวัตต์ ช่วยผลักดันการดำเนินงานของ EDL-Gen ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนับสนุน สปป.ลาว ผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2563 EDL-Gen มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,949 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 1,683 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 699 เมกะวัตต์ และโครงการร่วมภาคเอกชน (IPP) จำนวน 16 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้น 984 เมกะวัตต์ โดยไทยเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของ EDL-Gen ที่มีสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Genสูงถึง 42% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการที่สำคัญของอุตสาหกรรมไฟฟ้าใน สปป.ลาว โดยกระทรวงพลังงานแห่งชาติลาวได้จัดตั้งบริษัทสายส่งแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อโครงการสำเร็จจะทำให้ระบบการขนส่ง ระบบการลำเลียงจะดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าระบบขนส่งของสปป.ลาว ยังมีความอ่อนแอ ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงบางช่วง ซึ่งหลังจากนี้ไปอุตสาหกรรมไฟฟ้าในลาวจะมีครบทั้งการผลิต ขนส่ง และจำหน่าย เป็นอาเซียน พาวเวอร์กริดรองรับการเติบโตของภูมิภาคได้อย่างมั่นคง “ขอย้ำว่าพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ถูกและยั่งยืน อยากเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนร่วมกัน เพื่อพัฒนาแหล่งไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูก เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้น ทุกๆ การลงทุน ทุกๆ เม็ดเงิน EDL-Gen จะรับผิดชอบอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อรองรับแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งการพัฒนาเติบโตเท่าไหร่ การใช้ไฟฟ้าจะเติบโตตามไปด้วย แต่ต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล” ดวงสี กล่าว
วันแสง วันนะวง รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน
ศักยภาพการผลิตรวม 30,000 เมกะวัตต์ วันแสง วันนะวง รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EDL-Gen กล่าวว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2573 สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 21,000 เมกะวัตต์ จากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศที่คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ในระยะยาว รวมถึงนโยบายของภาครัฐยังเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระร่วมลงทุน จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทภาคเอกชนไทยเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ บริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณร้อยละ 17  โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตใช้ในประเทศร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งตลาดเวียดนามกำลังขยายตัวสูง เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทมีสัญญาซื้อไฟกับบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคนี้เป็นระยะเวลา 25-30 ปี ถือเป็นธุรกิจระยะยาว ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ไม่กระทบกับผลประกอบการในปี 2020 เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 55 ครัวเรือนร้อยละ 28  และอื่นๆ ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวม 8.2 หมื่นล้านบาท และมีแผนนำเสนอขายหุ้นกู้ในประเทศไทย เพื่อนำไปลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยแต่ละประเทศมีแผนบริหารจัดการด้านความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เป็นจำนวนมาก โดยจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) ประเทศไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้อีก 3,000 เมกะวัตต์ และจะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ อีก 500 เมกะวัตต์ อ่านเพิ่มเติม: วชิราวุธวิทยาลัย เสนอที่ดิน 6 ไร่บนถนนราชดำริให้เช่าระยะยาว
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine