เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง ผู้ประกอบการไทย "เจฟอกซ์ แอร์คราฟท์" พัฒนาเครื่องบินเล็ก 2 ที่นั่ง หวังร่วมสนามแข่งขันตลาดสหรัฐอเมริกา
เจตนากร เป็งศิริ จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา แต่เขากล่าวกับ Forbes Thailand ว่า เขามีความชื่นชอบอากาศยานมาตั้งแต่เด็ก ที่สุดแล้วจึงได้ร่วมงานเป็นวิศวกรการบินในสายการบินพาณิชย์แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเป็นวิศวกรซ่อมบำรุงเครื่องยังไม่ตรงกับความตั้งใจเพราะเจตนากรต้องการเป็นวิศวกรผู้ออกแบบและพัฒนาเครื่องบินทั้งลำด้วยตนเอง
จากความฝันดังกล่าวเจตนากรร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนรวบรวมทุนส่วนตัวก่อตั้ง บริษัท เจฟอกซ์ แอร์คราฟท์ จำกัด ขึ้น โดยเจตนากรนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จุดมุ่งหมายเพื่อออกแบบพัฒนาเครื่องบินขนาดเล็ก 2-4 ที่นั่ง ในลักษณะชุดประกอบเครื่องบิน หวังส่งจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา
“ตลาดที่เรามอง คือ Extreme Aircraft ซึ่งตลาดใหญ่ 60% จะอยู่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งคนสนใจเครื่องบินและมีสนามบินมากถึง 5 พันแห่ง ตลาดนี้ผู้บริโภคจะซื้อชุดประกอบเครื่องบินไปประกอบเองและใช้บินเอง เป็นเหมือนกับงานอดิเรกของเขา” เจตนากรกล่าว
โดยในตลาดเครื่องบินขนาดเล็กนี้ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายกลุ่ม แต่ที่เจฟอกซ์มุ่งเน้นคือเครื่องบินสมรรถนะสูงซึ่งสามารถบินแบบผาดโผนได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาศักยภาพของเครื่องบินทั้งโครงสร้างวิศวกรรมของเครื่องบิน เครื่องยนต์ และแผงควบคุม
เจตนากรกล่าวว่า เขาได้รับแรงสนับสนุนจากหลายหน่วยงานร่วมพัฒนาเครื่องบินของเจฟอกซ์ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันการบินพลเรือน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) Design Clinic แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ทำให้มีองค์ความรู้เพิ่มในการออกแบบเครื่องบิน จนปัจจุบันกำลังเร่งสร้างเครื่องบินรุ่นแรก “SportThunder”
เครื่องบิน Sport Thunder เป็นเครื่องบินเล็ก 2 ที่นั่ง ขณะนี้งานออกแบบกำหนดโครงสร้างจากวัสดุคาร์บอนคอมโพสิต ความเร็ว 250 น็อต เครื่องยนต์แบ่งเป็นรุ่น 240HP และ 300HP ซึ่งคาดว่าการผลิตเครื่องบินลำจริงจะสำเร็จภายใน 20 เดือนจากนี้
“เป้าของเราคืออีก 2 ปีเราอยากจะไปเปิดตัวเครื่องบินที่งาน
EAA AirVenture Oshkosh ที่รัฐ Wisconsin เป็นงานรวมการจัดแสดงเครื่องบินประจำปีที่ใหญ่มาก แต่ละปีมีคนนำเครื่องบินไปร่วมงานนับหมื่นลำ” เจตนากรกล่าวและเสริมว่า เคยมีสตาร์ทอัพผู้พัฒนาเครื่องบินเล็กจากแอฟริกาใต้เข้าร่วมงานและสามารถแจ้งเกิดก่อตั้งบริษัทในสหรัฐฯ สำเร็จจากงานนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่เจฟอกซ์ต้องการจะก้าวไปเช่นกัน
ในอีก 2 ปีข้างหน้า หากเจฟอกซ์สามารถผลิตเครื่องบินได้ตามคาดการณ์ คาดว่าจะออกจำหน่ายเครื่องบินเล็ก 2 ที่นั่งในราคาชุดละ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับตลาดต่างประเทศ และจำหน่ายในแบบการสั่งผลิต ซึ่งถ้าหากไปได้ดีจะเริ่มระดมทุนจากบริษัทที่สนใจลงทุน
ปัจจุบันเจฟอกซ์ออกแบบงานรูปแบบสามมิติบนโปรแกรม
Solidworks โดยมีฐานการวิจัยพัฒนาที่ศูนย์นวัตกรรมของบริษัทใน จ.สมุทรสาคร จากนั้นนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ และมีการทดสอบในอุโมงค์ลมจากความร่วมมือของ
Design Clinic ม.เกษตรศาสตร์
“ถ้าทำเครื่องบิน 2 ที่นั่งสำเร็จแล้วเราก็อยากขยับไปเป็น 4 ที่นั่ง และสูงสุดที่ต้องการจะไปคือระดับอวกาศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นยานอวกาศที่มีคน เป็นยานสำรวจก็ได้ เพราะทุกวันนี้เรามีผู้สนับสนุนมากมายและศึกษาเรื่องชั้นบรรยากาศ แรงดันอากาศอยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะทำได้” เจตนากรกล่าวปิดท้าย
อ่านเพิ่มเติม