‘เครียดจนป่วย’ มีจริง ชวนรู้จัก Conversion Disorder โรคทางจิตที่ ‘จ้าวลู่ซือ’ ต้องเผชิญ - Forbes Thailand

‘เครียดจนป่วย’ มีจริง ชวนรู้จัก Conversion Disorder โรคทางจิตที่ ‘จ้าวลู่ซือ’ ต้องเผชิญ

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Jan 2025 | 03:00 PM
READ 181

ในยุคปัจจุบัน ภาวะ ‘เครียดจนป่วย’ ได้กลายเป็นเรื่องปกติที่เราเห็นได้ตลอด ซึ่งบ่อยครั้งการป่วยจากความเครียดไม่ใช่การแกล้งทำหรือการเรียกร้องความสนใจอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด อย่างกรณีล่าสุดของ ‘จ้าวลู่ซือ’ นางเอกสาวชาวจีนที่มีความเครียดจนป่วยหนัก มีภาวะร่างกายอ่อนแรงและการรับรู้ทางประสาทลดลง


    จ้าวลู่ซือ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Conversion Disorder โรคที่ปัญหาสุขภาพจิตไปรบกวนการทำงานของสมอง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางกายโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้ ในโอกาสนี้ พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ จิตแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาฃวิมุต จะพาไปทำความรู้จักกับโรค Conversion Disorder เพื่อตอกย้ำให้สังคมเข้าใจว่าโรคทางจิตใจก็ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายได้ พร้อมแนะนำแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้


โรคทางจิตที่ทำให้เกิดอาการทางกาย

    Conversion Disorder เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตไปขัดขวางการทำงานของสมอง พบได้บ่อยในแผนกผู้ป่วยทั่วไป โดยคนไข้มักมาพร้อมกับความผิดปกติทางกาย ทั้งด้านการเคลื่อนไหวและด้านประสาทสัมผัส แต่เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดด้วยการตรวจเลือดหรือการตรวจทางรังสีกลับไม่พบความผิดปกติ จึงไม่สามารถอธิบายโรคนี้ได้ด้วยผลการตรวจร่างกาย แต่อาการทั้งหมดเกิดขึ้นจริงโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจ



เครียด กดดัน ประสบการณ์ไม่ดี คือปัจจัยกระตุ้น

    Conversion Disorder มักเกิดจากความเครียด ความกดดัน และประสบการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจจนแสดงอาการออกมาทางกาย เช่น ตัวชา ชัก พูดไม่ได้ ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือไม่ได้ยินเสียง

    พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ ยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจว่า “มีวัยรุ่นทะเลาะกับแม่แล้วกรี๊ดออกมา หลังจากนั้นก็พูดไม่ได้เลย แต่ยังไอและทำเสียงอืออาได้ปกติ หลังจากนั้น 2-3 วันก็กลับมาพูดได้ นอกจากนี้ สมัยก่อนเราอาจได้ยินชื่อโรคฮิสทีเรีย ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ได้จัดให้อยู่ในกลุ่ม Conversion Disorder โดยส่วนใหญ่มีอาการการคล้ายกัน อย่างการพูดหรือเดินไม่ได้แบบฉับพลัน อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือทหารในช่วงสงครามโลก เพราะต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันในสนามรบสูงมากจนเกิดอาการทางกายจากโรคนี้”



หัวใจสำคัญในการรักษา คือความเข้าใจ

    การวินิจฉัยกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับ Conversion Disorder จะประเมินด้วยเจตนาและเป้าหมายของผู้ป่วย โดยสามารถจำแนกได้ ดังนี้

    Conversion Disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่มีเจตนาในการแสดงอาการ และอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการจริงที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยผลการตรวจร่างกาย

    Factitious Disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยแกล้งป่วยเพื่อเรียกร้องความสนใจ

    และสุดท้ายคือ Malingering ภาวะที่ผู้ป่วยเจตนาแกล้งป่วยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์หรือหลีกเลี่ยงภาระหน้าที่

    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายและการวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อยืนยันว่าเป็น Conversion Disorder จริงหรือไม่ เพราะหากวินิจฉัยผิดพลาดอาจรักษาไม่ถูกวิธีและทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงได้

    พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ อธิบายว่า “การรักษาโรค Conversion Disorder สามารถทำได้ทั้งวิธีจิตบำบัด กายภาพบำบัด หรือการใช้ยา โดยปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยระหว่างการรักษาก็ต้องอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจผู้ป่วยว่าอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนหายดี นอกจากนี้อาจต้องระวังคำพูดอย่าง ‘ตรวจร่างกายแล้วก็ปกติ’ หรือ ‘คิดไปเองหรือเปล่า’ เพราะอาจกระทบจิตใจผู้ป่วยจนอาการแย่ลงได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น จิตใจมั่นคงขึ้น เราจะค่อย ๆ ให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการ และหาวิธีรับมือกับสิ่งที่มากระทบจิตใจจนทำให้แสดงอาการ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบตัวด้วย”


พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์


    “อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า Conversion Disorder ทำให้เกิดความผิดปกติทางกายได้จริง ไม่ใช่การแกล้งทำหรือการเรียกร้องความสนใจ ตัวผู้ป่วยเองก็มักจะสับสนและกังวลกับอาการที่เกิดขึ้นมากอยู่แล้ว เราก็ควรช่วยผู้ป่วยด้วยการให้กำลังใจและรับฟังผู้ป่วยให้มากๆ และไม่กดดันหรือเร่งให้ผู้ป่วยหาย แต่ควรให้เวลาในการรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราสร้างเซฟโซนให้ผู้ป่วย จิตใจพวกเขาก็จะดีขึ้น และอาการทางกายก็จะหายดี” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


ภาพ: โรงพยาบาลวิมุต


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยวัยทำงานต้องระวัง! จัดการ ‘ความเครียด’ ด้วยของกิน เสี่ยงโรคเบาหวาน เพิ่มโอกาสโรคซึมเศร้า

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine