Digital Economy - Digital Contents - Forbes Thailand

Digital Economy - Digital Contents

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Jul 2015 | 04:55 PM
READ 6262
โดย สุรางคณา วายุภาพ 
ความเข้าใจในวงกว้าง เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy คือรูปแบบการขับเคลื่อนธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดสามารถในการ แข่งขัน ไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ สินค้า และการบริการ ขณะที่ช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการเข้าสู่ตลาด (time to market) ของผู้ประกอบการ และของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ธุรกิจการผลิตดิจิทัล คอนเทนท์ (Digital Content) หนึ่งในอุตสาหกรรมเปี่ยมศักยภาพที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการเติบโต อย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบภายใต้แผนเศรษฐกิจดิจิทัล  ที่ผ่านมา มีการประเมินว่า ดิจิทัล คอนเทนท์ คือธุรกิจที่น่าจะก่อ ให้เกิดรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ หากแต่ยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขอย่างชัดเจนว่ามูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้เป็น อย่างไร และที่สำคัญยังไม่ได้มีการระบุ หรือกำหนดอย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมธุรกิจการผลิตคอนเทนท์ใดบ้าง

หากใช้บริบทของต่างประเทศเป็นตัวกำหนด ดิจิทัล คอนเทนท์ ไม่ได้หมายถึงอุตสาหกรรมการผลิตแอนิเมชั่น หรือเกมออนไลน์เพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ และอื่นๆ เมื่อมีการกำหนดแผนเศรษฐกิจดิจิทัล จึงมีการหาข้อมูลของมูลค่ารวมของทั้งอุตสาหกรรมเพื่อจะได้สามารถกำหนดทิศทาง การพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ เป้าหมายรายได้ และการเติบโตที่ควรเป็น เพื่อให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต ดิจิทัล คอนเทนท์ ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ และมีทิศทางที่ชัดเจน

จากรายงานของไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ เป็นที่คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิต ดิจิทัล คอนเทนท์ ในประเทศไทยจะมีมูลค่ารวมสูงถึงกว่า 400,000 ล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพสูงมากในการที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งในส่วนของรายได้หลักจากการผลิตคอนเทนท์ และรายได้รองที่จะมาจากอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้การดูแลการพัฒนาในส่วนนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ทำหน้าที่คล้ายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในการดูแลและสนับสนุนการลงทุนในส่วนของดิจิทัล คอนเทนท์ และอื่นๆ

ภาย ใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การผลักดัน การพัฒนา และการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตดิจิทัล คอนเทนท์จะไม่เพียงมุ่งเน้นไปที่ตลาดหลักอย่าง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมการผลิตแอนิเมชั่น หรือเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์เพียงอย่างเดียว หากแต่จะครอบคลุมตลาดรองที่มีความเกี่ยวเนื่องอันทรงพลังในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ธุรกิจการโรงแรม ให้มีการเติบโต และพร้อมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

จากกรณีศึกษาของประเทศ เกาหลี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศเกาหลีมองว่าการผลิต (production) ภาพยนตร์ หรือดิจิทัล คอนเทนท์ต่างๆ ที่อยู่ในส่วนของตลาดหลักไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่ากับมูลค่าของอุตสาหกรรมในตลาด รอง ที่เน้นขายเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ อาหาร การท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งการประสบความสำเร็จของอุตสาหกรรมทั้งในตลาดหลัก และตลาดรองนี้ได้กลายมาเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลของ ประเทศเกาหลี ดังนั้น จึงมีการพิจารณารูปแบบการคิด “นอกกรอบ” ของประเทศเกาหลี ประกอบกับกลไกการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนท์ทั้งในประเทศสิงคโปร์ และนิวซีแลนด์เข้ามารวมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นรูปธรรมต่อไป

จากตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการคาดการณ์ว่าตลาดไทยเที่ยวไทยภายในปี 2558 จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 7.72 แสนล้านบาท ในขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีตัวเลขการเติบโตร้อยละ 15.0 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ส่วนธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในปี 2558 ประมาณ 513,000 – 527,000  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 – 10.0 จากปี 2557 ซึ่งหากการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งในส่วนของตลาดหลัก และตลาดรอง ตามแผนเศรษฐกิจดิจิทัลดำเนินไปได้ดี มูลค่าการตลาด และรายได้ของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องน่าจะมีการขยายตัวได้สูงกว่าที่มีการประเมินไว้อย่างมหาศาล

นอก เหนือจากการมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง รัฐบาลกำลังให้ความสนใจ และจับตามองความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ยุทธศาสตร์ “Digital Single Market Strategy” ที่จะกลายมาเป็น “บิ๊ก เชนจ์” หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้โลกของอุตสาหกรรม และธุรกิจของดิจิทัล คอนเทนท์ปราศจากพรมแดนอย่างแท้จริง โดยส่วนหนึ่งของเป้าหมายคือการทำให้ทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภคของกลุ่มประเทศ EU สามารถเข้าถึงสินค้า และการบริการดิจิทัลที่ดีขึ้น ภายใต้มาตรฐาน และสภาพแวดล้อมเดียวกัน

และ เนื่องจากอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนท์มีมูลค่ารวมสูงถึง 4 แสนล้านล้านบาท จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐบาล และสถาบันการเงิน ควรให้การสนับสนุนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อินเทอร์เน็ตทั้งในส่วนมีสายและไร้สายเพื่อให้มีศักยภาพ และประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของดิจิทัล คอนเทนท์ทั้งในประเทศ และเพื่อดึงดูดการลงทุน และนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น

โดยการดำเนินการในส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวด้านการลงทุนในส่วนของระบบโครงข่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2558 - 2559 จะมีมูลค่าการลงทุนในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทั้งแบบมีสายและไร้สายทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 111,200 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการลงทุนในส่วนของโครงข่ายแบบไร้สายบนเทคโนโลยี 3G และ 4G อยู่ที่ประมาณ 62,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมที่ 173,200 ล้านบาท พร้อม ทั้งคาดว่า จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 – 36.0 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 19.3 – 24.1 จากปี 2557

ในวันนี้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือการปรับโครงสร้างพื้นฐานในส่วนต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศสามารถก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ การทำงานโดยองค์รวมยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 5 ส่วนหลัก ได้แก่
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard Infrastructure) อาทิ โครงข่าย และโครงสร้างโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ  
2. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ (Service Infrastructure) เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น
3. โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัย (Soft Infrastructure) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการทำธุรกิจ ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ขานรับนโยบายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
4. การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา อาทิ ดิจิทัล คอนเทนท์ ที่สามารถต่อยอดให้งานได้มาตรฐาน และมีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจหลัก และธุรกิจรองที่จะสร้างงานสร้างอาชีพได้เป็นจำนวนมาก
5. การส่งเสริมสังคมดิจิทัล (Digital Society Promotion) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกลไกการเรียนรู้ในระยะยาว หรือ Lifelong Learning ให้กับสังคม
 

สุรางคณา วายุภาพ

ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA