"4 มหาเศรษฐีไทยเด่น" จาก การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2564 - Forbes Thailand

"4 มหาเศรษฐีไทยเด่น" จาก การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2564

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Sep 2021 | 10:32 AM
READ 4046

แม้จะอยู่ท่ามกลางความท้าทายจากโรคระบาด คนที่รวยที่สุดของไทยก็ยังมีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ พบ 4 มหาเศรษฐีไทยเด่น จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2564

  สารัชถ์ รัตนาวะดี อันดับที่: 5 มูลค่าทรัพย์สิน: 2.79 แสนล้านบาท ธุรกิจ: พลังงาน นักธุรกิจใหญ่สายพลังงาน สารัชถ์ รัตนาวะดี กล้าที่จะเสี่ยงเข้าลงทุนในธุรกิจเทเลคอม ด้วยความพยายามเข้าควบคุมกิจการของ Intouch Holdings และบริษัทให้บริการสื่อสารไร้สาย Advanced Info Service (AIS) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อวัดจากรายได้ โดยได้เข้าซื้อด้วยมูลค่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญ หุ้นกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ของเขาขึ้น 7% หลังการพยายามเข้าซื้อเมื่อเดือนเมษายน และช่วยให้ทรัพย์สินสุทธิของสารัชถ์เพิ่มขึ้นราว 31% เป็น 8.9 พันล้านเหรียญ หลังจากเข้าซื้อหุ้น 19% ใน Intouch เมื่อปีที่แล้ว กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ก็กำลังหาทางซื้อหุ้นอีก 81% ที่เหลือด้วยราคา 1.69 แสนล้านบาท (5.4 พันล้านเหรียญ) และเสนอขอซื้อหุ้น 100% ใน AIS ด้วยราคา 3.65 แสนล้านบาท “มันเป็นกิจการที่น่าซื้อ” Janice Chong ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ในสิงคโปร์กล่าว โดยชี้ว่าทั้งสองบริษัทมีงบดุลเข้มแข็งและกระแสเงินสดมั่นคง อย่างไรก็ตาม Chong กล่าวว่า การซื้อกิจการดังกล่าวจะเพิ่มความตึงเครียดในงบดุลของกัลฟ์ซึ่งตึงอยู่แล้วให้มากขึ้นอีก และอุปสรรคอีกอย่างคือ การกล่อมให้ผู้ถือหุ้นยอมขายหุ้น โดย Singtel ซึ่งถือหุ้น 21% ใน Intouch และ 23% ใน AIS กล่าวย้ำเหมือนที่เคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทยังพิจารณาทางเลือกอยู่ สารัชถ์วัย 55 ปี ผู้กระหายการเติบโตเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตของกัลฟ์ด้วยการลงทุนในพลังงานสีเขียว ทางพิเศษและท่าเรือ ส่วนเทเลคอมก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ใช่ เพราะกำไรจากการดำเนินงานหลักของกัลฟ์ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 158% เป็น 2.4 พันล้านบาท โดยมีเงินปันผลจาก Intouch เข้ามาช่วยเสริมส่วนหนึ่ง - Jonathan Burgos รายงาน   บัญชา องค์โฆษิต อันดับที่: 35 มูลค่าทรัพย์สิน: 3.04 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ: ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เมื่อยอดขายรถยนต์ทั่วโลกดีดกลับหลังจากเริ่มคลายล็อกดาวน์ ตลาดก็เริ่มกลับมาต้องการแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ผลิตโดย KCE Electronics ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ไม่เพียงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใส่ในรถยนต์มากขึ้นเท่านั้น แต่ปีที่แล้วยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งภาคธุรกิจนี้เป็นลูกค้าของ KCE อยู่แล้ว ราคาหุ้นของ KCE ที่พุ่งขึ้นเกิน 3 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาช่วยส่งให้ทรัพย์สินสุทธิของ บัญชา องค์โฆษิต ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการวัย 69 ปีเพิ่มเป็น 970 ล้านเหรียญ จนทำให้เขากลับเข้ามาในทำเนียบรายชื่อได้อีกครั้งหลังจากหายไป 3 ปี กำไรสุทธิไตรมาสแรกของ KCE โดดขึ้น 18% เป็น 503 ล้านบาท (15.7 ล้านเหรียญ) หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกำไรปี 2020 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์เป็นธุรกิจหลักของ KCE บริษัทก็ขายแผ่น PCB ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ระบบอุตสาหกรรม และระบบเทเลคอมด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เฟื่องฟูขึ้นจากโรคระบาดในปีนี้ KCE จึงหวังจะคว้าโอกาสโดยเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ บริษัทแห่งนี้มีชื่อเดิมว่า ควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์ ตามชื่อบิดาของบัญชา และซีอีโอคนปัจจุบันคือ พิธาน บุตรชายวัย 39 ปีของบัญชา ซึ่งจบจาก Cornell และเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2556 - พิษณุ พรหมจรรยา รายงาน   พงษ์ศักดิ์ และ สาธิต วิทยากร อันดับที่: 43 มูลค่าทรัพย์สิน: 2.7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ: โรงพยาบาล พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ประธานกรรมการวัย 87 ปีของ Principal Capital ได้เห็นทรัพย์สินสุทธิของเขาเพิ่มขึ้น 37% จนเป็น 870 ล้านเหรียญเพราะบริษัทของเขาซึ่งเปลี่ยนจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเป็นผู้ดำเนินงานโรงพยาบาลมีมูลค่าประเมินเพิ่มขึ้นมาก Principal จะเพิ่มโรงพยาบาลอีก 6 แห่งภายในปี 2566 เป็น 11 แห่งในไทย ขยายเครือข่ายคลินิก และสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยนำทุนในการขยายธุรกิจมาจากการขายอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ 2 แห่ง และอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ปลายปีที่แล้ว สาธิต บุตรชายของพงษ์ศักดิ์ซื้อหุ้น 23% ในบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในกรุงเทพฯ เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย โดยเป็นการซื้อส่วนตัวจากกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ด้วยราคา 1.9 หมื่นล้านบาท (596 ล้านเหรียญ) เรื่องตลกคือ พงษ์ศักดิ์เป็นผู้ก่อตั้ง BDMS ร่วมกับเศรษฐีพันล้านในทำเนียบอีกคนคือ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (อันดับ 8) เมื่อปี 2512 แต่เขาขายหุ้นของตัวเองไปด้วยราคา 723 ล้านเหรียญในปี 2555 เพื่อมาซื้อกิจการ Principal Capital ในปี 2556 ซึ่งเป็นบริษัทที่สาธิตช่วยบริหาร นอกเหนือจากข้อตกลงธุรกิจข้างต้นยังมีราช กรุ๊ป ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อวัดจากกำลังการผลิตยังได้เข้าซื้อหุ้น 10% ใน Principal Capital เมื่อเดือนพฤษภาคมด้วยราคา 1.6 พันล้านบาท -Danielle Keeton-Olsen   สมหวัง และ ไวยวุฒิ สินเจริญกุล อันดับที่: 44 มูลค่าทรัพย์สิน: 2.71 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ: น้ำยางพาราธรรมชาติ โรคระบาดส่งผลกระทบต่อยอดขายยางรถยนต์ ทำให้ศรีตรังบริษัทผู้ผลิตยางของประเทศไทยหันมาเพิ่มการผลิตถุงมือทางการแพทย์ ผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตระดับโลก การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเติบโตของศรีตรังแอโกรอินดัสทรีโดน “เจาะยาง” เข้าเต็มๆ หลังจากที่ยอดขายยางรถยนต์หดตัวตามสถานการณ์การซื้อขายรถยนต์ ขณะที่ยอดขายส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการผลิตยางสำหรับทำยางรถยนต์ราคายางที่ซบเซาอยู่ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดแล้วนั้น ทรุดตัวเพิ่มขึ้นศรีตรังจึงเปลี่ยนเป้าหมายหันไปเพิ่มการผลิตถุงมือยาง ท่ามกลางความต้องการเครื่องมือป้องกันที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลทั่วโลก การขยับตัวครั้งนี้ได้ส่งผลให้บริษัทประสบผลสำเร็จ ในไตรมาสแรกของปีศรีตรังทำรายได้เพิ่มขึ้น 80% เป็น 3.2 หมื่นล้านบาท (1 พันล้านเหรียญ) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ราคาหุ้นจดทะเบียนในตลาดประเทศไทยและสิงคโปร์พุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ สมหวัง-ไวยวุฒิ สินเจริญกุล สองพ่อลูกผู้ร่วมก่อตั้งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มเป็น 865 ล้านเหรียญ และติดโผการจัดอันดับเป็นครั้งแรก ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดนั้นรายได้จากถุงมือยางคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของศรีตรัง แต่เมื่อกลุ่มบริษัทสามารถขายถุงมือยางได้กว่า 2.8 หมื่นล้านชิ้นภายในสิ้นปี 2563 สัดส่วนรายได้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 41% สมหวัง กับไวยวุฒิ ผู้เป็นลูกชายก่อตั้งศรีตรังขึ้นในปี 1987 หลังจากทำงานให้กับบริษัทผลิตยางแห่งหนึ่งในประเทศไทยมายาวนานถึง 4 ทศวรรษ ขณะที่ไวยวุฒิซึ่งรับหน้าที่บริหารศรีตรังนั้นเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเมื่อปี 2553 โดยมีสมหวังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในบรรดาบริษัทผู้ผลิตถุงมือ 18 แห่งในประเทศไทยนั้น วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ลูกชายของไวยวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารศรีตรัง และประธานสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอจากกรุงเทพฯ ว่า ผลผลิตกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในปีที่ผ่านมาเป็นของศรีตรัง ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผลผลิตคิดเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมถุงมือยางโลกที่มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญ แต่ยังคงตามหลังมาเลเซียอยู่ห่างๆ สำหรับมาเลเซียคือ ยักษ์ใหญ่ของวงการ มียอดการผลิตเกือบ 2 ใน 3 ของการผลิตถุงมือยางทั่วโลก ขณะเดียวกันการยางแห่งประเทศไทยพยายามจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางแห่งใหม่ จึงเสนอสินเชื่อให้แก่บรรดาผู้ผลิตในประเทศเพื่อเพิ่มการผลิตและยกระดับอุปกรณ์การผลิตให้ทันสมัย ศรีตรังคาดว่า บริษัทจะต้องลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางให้ได้ 5 หมื่นล้านชิ้นภายในปี 2565 โดยในเวลานี้ได้เพิ่มโรงงานผลิตแล้ว 8 แห่งจากที่เคยมีอยู่ 3 แห่งในปี 2562 และเมื่อเดือนพฤษภาคมทางกลุ่มได้นำบริษัทลูกที่มีผลกำไร ศรีตรังโกลฟส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 5.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (4.1 พันล้านเหรียญ) หลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ทำสถิติเป็นบริษัทแห่งแรกที่เสนอขายหุ้น IPO ในช่วงล็อกดาวน์ พร้อมกับระดมทุนได้ 482 ล้านเหรียญเพื่อการขยายกิจการ จากความต้องการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มีบริษัทต่างๆ เข้ามาในตลาดถุงมือยางในประเทศ 10 แห่งในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง ปตท. ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่วีรสิทธิ์เชื่อว่าจะมีน้องใหม่ของตลาดเพียงไม่กี่แห่งที่จะเอาตัวรอดได้ “พวกเขาจะได้เห็นว่าการเปิดโรงงานถุงมือในประเทศไทยไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ฝ่ายขายก็ต้องมีประสบการณ์ และในหลายประเทศยังต้องมีใบรับรองมากมายด้วย” อย่างไรก็ตามเขายังคงมองว่า การผลิตถุงมือยางในประเทศไทยเป็นธุรกิจที่มีอนาคต โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 การผลิตถุงมือยางจะเติบโต 17% และต่อให้โรคระบาดสิ้นสุดลง ยอดขายก็จะทรงตัวเพราะตลาดสุขภาพจะยังคงได้รับอานิสงส์จากประชากรสูงอายุและการขยายตัวของชนชั้นกลาง นอกจากนี้ เขายังคาดว่าความต้องการยางรถยนต์จะกลับมาฟื้นตัวพร้อมกับยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นขณะที่ราคายางสูงขึ้นเกือบ 75% ในปีที่ผ่านมา แต่วีรสิทธิ์กล่าวเชิงเตือนว่า การหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดของเกษตรกรอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม “การท่องเที่ยว การผลิต และการใช้รถยนต์ เราคาดว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะกลับสู่ภาวะปกติหลังปี 2563 แต่ถ้าหากไม่ฟื้นตัวตามคาด คงถึงเวลาที่จะต้องกังวลกันแล้ว” - Danielle Keeton-Olsen รายงาน วิธีคัดเลือก รายชื่อในทำเนียบนี้จัดทำโดยใช้ข้อมูลการถือหุ้นและข้อมูลทางการเงินที่ได้รับจากบุคคลและตระกูลต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์และนักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลทำเนียบนี้ต่างจากทำเนียบเศรษฐีพันล้านอื่นๆ ของเราตรงที่นับรวมทรัพย์สินของตระกูลด้วย ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ถือครองร่วมกันในเครือญาติตระกูลใหญ่ที่มีสมาชิกหลายรุ่น เราคำนวณทรัพย์สินของบริษัทมหาชนโดยอิงกับราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ส่วนทรัพย์สินของบริษัทเอกชนจะประเมินโดยเปรียบเทียบกับบริษัทคล้ายกันซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รายชื่อนี้อาจรวมถึงชาวต่างชาติที่มีธุรกิจ ถิ่นพำนัก หรือสายสัมพันธ์อื่นๆ กับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ หรือผู้ถือสัญชาติไทยที่มิได้พำนักอยู่ในประเทศไทย แต่มีธุรกิจหรือสายสัมพันธ์อื่นๆ กับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine