All the world's a stage,
And all the men and women merely players.
They have their exits and their entrances,
And one man in his time plays many parts…
โลกนี้ คือละครโรงใหญ่
ชายหญิงไซร้ เปรียบตัวละครนั่น
ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน
คนหนึ่งนั้น ย่อมเล่นตัวนานา...
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมทักทายท่านด้วยบทพูดท่อนหนึ่งจากบทละครเรื่อง As You Like It ของ William Shakespeare และคำแปลเป็นไทยในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง ตามใจท่าน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อให้เหมาะกับเรื่องเด่นประจำฉบับนี้ นั่นคือ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และภาพยนตร์
อุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 3 หมื่นคน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2543 (อ้างอิงจากรายงานของ กลต. มี.ค. 2557) ทว่ามีผู้เล่นอยู่น้อยรายทั้งในธุรกิจโรงภาพยนตร์ และสร้างภาพยนตร์
หนึ่งในผู้เล่นหลักที่มีบทบาทในธุรกิจโรงภาพยนตร์มากว่า 5 ทศวรรษ คือ ตระกูล “พูลวรลักษณ์” นับตั้งแต่ที่เปิดโรงภาพยนตร์แรกของครอบครัวเมื่อปี 2504 สมาชิกในครอบครัวจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ต่างผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเกี่ยวข้องในธุรกิจตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา
เราหยิบเรื่องราวของ 3 ตัวละครเด่นของตระกูลมานำเสนอ ได้แก่ วิสูตร วิชัย และวิชา สองคนแรกไปจับมือกับต่างชาติทำโรงหนังสมัยใหม่จนเป็นผู้นำตลาด แล้วคนที่สามมาทำแข่ง แล้วเข้าซื้อกิจการและขยายต่อเนื่องจนกลายเป็นเจ้าตลาดโรงหนัง ส่วนคนที่หนึ่งหันไปสร้างหนังจนสร้างสถิติทำรายได้สูงสุดหลายเรื่อง ด้านคนที่สองก็หันไปทุบโรงหนังเก่าของครอบครัว มาสร้างโรงแรม และคอนโดมิเนียมแทน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
นอกจากนี้ เรายังนำเรื่องราวของมวยรองในตลาดโรงภาพยนตร์ คือ ครอบครัว “ทองร่มโพธิ์” เจ้าของเครือโรงภาพยนต์ เอสเอฟ มาเสนอเรื่องราวการต่อสู้นับแต่วัยหนุ่มของสองพ่อลูก และชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานของหญิงสาว ผู้หันกลับมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจงานวัดของครอบครัวที่เธอคลุกคลีมาแต่เด็ก ผสมความทันสมัยและกลิ่นอายของอดีตให้เป็นอีเวนต์แห่งศตวรรษที่ 21
ขอให้เรื่องราวการต่อสู้และความสำเร็จของคนในธุรกิจบันเทิง เป็นแรงบันดาลใจสร้างความสำเร็จแก่ท่านผู้อ่านในทุกธุรกิจครับ
นพพร วงศ์อนันต์
Editor-in-Chief
FORBES THAILAND
OCTOBER 2014
OCTOBER 2014