เรื่อง: พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, ศรีวิภา สิริปัญญาวิทย์ และชญานิจฉ์ ดาศรี
ปี 2557 “ปีฟุบ” ของภาคธุรกิจก่อสร้างในไทย เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ กอปรกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและทั่วโลกที่ตกต่ำ ทำให้การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชะลอตัวอย่างรุนแรง จนมูลค่าตลาดรวมมีเพียง 2 แสนล้านบาท
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ธุรกิจก่อสร้างก็ค่อยๆ ฟื้นตัวจากเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มหวนกลับมาอีกครั้ง เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ถึง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้
และเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณว่าจะเปิดประมูลงานจำนวนมาก มูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่หลากหลาย ครอบคลุม รถไฟ ถนน เรือ อากาศ ดังนั้นปี 2558 จะเป็น “ปีทองของผู้ประกอบการก่อสร้างไทย” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ คสช.ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 ด้วยวงเงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 8 ปี โดยแบ่งเป็นโครงการตามแผนงาน 1.9 ล้านล้านบาท และการลงทุนรถไฟไทย-จีน กับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น อีก 1.1 ล้านล้านบาท
สาเหตุที่รัฐบาลจำต้องเร่งเข็นเมกะโปรเจกต์ออกมาขนานใหญ่ ก็เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในภาวะที่เครื่องยนต์อื่นแทบดับสนิท อันได้แก่ ตัวเลขส่งออกที่ติดลบ การบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว สิ่งที่คนหวังพึ่งจึงมีเพียงการลงทุนจากภาครัฐผ่านโครงการขนาดใหญ่ ที่จะฉุดให้การลงทุนจากภาคเอกชนเคลื่อนตัวตามไปด้วย รวมถึงการจ้างงานและการกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้น
มีการคาดการณ์ว่า แผนการลงทุนระยะ 8 ปีนี้ จะสร้างงานได้ราว 4 แสนคน และกระจายเงินที่จะไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกมหาศาล ส่วนระยะยาว ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง (โลจิสติกส์) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ตัวเลขมหาศาลนี้ได้สร้างความคึกคักให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ทั้ง 3 เจ้าใหญ่ของประเทศ ที่ครอบส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ได้แก่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD), บมจ. ช.การช่าง (CK) และ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ที่แต่งตัวรอประมูลตั้งแต่ต้นปี รวมไปถึงบริษัทดาวรุ่งอย่าง บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ที่ช่วงหลังโกยงานสำคัญมากมาย จนพุ่งขึ้นเป็นเบอร์ 4 ของวงการ ซึ่งพร้อมเข้าแย่งเค้กชิ้นมโหฬารก้อนนี้ด้วย
สำหรับ เปรมชัย แห่ง ITD เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าจะได้งานใหม่ในปีนี้ ราว 1.5 แสนล้านบาท โดยเตรียมเข้าประมูลโครงการปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง รถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟไทย-จีน โดยคาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้เป็นไปตามเป้าที่ 5 หมื่นล้านบาท โดยมีสัดส่วนงานของรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 70% จาก 60% และมีงานในมือ (backlog) แตะ 4 แสนล้านบาท
ด้าน ปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง CK เปิดเผยว่า ทางบริษัทพร้อมแข่งขันประมูลงานใหญ่ทุกโครงการ และมั่นใจว่าจะได้งานใหม่ราว 4-5 หมื่นล้านบาทเช่นกัน รวมถึงจะมี backlog เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท จากที่มีอยู่แล้ว 1 แสนล้านบาท ส่วน ภาคภูมิ นาคชำนิ กรรมการผู้จัดการของ STEC เผยว่า บริษัทตั้งเป้าประมูลงานใหม่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รายได้คาดว่าจะอยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยมี backlog รอรับรู้รายได้ราว 5.3 หมื่นล้านบาท
ประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย กรรมการของ UNIQ กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งรัดให้มีการประมูลโดยเร็ว โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ส่วนงานโครงการอื่นๆ นั้นอาจให้มีการทยอยดำเนินการภายหลังได้ ทั้งนี้ บริษัทที่มีไซส์ใหญ่เป็นอันดับ 4 มีความพร้อมในการร่วมประมูล เพราะทางบริษัทได้เพิ่มทุนเป็นจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ทาง UNIQ คาดว่า จะได้ส่วนแบ่งงานประมูลของรัฐ 25-30% ซึ่งจะทำให้ backlog เพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท
สำหรับในมุมมองนักวิเคราะห์ สุรชัย ประมวลเจริญกิจ นักวิเคราะห์จาก บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ราคาหุ้นของบริษัทก่อสร้างส่วนใหญ่จะพุ่งขึ้นตอบรับกับทิศทางที่น่าจะเป็นบวกกับผลประกอบการภายหลังการรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม ในปี 2557 โดยราคาหุ้น ITD เพิ่มขึ้น 120% CK เพิ่มขึ้น 48% STEC เพิ่มขึ้น 18% และ UNIQ เพิ่มขึ้น 130% แต่มูลค่าตลาดก่อสร้างในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้เพียง 3-5% เท่านั้น หรืออยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากรัฐเปิดประมูลงานต่างๆ ได้ล่าช้ากว่ากำหนดมาก
“โดยครึ่งปีแรกของปีนี้ ยังไม่สามารถมีการผลักดันการประมูลงานใหม่ออกมา บางโครงการที่เตรียมประมูลในครึ่งปีหลังก็ยังมีปัญหา เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการวางเส้นทาง จึงต้องจับตาดูในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อีกครั้ง ว่าจะมีความสำเร็จใจการผลักดันงานใหม่ๆ ออกมามากน้อยแค่ไหน” เขากล่าว
คงต้องจับตาว่า โครงการลงทุนหลานแสนบาทของ รัฐบาล คสช.จะเริ่มปักเสาเข็มได้จริงกี่โครงการ และธุรกิจก่อสร้างไทยจะกลับมาสู่ยุครุ่งเรืองได้อีกครั้งหรือไม่