เศรษฐกิจอินโดนีเซีย บทพิสูจน์ฝีมือ Joko Widodo - Forbes Thailand

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย บทพิสูจน์ฝีมือ Joko Widodo

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Dec 2014 | 10:30 AM
READ 2623
ประธานาธิบดี Jokowi ลงพื้นที่หมู่บ้านที่ประสบภัยดินถล่มในตอนกลางของเกาะชวา


Joko Widodo หรือ Jokowi อดีตผู้ว่าการกรุง Jakarta สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานบดีคนใหม่ของอินโดนิเซีย เมื่อ 20 ตุลาคม 2557 หลังเอาชนะ Prabowo Subianto นักการเมืองคู่แข่ง อดีตนายพล ลูกเขยของอดีตประธานาธิบดี Suharto ผู้ทรงอำนาจที่ล่วงลับ ท่ามกลางความคาดหวังของคนในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 1 ในอาเซียน ว่านักการเมืองรุ่นใหม่วัย 53 ผู้มีภาพลักษณ์ของคนใจซื่อ มือสะอาด จะนำความกินดีอยู่ดี มาสู่ประชาชน

 
ในฐานะอดีตรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้อยู่ในแวดวงทางการเมืองกว่า 40 ปี ผมประเมินว่า Jokowi จะถูกท้าทาย และจับตาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 
 
การแสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำของประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง ทำให้ Jokowi ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากนานาชาติ เขาจะต้องแสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ภาคภูมิ และกล้าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ได้สัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียง คือ กำจัดการทุจริต นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่ประเทศ
 
ความรวดเร็วในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน  มากกว่า 100 ล้านคน หรือ 40% ของคนในประเทศมีรายได้ไม่ถึง 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ Jokowi ต้องเร่งสร้างแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง เช่น ต้องวางสวัสดิการสังคมด้านสุขภาพ หรือการส่งเสริมให้เด็ก ควรรับการศึกษาเป็นระยะเวลา 12 ปีด้วยงบพัฒนาภาครัฐ การสร้างแหล่งน้ำดื่มที่สะอาดแก่ชุมชนคนจน โดยกระจายงบประมาณไปให้ทั่วถึง
 
การสร้างความเป็น “หนึ่งในใจ” แก่ผู้ลงทุนและนักธุรกิจในระดับโลก Jokowi และคณะรัฐมนตรีของเขาคือ “เดอะสตาร์” ทีมใหม่ที่จะต้องเรียกเสียงเชียร์และปรบมือจากทั่วทุกสารทิศในโลกนี้ การเข้าถึงอย่างเข้าใจ ถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะต้องจับทางนักลงทุนและนักธุรกิจในประเทศและนานาชาติ หลังจากที่เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปิดประตูการค้าการลงทุน พัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในทุกหมู่เกาะของอินโดนีเซีย  
 
ดังนั้น Jokowi จะต้องรักษาระดับความสมดุลของความพอใจคนในประเทศควบคู่ไปกับความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศ โดยมี 3 ประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่เขาต้องจัดการให้เหมาะสม คือ 
 
- การอุดหนุนราคาน้ำมัน คนอินโดนิเซียได้ใช้น้ำมันราคาถูกที่สุดในอาเซียน แต่รัฐบาลใช้งบประมาณ1 ใน 5 ของประเทศอินโดนีเซียมาอุดหนุน ดังนั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลกระทบเป็นแรงกระเพื่อมสู่การควบคุมรายจ่ายประจำปีของประเทศอินโดนีเซียมากทีเดียว และถ้ารัฐบาลใหม่ต้องการลดการอุดหนุนลง จะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองอย่างไร
 
- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 5.12% เป็นอัตราการโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009  เนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง แต่ Jokowi ประกาศว่าจะทุ่มพัฒนาสาธารณูปโภคและภาคการผลิตให้มากที่สุดเพื่อให้ GDP เป็น 7% ใน 2 ปี เมื่อกระตุ้นมาก โอกาสที่เครื่องจะร้อนเกินไปย่อมมี
 
- การลงทุนจากต่างประเทศ อัตราการเติบโตที่ลดลงมาที่ 15%.ในปีนี้ เทียบกับ 27% เมื่อปีที่แล้ว ภาคเอกชนต่างคาดหวังว่า Jokowi จะแสดงฝีมือ เพิ่ม FDI ในปี 2015 ปีที่อาเซียนกำลังจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน  Jokowi และคณะคงต้องใส่เกียร์เดินหน้าให้ถูกต้องและแม่นยำเพื่อสามารถขับนำพาอินโดนีเซียให้ก้าวสู่ความเจริญมั่งคั่ง ที่จะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนในประเทศ และทุกประเทศใน AEC

 

ประจวบ ไชยสาส์น ประธานที่ปรึกษาฝ่ายไทย หอการค้าอินโดนิเซีย-ไทย นายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม  และอดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง