CPF มั่นใจ เวียดนาม ผงาด เพิ่มสัดส่วนลงทุนแปรรูปอาหาร - Forbes Thailand

CPF มั่นใจ เวียดนาม ผงาด เพิ่มสัดส่วนลงทุนแปรรูปอาหาร

ภาพจาก: cp.com.vn

จากการเมืองที่มีเสถียรภาพ อัตราจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีสูง และการหลั่งไหลของการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้
CPF ยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรของไทย เดินหน้าขยายการลงทุนในเวียดนาม ทั้งเลี้ยงปลา และแปรรูปอาหาร
 
เงินลงทุนโดยตรงต่างจากประเทศที่เข้าเวียดนาม หากคิดเป็นตัวเลข 11 เดือนแรกของปี 2014 เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านเหรียญ แม้การลงทุนจากไทยไม่ติด 5 อันดับสูงสุดของการลงทุนรวมในเวียดนาม แต่นักธุรกิจไทยใหญ่น้อยล้วนผลัดเปลี่ยนเข้าไปหาโอกาสทางธุรกิจในเวียดนามในรอบ 24 ปี
 
บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF  คือ หนึ่งที่นักธุรกิจไทยยุคบุกเบิกในเวียดนาม เข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 1988 เพื่อเป็นหนึ่งในห้องเครื่องหลักผลิตอาหารทั้งสัตว์บกและสัตวน้ำครบวงจรตั้งแต่ต้นยันปลาย ป้อนตลาดผู้บริโภคทั่วโลกและไทย ภายใต้บริษัท C.P. Vietnam Corporation หรือ CPV
 
สุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ CPV กล่าวว่า "ช่วงสามปีที่ผ่านมาใช้เม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 100 ล้านเหรียญ สำหรับในอนาคตบริษัทคาดว่าจะยังคงมีการลงทุนเพิ่มเติมในทั้ง 3 ธุรกิจหลัก  คือ อาหารสัตว์ ( Feed) , เลี้ยงสัตว์ (Farm) และผลิตอาหาร (Food)  แต่จะเน้นขยายในด้านธุรกิจแปรรูปอาหารให้มากขึ้น เริ่มจากโรงงานไส้กรอก สู่ไก่ทอด ไก่ย่าง และลูกชิ้น"
 
อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ CPV อยู่ที่ 29 รวมถึงมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับครึ่งแรกของปี 2014 อยู่ที่ 11.9% ซึ่งสูงกว่าที่ 3.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน    
 
สุรัชศักดิ์ วันโพธิ์สป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านการเงิน แห่ง CPV  กล่าวว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งในต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้ง กฏระเบียบข้อบังคับทางด้านกฏหมายและการลงทุนในประเทศทำให้บริษัทต้องประชุมปรับแผนยุทธศาสตร์การลงทุนเป็นประจำทุกเดือน หรือ ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง
 
ขุมทรัพย์ใหม่จาก “ปลาดอร์รี่”

หนึ่งในธุรกิจอาหารที่ CPV เข้ามาบุกเบิกในเวียดนามจากการส่งเสริมของรัฐบาล คือ การเพาะเลี้ยงและแปรรูป “ปลาดอรี่” หรือ “แพนกาเซียส ดอร์รี่” เพื่อส่งออก
 
ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ รายใหญ่ที่สุดในโลก ถึงปีละ 1.5 ล้านตัน โดย Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers (VASEP) พบว่าในปี 2013 เวียดนาม มีมูลค่าส่งออกปลาชนิดนี้ราว 1.75 พันล้านเหรียญ
 
CPV ลงทุนในธุรกิจการเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่อย่างครบวงจร โดย เลี้ยงในพื้นที่ 5 จังหวัดในแนวสามเหลี่ยมปากแม่โขง (Mekong Delta) มีพื้นที่การเลี้ยงขนาดใหญ่ติดอันดับ Top 10 ของเวียดนาม ส่วนปี 2015 ตั้งเป้าหมายการผลิตเพิ่มอีก 10% เป็น 35,000 ตัน แม้ผลสำเร็จในการเลี้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ เกิดจาก 3 ปัจจัย เพื่อให้ได้รสชาติที่ดี แต่ CPV คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะดึงดูดให้คนเวียดนามมากินปลาที่เลี้ยงจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
 
“ปลาดอร์รี่ที่เราผลิตเกือบทั้งหมดส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะคนเวียดนามยังนิยมกินปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากกว่า” สุขสันต์ ให้ความเห็นถึงอนาคตของตลาดปลาดอรี่ในเวียดนาม
อ่าน "CPF มั่นใจ เวียดนาม ผงาด เพิ่มสัดส่วนลงทุนแปรรูปอาหาร" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ January 2015