องค์กรใหญ่อย่าง "เอ็มบีเค" ยืนหยัดในธุรกิจมากว่า 45 ปี จากธุรกิจอบพืช ไซโล ก่อนจะรุกธุรกิจค้าปลีก อาหาร การเงิน อสังหาฯ โรงแรม มาวันนี้โลกธุรกิจเปลี่ยนไป เอ็มบีเคต้องปรับตัวทั้งการให้บริการและระบบปฏิบัติงานภายใน เพื่อรองรับยุคดิจิทัลที่พฤติกรรมทั้งลูกค้าและพนักงานเปลี่ยน
มาบุญครองชื่อนี้ยังคงติดหูคนส่วนใหญ่แม้ทางกลุ่มจะเปลี่ยนชื่อเป็น “เอ็มบีเค” มาหลายปีแล้วแต่หลายคนยังเรียก “มาบุญครอง” ตามธุรกิจดั้งเดิมของกลุ่มที่เริ่มต้นจากบริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล ก่อนจะมาเปิดธุรกิจค้าปลีกในชื่อศูนย์การค้า “มาบุญครอง” เมื่อปี 2526 และเปลี่ยนมาเป็น “เอ็มบีเค เซ็นเตอร์”
ปัจจุบันเอ็มบีเคมี 8 กลุ่มธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่มีมาโดยตลอด ยิ่งใน 3-4 ปีหลังดิจิทัลมาแรง กลายเป็นโจทย์ใหม่ทำให้เอ็มบีเคต้องปรับตัว
Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เกษมสุข จงมั่นคง รองกรรมการผู้อำนวยการสายการเงินและบริการ ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลหลายธุรกิจใน เอ็มบีเคกรุ๊ป ซึ่งเขาเผยว่า วันนี้เอ็มบีเคยังคงยืนหยัดในธุรกิจค้าปลีกเป็นหลัก โดยจากรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2561 มาจากธุรกิจค้าปลีก 33% กว่า 4.2 พันล้านบาท ธุรกิจอาหาร 20% กว่า 2.5 พันล้านบาท ธุรกิจการเงิน 20% กว่า 2.4 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และอื่นๆ ภายใต้การดำเนินธุรกิจ 8 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย ค้าปลีก อสังหาฯ โรงแรม สนามกอล์ฟ การเงิน อาหาร และอื่นๆ, และธุรกิจสนับสนุน
มีสิ่งที่ต้องทำเหมือนกันคือปรับจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล คือ การทำ digitization เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงจากดิจิทัลในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ เริ่มจากภายในองค์กร ด้วยการพยายามทำให้ทุกขั้นตอนเป็นดิจิทัลทั้งหมด เช่น การอนุมัติทุกอย่าง ต้องสามารถทำได้จากโทรศัพท์มือถือ ทั้งใบลา ใบสั่งซื้อ บันทึกภายใน
“เราพยายามจะเลิกกระดาษให้หมด สัญญาเช่าต่างๆ นำมาสแกนเก็บไฟล์แชร์ไดรฟ์ฝากไว้กับคลาวด์เซอร์วิส เน้น paperless และ cashless ทั้งเงินรับเงินจ่าย ปรับเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด” ผู้บริหารเอ็มบีเคย้ำและว่า
ความเปลี่ยนแปลงของ ยุค 4.0 ทำให้เอ็มบีเคต้องปรับตัวในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อรองรับพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไป รวมทั้งพนักงานในองค์กรก็เปลี่ยนไป จากพนักงาน 4,200 คน ในปัจจุบันมีพนักงานเจนวาย (เกิดช่วงปี 2523-2540 อายุ 22-39 ปี) 65% เจนเอ็กซ์ (เกิดช่วงปี 2508-2522 อายุ 40-54 ปี) 30% กลุ่มเบบี้บูม (เกิดช่วงปี 2489-2507 อายุ 55-73 ปี) 4% และเริ่มมีพนักงานเจนซี (เกิดช่วงหลังปี 2540 อายุต่ำกว่า 22 ปี) เข้ามา 1% โดยรับพนักงานเด็กจบใหม่เข้ามาเรื่อยๆ
ด้วยสัดส่วนพนักงานคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้องค์กรต้องปรับตัวสู่วิถีของดิจิทัล ทุกอย่างต้องตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ ทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีมาทำงานในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งผู้บริหารเอ็มบีเคบอกว่าปรับมาได้ 30-40% และได้กำหนดกรอบเวลาการปรับตัวไว้หมดแล้ว
แอปพลิเคชันเอ็มบีเค เครื่องมือใหม่
ผู้บริหารเอ็มบีเคเผยว่า อีกสิ่งที่กำลังทำซึ่งจะเข้ามาเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ของกลุ่มทั้ง 8 บียู คือแอปพลิเคชัน “เอ็มบีเค” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการรวมข้อมูลลูกค้าผู้ใช้ บริการเอ็มบีเคทั้งหมด เป็นการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ big data ของเอ็มบีเคกรุ๊ป ซึ่งมีลูกค้าหลากหลายทั้งผู้เช่าในศูนย์การค้าเอ็มบีเคกว่า 2,000 ราย และผู้เช่าในศูนย์การค้าอื่นๆ ของกลุ่มอีกนับพันราย และลูกค้ารายย่อยผู้มาใช้บริการต่างๆ ของเอ็มบีเค
จะเป็นการรวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้า และเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น ใบแจ้งหนี้สามารถดูในแอปได้ เช่นเดียวกับค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ
“ในแอปเอ็มบีเคจะมี payment gateway สามารถชำระบัตรเครดิต ออนไลน์ แจ้งซ่อม โอนเงิน เป็นเรื่องของเซอร์วิสที่สะดวกรวดเร็ว” เกษมสุขอธิบายว่า แอปพลิเคชันนี้จะเป็นเสมือนอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้งานเร็วขึ้นได้ เช่น งานจ้างซ่อมอาจมีรายละเอียดเรื่องอุปกรณ์ ราคาแจ้งกลับไปยังผู้เช่า ซึ่งสามารถตกลงราคาและนัดหมายกันผ่านแอป ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แอปพลิเคชันนี้จะเป็นเครื่องมือในการตอบทุกเรื่อง ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
เตรียมเปิด “เดอะไนน์ ติวานนท์”
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีก เอ็มบีเคซึ่งนอกจากมีศูนย์ค้าปลีกใหญ่เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ที่ปทุมวันแล้ว ยังมีโครงการพาราไดซ์ พาร์ค ถ.ศรีนครินทร์, โครงการเดอะไนน์ ถ.พระราม 9 และกำลังพัฒนาโครงการเดอะไนน์ ติวานนท์ ขึ้นเป็นคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งใน “ริเวอร์เดล ดิสทริค” โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ 1,000 ไร่ที่ ถ.ติวานนท์ (ปทุมธานี) เป็นคอมเพล็กซ์ย่อมๆ ภายในโครงการมีทั้งสนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร คอมมูนิตี้มอลล์ และโรงเรียนนานาชาติ
นอกจากนี้ เอ็มบีเคยังถือหุ้นในบริษัทสยามพิวรรธน์ 48% ทำให้มีส่วนในความเป็นเจ้าของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และไอคอนสยาม โดยไม่ได้เข้าไปบริหารงาน แต่ถือว่าเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ทำให้เอ็มบีเคมีมุมมองและความเกี่ยวเนื่องในธุรกิจค้าปลีกหลากหลายคอนเซปท์
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แม้จะไม่ใช่ธุรกิจหลักของเอ็มบีเค แต่ก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จำนวนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแผนแต่ละปี
“ปีนี้มีควินน์คอนโด ใช้เงินเยอะพันกว่าล้าน และมีการปรับปรุงโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส จาก 400 กว่าห้องกำลังรีโนเวทใช้งบ 390 ล้านบาท และมีการพัฒนาโครงการใหม่เดอะไนน์ ติวานนท์ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ จะทำวิลล่าอีก 20 ห้อง ลงทุนกว่า 300 ล้าน และโครงการบ้านหรู รวมการลงทุนปีนี้น่าได้ 2 พันล้านบาท” เกษมสุขแจกแจงรายละเอียดการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ และโรงแรม
นอกจากที่พัฒนาไปแล้วยังมีการหาแลนด์แบงก์เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ล่าสุดมีแลนด์แบงก์อยู่ที่วุฒากาศ จะขึ้นคอนโด 400 ยูนิต และจรัญสนิทวงศ์ 33 จะขึ้นคอนโด 700 ยูนิต
ธุรกิจการเงินมาแรงคาดแตะ 2 หมื่นล้าน
จาก 8 กลุ่มธุรกิจที่ทุกวันนี้ค้าปลีกยังมีสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ แต่ในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า เกษมสุขมั่นใจว่ากลุ่มธุรกิจการเงินน่าจะเติบโตมากที่สุดจากพอร์ตสินเชื่อ “เอ็มบีเคการันตี” ซึ่งเป็นธุรกิจนันแบงก์ให้บริการสินเชื่อตามหลักประกัน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้น 2-3 ปี จากปัจจุบันพอร์ตมีอยู่ 7.5 พันล้านบาท คาดว่าจะเติบโตถึง 2 หมื่นล้านบาทได้ภายในปี 2566
“เอ็มบีเคการันตีเป็นธุรกิจดาวรุ่งของกลุ่มก็ว่าได้ จากบริษัทในเครือ 64 บริษัท 8 กลุ่มธุรกิจ”
นอกจากนี้ ผู้บริหารเอ็มบีเคยังเผยว่า ได้มีการบริหารแบบรวมศูนย์งานด้านเอชอาร์ ไอที การเงิน จัดซื้อ เช่น งานวิศวกรรม รวมเป็นส่วนกลาง เอ็มบีเคมีพร็อพเพอร์ตี้หลายที่ต้องมีกรรมการวิศวกลางมาคุยกัน แลกเปลี่ยนปัญหากัน ซื้อวัสดุอุปกรณ์ แลกข้อมูลกัน หรือการจัดซื้อสินค้าในนามเอ็มบีเคเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด
“แม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือ พนักงานเรากว่า 4 พันคนใช้มือถือไม่น้อย แทนที่จะกระจายใช้คนละค่าย เราก็นำมารวมศูนย์ใช้ค่ายเดียวที่ข้อเสนอดีที่สุด”
เป็นก้าวของการปรับตัวของเอ็มบีเค ที่เกษมสุขบอกว่า ดูเหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไร แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีการปรับหลายอย่างแบบ 360 องศา
ภาพ: เอ็มบีเค
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกันยายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine