เจ้าของแบรนด์ดังแชร์ประสบการณ์ธุรกิจ - Forbes Thailand

เจ้าของแบรนด์ดังแชร์ประสบการณ์ธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Nov 2014 | 06:43 PM
READ 7237
ผู้สร้างสินค้าดัง Mega We Care, Mc Jeans, Blue Elephant, NaRaYa ร่วมเวที Forbes Thailand Forum แชร์ประสบการณ์ธุรกิจการสร้างแบรนด์ และความสำเร็จในต่างแดน


Forbes Thailand Forum ประจำปี หัวข้อ 2015: Will Thailand Turn the Corner?  เวที AEC & Thai Brands: Opportunities & Pitfalls ซึ่งผู้ร่วมเวทีเป็นผู้นำธุรกิจที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตน จนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติได้ ประกอบด้วย วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ๊นซ์ จำกัด (มหาชน), สุณี เสรีภาณุ ประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัทบลูเอเลเฟ่นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ วาสนา ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัทนารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด

 
วิเวก ดาวัน ซีอีโอ Mega LifeSciences เจ้าของอาหารเสริมแบรนด์ดัง Mega We Care ที่รู้จักกันในหลายประเทศ ย้อนความหลังว่า เราเริ่มธุรกิจอาหารเสริมเมื่อ30 ปีก่อน ซึ่งตลาดเล็กกว่าปัจจุบันหลายเท่า จึงเริ่มคิดที่จะขยายกิจการไปยังต่างประเทศ โดยเน้นประเทศที่กำลังพัฒนา เช่นเมียนมาร์หรือเวียดนาม จากนั้นไปที่แอฟริกา เพราะเงินทุนของเรายังน้อย ไม่สามารถแข่งกับคู่แข่งในประเทศที่เจริญแล้วได้เลย แต่มีข้อดีคือทำให้เรามีเวลาในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง 
 
“มาวันนี้ตลาดใหญ่ขึ้น คู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ขนาดร้านขายยายังสร้าง house brand ของตัวเอง ทำให้เราต้อพยายามสร้างแบรนด์ให้มากกว่าขายยาหรือาหารเสริม แต่เป็นการขายข้อมูลความรู้ เป็น knowledge provider ในด้านสุขภาพ ให้ผู้บริโภคตัดสินใจ” 
 
เขากล่าวอีกว่า กิจการในต่างประเทศนั้นเป็นของเราทั้ง 100% ดังนั้นความท้าทายอย่างแรกคือ การหาผู้ร่วมงานในท้องถิ่น ทำอย่างไรให้ทีมงานในประเทศคิดว่าเป็นเหมือนธุรกิจของตัวเอง ทำอย่างไรให้เขาคิดว่า “เมก้า วี แคร์ เบอร์ม่า” เป็นของพม่าเอง  นั่นหมายถึงการก้าวไปลงทุนยังต่างแดน โดยเฉพาะประเทศที่ยังเล็ก ต้องมองระยะยาว ไม่ใช่แค่หวังกำไรแค่ในสามเดือน
 
“แต่ในธุรกิจระดับกลางและเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น อาจมีปัญหาเรื่องเงินทุน จึงคิดยาวไม่ได้ ในเรื่องทางรัฐบาลและสถาบันการเงินควรช่วยเหลือ” เขาเสนอแนะ

 
สุณี เสรีภาณุ ผู้บริหารกางเกงยีนส์แบรนด์ไทยอันดับหนึ่ง Mc Jeans  เล่าถึงอดีตว่า ธุรกิจเริ่มต้นเมื่อ 40 ปีก่อน จากรับจ้างผลิตหรือ OEM ให้กางเกงยีนส์แบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศ มาสู่การสร้างแบรนด์ของเราเอง ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงประเทศไทยกำลังเติบโต คนเริ่มมีกำลังซื้อ เริ่มมองหาสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์ มากกว่าแค่เพื่อตอบสนองการใช้งาน จึงเป็นช่วงเหมาะที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง
 
ในวันนี้ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง จากผลิตกางเกงยีนส์มาสู่ธุรกิจค้าปลีก แม๊คกรุ๊ปเพิ่งจะซื้อกิจการบริษัทนำเข้านาฬิกาจากต่างประเทศมาเป็นของตัวเอง ทำให้ต่อไปร้านของแม็คกรุ๊ป จะไม่ได้มีแค่กางเกงยีนส์อีกต่อไป จะมีสินค้าใหม่ๆ ที่จะทยอยเปิดตัว
 
สำหรับการรุกตลาดอาเซียนนั้น เธอบอกว่าเราไม่รีบร้อนในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้รอช้า เพราะช่วงนี้ใช้เงินทุนน้อย ทำให้ผลตอบแทนมาก แต่ก่อนจะไปเปิดตลาดในประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องหาทิศทางหาข้อมูลให้รอบคอบ เช่นไลฟ์สไตล์ของคน ในแต่ละประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
 
"สินค้าของเราทำให้ต้องเรียนรู้นิสัย ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค เพราะมีผลต่อการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ บางทีเด็กอ่านชอบแต่งเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งผู้ใหญ่อาจอยากแต่งตัวคิขุก็ได้" 
 
เธอยังชี้ให้เห็นปัญหาเวลานี้ว่า องค์กรขนาดเล็กหรือกลางจะพบปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล นั่นคือพัฒนาบุคลากรไม่ทันการเติบโตขององค์กร ในเวลานี้ตัวเองตั้งแผนกเพื่อลุย AEC แล้ว ตอนแรกตั้งใจว่าจะหาผู้ชายมาทำ แต่กลับมีแต่ผู้หญิง และอีกปัญหาคือระบบไอที ปัจจุบันช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างมาก จุดขายหน้าร้านเปลี่ยนไปอยู่ที่มือของผู้บริโภคแล้ว

 
นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ผู้นำแบรนด์ร้านอาหารไทยชื่อดังและโรงเรียนสอนทำอาหาร Blue Elephant ซึ่งเติบโตและโด่งดังในต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาปักหลักในแผ่นดินแม่เมื่อ 11 ปีก่อน กล่าวว่า เมื่อกว่า 30 ปี อาหารไทยไม่ได้แพร่หลายในยุโรปเหมือนเวลานี้ ที่ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนจริงจังมาก ในช่วงเริ่มแรกเราเป็นผู้นำได้เพราะทำให้อาหารไทยมีลักษณะแบบอาหารตะวันตก จัดเป็นคอร์สหรือเป็นชุดแบบเดียวกับอาหารฝรั่งเศส จนปัจจุบันเราเสริมเพิ่มความหรูหรา พร้อมทั้งหาวัตถุดิบที่เป็น organic เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารไทยมากยิ่งขึ้น
 
“ในฐานะตัวเองเป็นเชฟ ในหัวคิดก็จะมีแต่เรื่องเมนูอาหาร เวลารับงานจากใคร เช่นจากกระทรวงต่างประเทศ ก็จะพยายามคิดรายการอาหารให้เหมาะกับเจ้าของงาน ในลักษณะ tailor-made และขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ให้กับอาหารไทยด้วย” เขายังย้ำด้วยว่า อาหารไทยนั้นรสชาติเยี่ยมอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค

 
วาสนา ลาทูรัส ผู้ผลิตและเจ้าของกระเป๋าผ้าติดโบว์แบรนด์ดัง NaRaYa เปิดเผยว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้รู้เรื่องแบรนด์แต่อย่างใด ไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้แต่ต้นเลย จุดเริ่มก็คือการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ จนเป็นที่นิยม แต่คิดว่ารายรับจากตรงนี้ไม่พอ แล้วเห็นว่ามีสินค้าเหลือจากการส่งออก จึงหาหน้าร้านที่ห้างนารายภัณฑ์เพื่อขายในประเทศด้วย 
 
สมัยนั้นกระเป๋าผ้ายังไม่นิยมกันในไทย คนอื่นเห็นเราขายได้ก็ทำเลียนแบบ มาตั้งร้านขายข้างๆ เรา ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อลูกค้านำสินค้ามาซ่อมหรือขอเปลี่ยนสินค้าผิดร้าน เราจึงได้คิดชื่อของตัวเพื่อติดลงบนสินค้า ถ้าไม่มีชื่อเรา จะไม่รับเปลี่ยนหรือรับคืน เมื่อเริ่มนิยมในญี่ปุ่น ก็มีคนที่นั่นทำเลียนแบบเช่นกัน เราจึงต้องลงทุนไปจดทะเบียนที่ญี่ปุ่น และทำเช่นเดียวกันนี้ในอีกหลายๆ ประเทศ ทำให้หมดเงินไปเป็นจำนวนมาก
 
“นี่คือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ แค่มาจากความพยายามจะหนีคนอื่น ไม่ให้คนอื่นมาลอกเรา แต่เมื่อมีชื่อขึ้นมา คนเริ่มรู้จัก ก็เริ่มต้องระมัดระวัง ต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาหลักของสินค้าประเภททำด้วยมือ หรืองาน OTOP ที่ยากจะทำได้เหมือนสินค้าตัวอย่างทุกชิ้น”
 
เธอกล่าวอีกว่า จากยุคเริ่มต้นที่เราส่งงานให้ชาวบ้านทำทั้งหมด แต่พอเห็นปัญหาเรื่องมาตรฐานสินค้า จึงตัดสินใจตั้งโรงงานเพื่อควบคุมมาตรฐาน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่สวนทางกับคนอื่น ปัจจุบันมีคนงานกว่า 3,000 คน ขณะที่ยังส่งงานให้กับอีก 4,000 ครอบครัว การซื้อกระเป๋าของเราจึงเป็นการช่วยสนับสนุนรายได้ให้กับชาวบ้านอีกด้วย