AirAsia ขอเคลียร์รันเวย์ - Forbes Thailand

AirAsia ขอเคลียร์รันเวย์

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Aug 2015 | 01:18 PM
READ 3191
เรื่อง: Jeffrey Hutton เรียบเรียง: อิทธิพล จึงวัฒนาวงค์
 
ปลายปีที่แล้ว Tony Fernandes คิดเรื่องปลดเกษียณตัวเองหรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเริ่มถอนตัวจากการบริหารงานประจำวันใน AirAsia บริษัทสายการบินต้นทุนต่ำที่เขาสร้างมากับมือจนกลายเป็นสายการบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชีย แต่โลกของเขาเปลี่ยนไปในทันที เมื่อเครื่องบินลำหนึ่งของ Indonesia AirAsia X ตกในทะเลชวาเมื่อเดือนธันวาคม ความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ครอบงำเขาไปหลายสัปดาห์ แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา CEO ผู้เพิ่งจะผ่านวัย 51 ปีก็มีภารกิจใหม่ คือผลักดันแผนที่ไม่แน่นอนในการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทสายการบินอินโดนีเซียของเขาซึ่งมีการริเริ่มตั้งแต่ปี 2011
 
AirAsia จะขายหุ้นราว 30% ของบริษัทในอินโดนีเซีย รวมถึงกิจการขนาดย่อมลงมาคือ  AirAsia Philippines ด้วย แผนการขายซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจะช่วยระดมทุนให้บริษัทสามารถชำระหนี้ และขยายฝูงบิน Airbus A320s เป็น 55 ลำจาก 29 ลำในอินโดนีเซีย (ส่วนในฟิลิปปินส์มีจำนวน 15 ลำ)
 
แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีกฎเกณฑ์การบินที่เข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กลับประสบอุบัติเหตุทางอากาศที่คร่าชีวิตคนหรือเครื่องบินมากกว่าการซ่อมบำรุงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2010 ด้วยเหตุนี้กระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียจึงกำหนดเพดานราคาตั๋วสายการบินในประเทศใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมุ่งบังคับให้สายการบินนำเงินไปชดเชยต้นทุนของบริษัท ทางการยกตัวอย่างว่าการหั่นราคาลงมากทำให้ขาดความปลอดภัย สาเหตุที่ทำให้สายการบินละเลยการซ่อมบำรุง
 
นับแต่นี้ ราคาตั๋วที่ถูกมากๆ ถึง 10 เหรียญต่อเที่ยวบินจากกรุง Jakarta ไป Surabaya ซึ่งมีระยะทางราว 500 ไมล์จะไม่มีอีกแล้ว ราคานี้นับว่าถูกกว่าราคาตั๋วรถไฟเที่ยวเดียวซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 13 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันราคาตั๋วโดยสารขั้นต่ำอาจไม่น้อยกว่า 40 เหรียญ ซึ่งคิดเป็น 40% ของราคาตั๋วสูงสุดที่ทางกระทรวงกำหนดให้กับเส้นทางบินภายในประเทศ นับว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 200 เหรียญต่อเดือน
 
ฝ่ายวิจัยตลาดของ Indonesia AirAsia ให้ข้อมูลว่าจำนวนผู้โดยสารของทุกสายการบินบนเส้นทางที่สำคัญที่สุดของบริษัท เช่นจากกรุง Jakarta ไปเมือง Denpassar ใน Bali ลดลงมากถึง 15% ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เทียบกับตัวเลขของเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน (ยอดผู้โดยสารกว่า 40% อยู่กับเที่ยวบินภายในประเทศของบริษัท) ค่าตั๋วที่แพงขึ้นอาจลดความต้องการใช้สายการบินเดินทางจากเมืองศูนย์กลางอย่าง Jakarta และ Bali ซึ่งจะชะลอความต้องการเดินทางสู่จุดหมายที่ไกลออกไปอีก  เช่น Raja Ampat ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ดำน้ำดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
 
ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเวลาและการเดินทางของนักท่องเที่ยวอิสระมีน้อยมากในอินโดนีเซีย Gerry Soejatman นักวิเคราะห์ธุรกิจการบินใน Jakarta กล่าวว่าอัตราเร่งของการจองตั๋วในช่วงก่อนกฎใหม่จะมีผลบังคับใช้อาจปกปิดยอดขายตั๋วจริงที่ตกลงหลังปีใหม่ "มันชัดเจนว่าอัตราค่าตั๋วขั้นต่ำใหม่ มีผลกระทบต่อยอดผู้โดยสาร" Soejatman กล่าว
 
เขาตั้งข้อสังเกตว่าการจะช่วยเติมที่นั่งสายการบินขึ้นอยู่กับการลดราคาตั๋วลงอย่างมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และช่วงอื่นๆ ที่ความต้องการท่องเที่ยวต่ำ ในอดีตอาจเป็นว่าสายการบินต่างๆ ได้ดึงค่าตั๋วของที่นั่งราว 40% จนต่ำลงมากถึงขนาดละเมิดอัตราค่าตั๋วขั้นต่ำตามกฎใหม่ของทางการอินโดนีเซียไปแล้ว
 
ทางกระทรวงคมนาคมยังเข้มงวดเรื่องการอนุมัติเส้นทางบินและวิธีการเตรียมตัวของนักบินในแต่ละเที่ยวบิน โดยในเดือนกรกฎาคมทางกระทรวงยังเรียกร้องให้สายการบินพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาต 30 บริษัทให้ดำเนินเรื่องดังกล่าวอย่างน้อย 10 ลำ ต่อหนึ่งสายการบิน
 
ภาวะอัตราค่าเงินรูเปียต่อเงินเหรียญสหรัฐตกต่ำลง เป็นปัจจัยบีบสายการบินด้วย ในกรณีของ AirAsia มีต้นทุนเป็นเงินเหรียญสหรัฐถึง 70% "สายการบินบางแห่งไม่ต้องการปฏิบัติตามกฏความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน" Julius Barata โฆษกกระทรวงคมนาคมส่งข้อความนี้ผ่านมือถือ แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดว่า AirAsia จัดอยู่ในสายการบินเหล่านี้ด้วยหรือไม่ (ทางสายการบินปฏิเสธว่าอัตราค่าตั๋วกับความปลอดภัยมีความเกี่ยวข้องกัน)
 
ด้าน Vincent Jemadu โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวก็ยืนยันข้อสงสัยว่าการกำหนดราคาตั๋วขั้นต่ำใหม่เป็นตัวกัดกร่อนจำนวนผู้โดยสารให้ลดลง ถึงกระนั้นเขาก็ยังมั่นใจว่าตัวเลขผู้โดยสารจะฟื้นตัว เขากล่าวว่า "ผลกระทบจะอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น" และเสริมว่ากฎข้อบังคับจะส่งผลกระทบต่อที่นั่งแค่ไม่กี่ที่เท่านั้นในแต่ละเที่ยวบิน "กระทรวงกำลังทำงานอย่างหนักในเรื่องนี้เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ"
 
ในเดือนมีนาคม ทางกระทรวงการท่องเที่ยวได้เพิ่มจำนวนชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าสำหรับการเข้าประเทศระยะสั้นอีกสามเท่าเป็น 45 ประเทศ พร้อมออกแคมเปญโฆษณาตัวใหม่ที่เน้นจุดหมายต่างๆ ทั่วทั้งหมู่เกาะของประเทศ Brendan Sobie นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่ง The Centre for Asia Pacific Aviation จากสิงคโปร์  เรียกการเชื่อมโยงระหว่างตั๋วโดยสารราคาถูกกับสายการบินที่ไม่น่าวางใจว่า "งี่เง่า"
 
เขากล่าวว่าราคาตั๋วโดยสารชุดใหม่มีให้หลายระดับราคาเพื่อครอบคลุมต้นทุนระยะสั้นเป็นอย่างน้อย "อินโดนีเซียแค่ต้องการทำให้แน่ใจว่ามาตรฐาน (ความปลอดภัย) ยังคงเป็นตามกำหนดมากกว่าแทรกแซงภาคธุรกิจ”

รายงานชิ้นสุดท้ายเรื่องสาเหตุการตกของ Indonesia AirAsia เที่ยวบิน 8501 มีกำหนดจะออกในเดือนสิงหาคม แม้การค้นหาร่างผู้เสียชีวิตสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมโดยยังมีอีก 56 รายสาบสูญ รายงานเบื้องต้นในเรื่องอุบัติเหตุครั้งนี้กล่าวว่าเครื่องบินลำเล็กดังกล่าวบินขึ้นสูงเกินไป และเร็วเกินไปที่จะหลบหลีกพายุในเส้นทางการบินได้ทัน
 
Fernandes กล่าวว่าคำตอบที่ชัดเจนอาจไม่มีวันรู้ได้ ในทางตรงข้ามการสืบสวนได้เผยให้เห็น "ประเด็นที่หลากหลาย" นักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยควบคุมการบินจึงปฏิเสธคำขออนุญาตของนักบินในเบื้องต้นที่ต้องการปรับเพดานบินให้สูงมากพอจะหลบหนีเมฆพายุที่เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงเวลานั้นของปี
 
Suprasetyo อธิบดีของหน่วยงานการบินพลเรือนของอินโดนีเซียปฏิเสธการเสนอความเห็น ขณะที่ Fernandes เป็นผู้เดียวที่มีบทบาทในการล็อบบี้รัฐบาลในเรื่องนี้ ส่วนสายการบินต้นทุนต่ำในเครือเดียวกับสายการบิน Garuda คือ Citilink กล่าวว่าพวกเขาสนับสนุนกฎค่าโดยสารขั้นต่ำใหม่ ส่วน Lion Air ไม่แสดงความเห็นแต่อย่างใด
 
Fernandes เป็นผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ มีผู้ติดตามเพจของเขาเกือบหนึ่งล้านคน ซึ่งเมืองต่างๆ ในอินโดนีเซียรวมถึง Jakarta กับ Bandung คือบ้านของสมาชิก Twitter ที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาทวีตข้อความผ่าน Twitter เพื่อยืนยันจุดมุ่งหมายของ AirAsia ในการเดินหน้าแผนเสนอหุ้น IPO ครั้งนี้ แต่ข้อมูลจาก Sobie เผยว่าปีที่แล้วแผนต่างๆ ยังเหมือนจะถูกเก็บไว้ในลิ้นชักอย่างไม่มีกำหนดอยู่เลย
 
ในช่วงต้นเดือนเมษายน Fernandes พบกับประธานาธิบดี Joko Widodo แบบตัวต่อตัว โดยประธานาธิบดีผู้มีอีกชื่อที่คนรู้จักว่า Jokowi อธิบายให้เขาฟังถึงแนวคิดว่าควรทำอย่างไรในการดึงนักท่องเที่ยวมายังประเทศหมู่เกาะจำนวนกว่า 17,000 เกาะนอกจาก Bali เกาะรีสอร์ทชื่อดังที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 4 ล้านคนจากทั้งหมด 9 ล้านคนที่มาเที่ยวอินโดนีเซีย ประเทศที่มีชายฝั่งยาวรวมกันถึง 95,000 กิโลเมตร แต่นักท่องเที่ยวจำนวน 9 ล้านคนนั้นดูเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับตัวเลข 26 ล้านคนในกรณีของประเทศไทยกับมาเลเซีย แม้แต่เกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ก็ดึงดูดผู้มาเยือนได้ถึง 15 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ทางอินโดนีเซียยังต้องทำให้เกาะอีกหลายเกาะสามารถเข้าถึงได้ด้วย Fernandes กล่าวว่า "ประเด็นสำคัญคือการเชื่อมต่อ ผมบอกกับเขา (Jokowi) ว่าไม่มีเหตุผลว่าทำไมอินโดนีเซียถึงไม่สามารถดึงดูดคนได้ถึง 40 ล้านคน"
 
AirAsia จะประกาศรายชื่อธนาคารที่จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้น IPO ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า Fernades เดิมพันว่า ด้วยราคาน้ำมันที่ลดลงและประมาณการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จะช่วยดึงดูดนักลงทุน ทางบริษัทยังทำสัญญากำหนดราคาเชื้อเพลิงไว้มากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณความต้องการแล้ว
 
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในปีที่แล้วและการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอนของอินโดนีเซีย คือตัวการลดทอนผลกำไร Indonesia AirAsia ที่เริ่มสูญเงินเมื่อไตรมาสสี่ปีก่อน Fernandes กล่าวว่าบริษัทจะกลับมาทำเงินได้อีกครั้งช่วงกลางปีนี้พร้อมๆ กับการเริ่มขั้นตอนเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งน่าจะกินเวลาไปตลอดช่วงที่เหลือของปี หากว่าเมื่อถึงตอนนั้นมีแรงดึงดูดให้มนุษย์ผู้แสวงหาวันหยุดพักผ่อนมองข้ามดินแดนที่คุ้นเคยอย่างชายหาดในประเทศไทยกับมาเลเซียไปได้ ยอดขายตั๋วของ Indonesia AirAsia ก็มีโอกาสเข้าเป้า
 
"ในชีวิต เวลาคือทุกสิ่งทุกอย่าง" Fernandes กล่าว อย่างไรก็ดีเขาอาจต้องตั้งนาฬิกาของทางราชการเสียใหม่ก็ได้
อ่าน "AirAsia ขอเคลียร์รันเวย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand  ฉบับ JULY 2015