สุเวทย์ ธีรวชิรกุล จัดทัพ “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” สู้ศึกสมรภูมิร้อนช็อปปิ้งมอลล์ - Forbes Thailand

สุเวทย์ ธีรวชิรกุล จัดทัพ “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” สู้ศึกสมรภูมิร้อนช็อปปิ้งมอลล์

หัวเรือใหญ่แห่ง เอ็ม บี เค กรุ๊ป ปั้นศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในใจนักช็อปต่างชาติ พร้อมขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้าชาวไทย ควบคู่กับการหนุนธุรกิจอื่นให้รุดหน้า เพื่อรักษารายได้หลักหมื่นล้านบาทไว้อย่างแข็งแกร่ง

เสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดีดังขึ้นเป็นระยะตลอดเวลาร่วม 2 ชั่วโมงที่ Forbes Thailand สนทนากับ สุเวทย์ ธีรวชิรกุล วัย 58 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจศูนย์การค้าคือ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ แลนด์มาร์คเด่นแห่งย่านปทุมวันอยู่ในความดูแล รวมทั้งที่ร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า 2 แห่งบนถนนศรีนครินทร์ ทั้งยังมีธุรกิจอื่นๆ อาทิ โรงแรมและการท่องเที่ยว สนามกอล์ฟ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร การเงิน ฯลฯ อยู่ภายใต้ร่ม เอ็ม บี เค กรุ๊ป “ต้องเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้” สุเวทย์กล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นและแววตาจริงจังสะท้อนทัศนคติและบุคลิกในการทำงานของเขาถึงการขยายธุรกิจอันหลากหลายของ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนำพารายได้ระดับหมื่นล้านบาทมาให้ โดย 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 มีรายได้รวม 8.55 พันล้านบาทและมีกำไรสุทธิที่ 1.5 พันล้านบาท การค้าขายคือสิ่งที่สุเวทย์คุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวของเขาค้าขายผ้าอยู่ที่สำเพ็ง ก่อนจะมาทำร้านสุกี้ยากี้ “นัมเบอร์วัน” ซึ่งเป็นธุรกิจตั้งแต่รุ่นปู่ ยามว่าง เด็กชายสุเวทย์ก็มักช่วยที่บ้านเสิร์ฟอาหารอยู่เสมอ แม้รสชาติและกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับสุกี้แต้จิ๋วจะเรียกลูกค้าให้มาลองลิ้มชิมความอร่อยได้มากเพียงไร แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดให้สุเวทย์และพี่น้องกลับมารับช่วงบริหารกิจการร้านสุกี้ไ ด้หลังจบปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจสาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาก็ไปสมัครเป็นพนักงานบัญชีที่ บริษัทอาหารสยาม จำกัด (มหาชน) อยู่ราว 2 ปีก่อนไปศึกษาต่อ MBA ที่ Wagner College สหรัฐอเมริกา ส่วนร้านสุกี้ยากี้นัมเบอร์วันที่ไม่มีเหล่าทายาทมาช่วยสืบทอดก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด ทะยานจากติดลบ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ยืนหยัดเป็นหมุดหมายสำคัญบริเวณสี่แยกปทุมวันมาตั้งแต่ปี 2528 ในนามศูนย์การค้ามาบุญครองที่ผงาดขึ้นมาในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2527 จึงกระทบบริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด เจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทเริ่มประสบสภาวะหนี้สินจนท่วมตัว ทั้งศูนย์การค้ามาบุญครองก็ยังมีผู้เช่าไม่เพียงพอ ในที่สุดมาบุญครองอบพืชและไซโลก็ถูกเทคโอเวอร์ในปี 2532 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสุเวทย์ในวัย 31 ปี ซึ่งเข้ามาในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รับหน้าที่กอบกู้ธุรกิจ ขณะนั้น บริษัทมีทรัพย์สินราว 2 พันล้านบาท และมีภาระหนี้อยู่ราว 2.6 พันล้านบาทสิ่งที่สุเวทย์ทำคือการขายทรัพย์สินและขายธุรกิจอื่นๆ ออกไป อย่าง ไซโล ชิปปิ้งและเทรดดิ้ง เฟิร์ม เพื่อให้เกิดสภาพคล่องคงเหลือไว้แต่ธุรกิจหลัก คือ ศูนย์การค้าและข้าวสารบรรจุถุงตรามาบุญครอง “ผมเคยโทรศัพท์ไปชำระหนี้แต่โดนด่ากลับมาเป็นครึ่งชั่วโมง โชคดีที่เรามาทีหลัง เพราะเขาพูดเรื่องลึกๆ อะไรมาเราก็ไม่รู้เรื่อง จึงไม่มีอารมณ์จะไปโมโห ถือเป็นความรู้เสียอีกที่เขาเล่าให้ฟัง ก่อนวางหูผมถามเขาไปสั้นๆ ว่าจะจ่ายเงิน คุณจะเอาไหม ถ้าจะเอาก็มาได้เลย เพราะก่อนโทร.ไป เรารู้ว่ามีเงินจ่ายแล้ว” สุเวทย์เล่าอย่างอารมณ์ดี พร้อมเพิ่มเติมว่า เขาใช้เวลาราว 3 ปีในการแก้ไขปัญหาการเงิน กระทั่งปี 2535 ก็สามารถจัดการทุกอย่างเรียบร้อย พร้อมมีเงินลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ปี 2537 บริษัทจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ในชื่อ บริษัท เอ็ม บี เค พร็อพเพอร์ตี้ส์ แอนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2539 จนกระทั่ง บริษัทจึงประกาศรวมธุรกิจในเครือภายใต้ชื่อเอ็ม บี เค กรุ๊ป อย่างเป็นทางการในปี 2555 โฉมใหม่ “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของชุมชนเมือง และโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใหญ่ต้องปรับตัวตามให้ทัน ตั้งแต่ปี 2558 คนไทยจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของห้างและศูนย์การค้าใหม่มากมาย ในมุมของสุเวทย์นั้นเขากลับไม่ถือว่าเป็นคู่แข่ง แต่กลับมองเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ช็อปปิ้งให้กับผู้บริโภค “ศูนย์การค้าต่างๆ คล้ายจะแข่งขันกันในตัว แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายคนละกลุ่ม” สุเวทย์ให้ความเห็น โดย เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สร้างตัวตนที่ชัดเจนวางตำแหน่งให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2540 ที่กำลังซื้อของคนไทยน้อยเพราะเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง เหตุผลที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เพราะมีสินค้าที่หลากหลายและสามารถต่อรองราคาได้ เมื่อร้านค้าเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นก็เกิดการปรับตัวโดยนำสินค้าที่ชาวต่างชาติต้องการเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าพักที่ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ได้ ซึ่งอัตราการเข้าพักของโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส อยู่ที่ราว 85% ตลอดปี กระนั้น การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็สร้างปัญหาตามมา เพราะทำให้ลูกค้าชาวไทยน้อยลง กลุ่มวัยรุ่นก็หายไปปลายปี 2559 เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จึงปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทยที่เป็นครอบครัวระดับ C ขึ้นไปจนถึง B ดึง อาณาจักรโรงภาพยนตร์บนชั้น 7 ศูนย์อาหารนานาชาติ ศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ห้างสรรพสินค้าโตคิว เป็นต้น ล่าสุด เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ปรับโฉมตัวเองด้วยการทุ่มงบราว 570 ล้านบาท ปรับปรุงโครงสร้างภายนอกอาคาร คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ Replica Audemars Piguet Watches ไปสิ้นสุดบริเวณสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและลงทุนอีกราว 500 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายในศูนย์การค้า โดยทยอยทำทีละส่วนเพื่อไม่ให้กระทบร้านค้าและผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนโลโก้เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จากเดิมสีเขียวให้เป็นสีดำ สื่อถึงความมั่นคง หนักแน่น และจริงใจ พร้อมปรับให้หางของตัว K ทะยานขึ้นไปและแต่งแต้มด้วยหลายเฉดสี สื่อถึงจุดเด่นของเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ที่มีสินค้ามากมายและสื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ “ศูนย์การค้าเป็นเรื่องของอารมณ์ จึงต้องมีความสนุกสนานอยู่ในนั้น” คือคำอธิบายของสุเวทย์ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ยังขยับการลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มสยามพิวรรธน์ในปี 2545 พร้อมร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์ในสัดส่วน 50:50 ทำศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค และ ศูนย์การค้า HaHa ทั้งยังเข้าสู่ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ คือ ศูนย์การค้า เดอะไนน์เซ็นเตอร์ เมื่อดูรายได้จากการดำเนินงานของเอ็ม บี เค กรุ๊ป ปี 2558 พบว่าธุรกิจศูนย์การค้าสร้างรายได้ที่ราว 4 พันล้านบาท หรือ 34.67% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด โดยรายได้อันดับหนึ่ง คือศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีสัดส่วนราว 70% จัดทัพธุรกิจเสริมความแข็งแกร่ง “อาหาร” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญที่เดินควบคู่กับธุรกิจศูนย์การค้ามาโดยตลอดมีสินค้าเด่นคือข้าวสารบรรจุถุงภายใต้ชื่อมาบุญครอง วางตัวเองเป็นพรีเมียมแบรนด์ เน้นคุณภาพสินค้ามากกว่าทำตลาดด้วยราคาที่ถูก “ถ้าขายถูกเราก็อยู่ไม่ได้” สุเวทย์เอ่ย ทั้งยังเปิดโรงแรมทินิดี ใน จ. ระนอง เน้นลูกค้าชาวไทย และ ดุสิต ธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท และ ลยานะ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่ จ.กระบี่ เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ด้าน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของ เอ็ม บี เค กรุ๊ป มี กลาสเฮ้าส์ รัชดา เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า และทำคอนโดมิเนียมในชื่อ ควินน์ รัชดา 17 ในขณะที่ธุรกิจการเงิน จัดตั้งธุรกิจให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ในบริษัทประกันชีวิต และธุรกิจด้านอื่นๆ อีก แม้แต่ละธุรกิจจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน แต่สุเวทย์ก็ยกความดีความชอบให้คณะผู้บริหารทุกส่วนงานที่สามารถรับผิดชอบธุรกิจอย่างเต็มที่ เป็นฟันเฟืองร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า เขาคาดการณ์รายได้ในปี 2559 ว่าน่าจะเติบโตจากปี 2558 ราว 5% ส่วนปีนี้ หัวเรือใหญ่แห่งเอ็ม บี เค กรุ๊ป หวังการเติบโตที่สูงขึ้นอีกแต่คงไม่สูงไปกว่าเดิมมากนัก “ทั้ง 8 ธุรกิจที่มีคือธุรกิจหลักของเราแล้วคงไม่ลดอะไร ส่วนจะเพิ่มอีกไหมยังไม่รู้ทุกอย่างอยู่ที่จังหวะและโอกาส เราไม่มีแผนจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ผมคิดว่าในไทยก็ยังทำอะไรได้อีกเยอะ” คือคำตอบของสุเวทย์ต่อทิศทางของเอ็ม บี เค กรุ๊ป ในอนาคต  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "สุเวทย์ ธีรวชิรกุล จัดทัพ “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” สู้ศึกสมรภูมิร้อนช็อปปิ้งมอลล์" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560