เมกะเทรนด์โลกที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ และทิศทางของไทยสู่การเป็น 'เมืองอัจฉริยะ' - Forbes Thailand

เมกะเทรนด์โลกที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ และทิศทางของไทยสู่การเป็น 'เมืองอัจฉริยะ'

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Aug 2019 | 04:00 PM
READ 6012

เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้” (smart city) คำที่หลายคนได้ยินบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนจากภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน ที่พยายามพัฒนาโซลูชั่นเพื่อให้ตอบรับกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสีเขียว และการปรับตัวเพื่อใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

แต่คำถามคือ อันที่จริงแล้วบริบทของ เมืองอัจฉริยะ นั้นควรตอบรับกับเรื่องพลังงานสีเขียวเท่านั้นหรือ ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกทุกวันนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะเรื่องพลังงาน ทำให้บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา Delta Future Industry Summit ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อสำรวจความเสี่ยงและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนสร้างแนวคิดสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมในประเทศ

Jakie Chang รองประธานบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกอยู่ตอนนี้คือเรื่องการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการปรับตัวด้านเทคโนโลยี ซึ่งนั่นทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้

และหากพูดถึงคำว่าสมาร์ทซิตี้แล้ว เรามองว่าการเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วย คือ ต้องมีความปลอดภัย, มีการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คน, มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในบ้านและที่ทำงาน, มีสุขภาพที่ดี, มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีผลิตผล และคำนึงถึงการใช้พลังงานซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนากิจกรรมต่างๆ

แจ็คกี้ ชาง

Chang กล่าวต่อว่า นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการควรนึกถึง คือการนำความเปลี่ยนแปลงมาใช้เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาในอนาคต โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของสมาร์ทซิตี้ ซึ่งที่เดลต้าเองเราเริ่มยกระดับขีดความสามารถในการจัดการด้านพลังงานและความร้อน เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบสนองเมกะเทรนด์ของโลก และสิ่งนี้เองที่ทำให้เราเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุค 4.0

ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า หลายครั้งเมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะคนมักนึกถึงเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก แต่ที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีคือการเข้าถึงคนในพื้นที่ของเมืองนั้นจริงๆ อย่างไรก็ตาม หลักๆ แล้วมองว่าความเป็นสมาร์ทซิตี้นั้นต้องนึกถึงคำ 2 คำด้วยกัน

คำแรกคือ Livable หรือเมืองน่าอยู่ ความน่าอยู่ในที่นี้ตีความได้หลายประการ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย เช่น อยู่ในเมืองนี้แล้วปลอดภัยจากอุบัติเหตุ, ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอยู่เบื้องหลัง

ยกตัวอย่างความปลอดภัยด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่ผ่านมาที่เรานำเทคโนโลยีมาใช้แล้วคือการติดกล้อง CCTV และระบบเซ็นเซอร์ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางจราจร หรือเรื่องความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ เรามีการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เข้าไปช่วยมอนิเตอร์การอุ้มน้ำของดินใน .ภูเก็ต เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดดินถล่ม

ดร.ศุภกร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความสะอาดและการจัดการขยะที่เป็นปัญหาทั่วไปของเมืองใหญ่นั้น สาเหตุมาจากผู้บริหารเมืองไม่สามารถติดตามได้ว่าการเก็บขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ วิธีการคือเราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามขยะได้นั่นเอง

คำที่สองคือ Smart โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารที่มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งการติดต่อกันได้ตลอดเวลานี้เองที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างโอกาสในการทำธุรกิจ และทำให้คนที่เข้ามาอยู่ในเมืองมีโอกาสในด้านอื่นๆ มากขึ้น

ดร.ศุภกร สิทธิไชย

แล้วประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่เมืองที่มีทั้ง Livable และ Smart ได้อย่างไรนั้น ดร.ศุภกรระบุว่า ภาครัฐคงไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด แต่ต้องเข้าไปส่งเสริมเมืองที่มีความพร้อมหรือมีความตั้งใจพัฒนาอยู่แล้วจากหน่วยงานหรือภาคเอกชนในเมืองนั้น

ทั้งนี้ วิธีการที่จะทำให้ภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกันในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ต้องประกอบไปด้วยขั้นตอน 5 ขั้นตอน คือ

  1. มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาเมืองนั้นไปในทิศทางใด ซึ่งแต่ละเมืองอาจมุ่งพัฒนาไม่เหมือนกันก็ได้ บางเมืองอาจเน้นไปที่นวัตกรรม ขณะที่บางเมืองอาจพัฒนาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
  2. ต้องรู้ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เมืองนั้นต้องการมีอะไรบ้าง ซึ่งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันคิด โดยโครงสร้างพื้นฐานในที่นี้คือ ระบบน้ำประปา, ไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคม เป็นต้น
  3. ต้องมีการจัดการข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่นั้นกระจัดกระจาย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้ เพราะหากข้อมูลเชื่อมถึงกันก็จะทำให้ผู้บริหารของเมืองนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เช่น จำนวนคนที่มีการศึกษา, จำนวนแรงงาน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย
  4. เมืองนั้นต้องมีบริการต่างๆ เป็นอัจฉริยะ ทั้งพลังงาน การจราจร
  5. มีการเลือกรูปแบบการบริหารจัดการเมืองอย่างเหมาะสม โดยบางอย่างอาจให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการ และบางอย่างให้เอกชนบริหารจัดการอาจดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้บริการนั้นๆ อยู่อย่างยั่งยืน

ท้ายที่สุด เมื่อเมืองใดพร้อมก็ควรประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนด้วยสิทธิพิเศษทางภาษี และการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)” ดร.ศุภกรกล่าวทิ้งท้าย

  รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator