เตือน Bitcoin เป็น "สินค้า" ยังไม่ใช่เงิน ซ้ำร้ายอาจ "ฟองสบู่" - Forbes Thailand

เตือน Bitcoin เป็น "สินค้า" ยังไม่ใช่เงิน ซ้ำร้ายอาจ "ฟองสบู่"

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Jul 2014 | 07:00 AM
READ 4904

ธนาคารไทยชี้ Bitcoin Exchange รายใหญ่ล้มละลาย เป็นสัญญาณเตือนภัยเงินตราเสมือน หลายประเทศยังไม่รับรองเป็นสกุลเงิน และอาจเรียกการเก็บภาษีเพื่อควบคุม หวั่นเกิดฟองสบู่ เนื่องจากไม่มีมูลค่าในตัวเอง

 

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานภาพของ Bitcoin ภายหลัง Mt.Gox หนึ่งใน Bitcoin Exchange รายใหญ่ที่สุดในโลก ยื่นความจำนงต่อศาลในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์ 

 

เนื่องมาจากระบบซื้อขายออนไลน์ของ Mt. Gox ถูกแฮก ทำให้ Bitcoin ของลูกค้า Mt.Gox จำนวน 750,000 หน่วย และ Bitcoin ที่เป็นของ Mt.Gox เองจำนวน 100,000 หน่วยนั้นสูญหาย (ราคาซื้อขาย Bitcoin ในขณะนั้นอยู่ที่ 565 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหน่วย มูลค่ารวมของ Bitcoin ที่ถูกจารกรรมไปจึงเท่ากับ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของมูลค่า Bitcoin ทั้งระบบทั่วโลก) 

 

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า Mt. Gox มีลูกค้าอยู่ราว 127,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนญี่ปุ่นประมาณ 1,000 คน และในขณะนั้น Mt.Gox มีทรัพย์สินเหลือในบัญชีธนาคารเพียง 32.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่พอสำหรับหนี้ค้างจ่ายแก่ลูกค้าจำนวนมหาศาล

 

นอกจากการล้มละลายของ Mt.Gox แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจ Bitcoin รายอื่นๆ ยังเกิดข่าวคราว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อเนื่อง เช่น Flexicoin เว็บให้บริการฝาก Bitcoin ต้องปิดตัวลง หลังพบว่า Bitcoin ของลูกค้าถูกจารกรรมไปทั้งหมด เป็นจำนวน 896 หน่วย รวมมูลค่าราว 600,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเทคโนโลยีที่ปิดบังตัวตนผู้ใช้นั่นเอง ทำให้เกิดตลาดมืดซื้อขายสินค้าผิดกฎหมายออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น Silk Road ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายยาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมายมูลค่านับร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจในธุรกิจและผู้ใช้งาน Bitcoin ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ coindesk.com ในปี 2014 มี Venture capital สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ (Start-up) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Bitcoin ด้วยมูลค่ารวมกว่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  อีกทั้งยังมีการติดตั้งเครื่อง ATM สำหรับ Bitcoin แล้วในหลายประเทศ และมีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนใน Bitcoin เช่น Winklevoss Bitcoin ซึ่งกำลังจะจดทะเบียนเป็น ETF เข้าไปซื้อขายในตลาด NASDAQ เว็บไซต์หลายแห่งเช่น Overstock และ Zynga ยอมรับการชำระสินค้าเป็น Bitcoin นอกจากนี้ยังมีกิจการหลายแห่ง เช่น Ebay Expedia และ Dish Network ที่มีแผนที่จะยอมรับให้นำระบบเงินดิจิตอลมาใช้จ่ายชำระค่าสินค้าในอนาคต 

 

ด้านจำนวนผู้ใช้ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากข้อมูลของ blockchain.com มีผู้ลงทะเบียนเปิดบัญชีซื้อขาย Bitcoin ซึ่งเรียกว่า “Wallet” แล้วราว 1.8 ล้านบัญชี


 

อย่างไรก็ตามหน่วยกำกับควบคุมเงินตราในหลายประเทศ ประกาศไม่รับรอง Bitcoin ว่าเป็นสกุลเงินตราแล้ว และจะใช้มาตรการภาษีควบคุมการขยายตัวของตลาดเงินตราเสมือน เช่น รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินจีนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจเงินตราเสมือน โดยห้ามไม่ให้ธนาคารรับเปิดบัญชีเงินฝากกับเว็บไซต์ที่รับฝากหรือซื้อขายเงินเสมือน (Cyber exchange) ขณะที่กระทรวงการคลังของเยอรมนีประกาศสถานะของ Bitcoin ว่าไม่ใช่เงินอิเลกทรอนิกส์ (e-money) และไม่ใช่เงินสกุลต่างประเทศ (foreign currency) แต่มีสถานะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล (private money) บุคคลทั่วไปสามารถถือครองและซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ โดยผู้ถือครอง Bitcoin ต้องแจ้งจำนวนที่ถือครองต่อทางการ และหากมีรายได้จากการค้า Bitcoin จะต้องนำมาคำนวณรวมเพื่อประเมินภาษี

 

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งเตือนแล้วว่า Bitcoin ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวจะแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย และจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว


 

ด้านผู้ใช้งานที่เชื่อมั่นใน Bitcoin กลับมองว่า เหตุที่เงินตราเสมือนชนิดนี้ดีกว่าระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรารูปแบบเดิม เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินชำระราคาผ่านระบบออนไลน์ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร และจะไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง ปริมาณ Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกจำกัดด้วยการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ที่ยากขึ้นตามลำดับ ปริมาณของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่จึงน้อยลง และทำให้มูลค่า Bitcoin จะไม่ลดลงเหมือนกับเงินสกุลจริง (ดังเช่นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ด้อยค่าลงเนื่องจากมาตรการ QE) 

 

นอกจากนี้ การทำธุรกรรมทุกรายการจะถูกตรวจสอบและบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกัน จึงมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งเพราะมีการช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน 

 

อย่างไรก็ตาม การที่เว็บไซต์ผู้รับฝาก Bitcoin เช่น Mt.Gox ปิดกิจการและสร้างความเสียหายให้กับลูกค้า Mt.Gox เป็นเหตุการณ์ที่ชี้ว่าการซื้อขายหรือถือเงิน Bitcoin ยังมีความเสี่ยงสูง และอาจไม่ปลอดภัยดังที่ผู้ใช้งาน Bitcoin คาดหวัง 

 

หลายฝ่ายยังเตือนว่า การที่ Bitcoin มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า Bitcoin จะเป็นฟองสบู่หรือไม่ ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญของ Federal Reserve Bank of St. Louis มองว่าสินทรัพย์ที่เข้าข่ายเป็นฟองสบู่ คือสินทรัพย์ที่มีราคา (Price) มากกว่ามูลค่าของตัวมันเอง (Intrinsic value) ด้วยคำจำกัดความนี้ อาจกล่าวได้ว่า Bitcoin เป็นฟองสบู่ เพราะว่า Bitcoin ไม่มีมูลค่าในตัวเอง หรือ Intrinsic value มีค่าเท่ากับศูนย์

 

แต่กลับเกิดความเห็นแย้งคือ สินทรัพย์ประเภทอื่นเช่นทองคำ ก็น่าจะจัดเป็นฟองสบู่ด้วยเช่นกัน เพราะทองคำมีราคาสูงกว่ามูลค่าในตัวเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วฟองสบู่ของ Bitcoin ต่างจากฟองสบู่ของทองคำหรือไม่อย่างไร ในรายงานของฉบับดังกล่าวชี้ว่า ให้วิเคราะห์จากอุปสงค์และอุปทานของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดเสถียรภาพของราคา จริงอยู่ว่า Bitcoin และทองคำมีลักษณะคล้ายกันตรงที่มีอุปทานอย่างจำกัด แต่ในด้านอุปสงค์นั้น ทองคำนั้นได้รับการพิสูจน์มาแล้วกว่าร้อยปีว่ามีความต้องการที่แท้จริง อย่างน้อยก็จากการใช้งานในอุตสาหกรรม ใช้เป็นเครื่องประดับ และความต้องการจากธนาคารกลาง 

 

แต่สำหรับ Bitcoin ยังมีข้อสงสัยว่าความต้องการใน Bitcoin จะเป็นความต้องการที่ขยายตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ย่อมหมายความว่า Bitcoin คือฟองสบู่ที่ไม่ยั่งยืน และราคาของ Bitcoin ควรกลับไปหามูลค่าที่แท้จริงของตนเองในที่สุด   

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า Bitcoin ยังไม่สามารถใช้ทดแทนเงินในวงกว้างได้ การล้มละลายของ Mt. Gox น่าจะทำให้ผู้เล่นในตลาด Bitcoin ตระหนักว่า การใช้งาน Bitcoin ไม่ว่าจะเพื่อเก็งกำไรหรือนำมาใช้แทนเงินตรายังมีความเสี่ยงสูงมาก 

 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศที่ออกมาเตือนผู้ซื้อผู้ขาย Bitcoin อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหน่วยงานในบางประเทศจะไม่ได้ห้ามการซื้อขาย แต่หากรัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มเก็บภาษีบนธุรกรรมซื้อขายเงินเสมือนดังที่ประกาศไว้ ย่อมหมายความว่าการซื้อขาย Bitcoin จะมีต้นทุนสูงขึ้นทันที และจะเป็นการควบคุมการเติบโตของตลาด Bitcoin ไปในตัว 

 

โดยสรุปแล้ว Bitcoin เป็นระบบการสร้างและถ่ายโอนความมั่งคั่ง ที่ได้ผ่านการคิดค้นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ที่จะมาใช้แทนการชำระเงินในวงกว้างได้ การซื้อเพื่อลงทุน Bitcoin อาจเข้าข่ายเป็น "ฟองสบู่"  เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีมูลค่าในตัวเองหรือเกิดความต้องการที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อขาย Bitcoin น่าจะยังคงมีต่อไป เนื่องจากยังมีผู้ที่เชื่อในระบบ Bitcoin อยู่อีกมาก แต่การขยายตัวจะไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วเหมือนกับช่วงปีที่ผ่านมา