อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จับเทรนด์ฟื้นธุรกิจ ฉบับเจ้าพ่ออีเวนต์ - Forbes Thailand

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จับเทรนด์ฟื้นธุรกิจ ฉบับเจ้าพ่ออีเวนต์

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ พลิกเกม จับเทรนด์คนรุ่นใหม่ ‘FOMO-FOTO’ ชอบสร้างภาพลักษณ์ในโลกโซเชี่ยล ฟื้นธุรกิจอีเวนต์ มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน ลุยสร้าง Experience and Content Platform ดันรายได้แตะ 1,000 ล้านบาทปีนี้ แนะรัฐเร่งปลดล็อกเดินหน้าเศรษฐกิจ

อีเวนต์ หรือ การจัดกิจกรรมการตลาด เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ และการปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ผู้นำในธุรกิจอีเวนต์ที่มีรายได้เกือบ 1,500 ล้านบาท ในช่วงก่อนโควิด กลับมีรายได้ลดลงเหลือเพียง 434.86 ล้านบาทในปีถัดมา และต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อประคองบริษัทให้อยู่รอด รวมถึงการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์บริการฆ่าเชื้อ KILL & KLEAN ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มูลค่าของธุรกิจอีเวนต์ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หายไปประมาณ 70-80 % เพราะลูกค้ามีความกังวลหากจัดงานจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้น ทำให้ลูกค้าลดการจัดงาน ลดงบประมาณ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งเราต้องพยายามทุกทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าว สำหรับรายได้ของกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ฯ ปี 2562 มีรายได้รวม 1,486.43 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ลดลดร้อยละ 71 เหลือ 434.86 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนที่หายไปมากที่สุด คือรายได้จากการบริการจัดกิจกรรมการตลาด จาก 1,138.35 ล้านบาท เหลือ 276.02 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 มีรายได้รวม 577.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ซึ่งมาจากบริการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ และโปรเจกต์ของบริษัทที่สร้างขึ้น

จับเทรนด์ FOMO-FOTO สร้างรายได้

เกรียงไกร กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้สร้างโปรเจ็กต์ของตัวเอง เรียกว่า “Experience and Content Platform” ในรูปแบบนอน อีเวนต์ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน เริ่มตั้งแต่ Village of illumination @Singha Park Chiang Rai  เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว House of Illumination ศิลปะดิจิทัลทีใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เซ็นทรัลแกลอรี ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ จัดถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เมืองโบราณไลท์เฟส เทศกาลประดับไฟฤดูร้อนยามค่ำคืน Forest of Illumination at Kirimaya เทศกาลประดับไฟ และการแสดงแสง สี เสียง ครั้งแรกของเขาใหญ่ที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับนวัตกรรมดิจิทัล เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ และงาน Tha Maharaj illumination สำหรับปีนี้จะมีการจัดงานรูปแบบดังกล่าว 20 งาน ตั้งเป้ามีผู้ร่วมงานประมาณ 200,000 คน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 924.89 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 60 จากปีก่อน หรืออาจจะมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนไม่รุนแรง “ปีที่ผ่านมา เราสร้าง Experience and Content Platform ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค Metaverse เรียกว่า FOMO-FOTO เพราะทุกวันนี้คนไม่อยากตกกระแส และเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานต่างๆ และอวดในโลกโซเชี่ยล ตัวอย่างในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ผู้เข้าร่วมชมงานพยายามไลฟ์ ถ่ายรูปตลอดเวลา เพื่อโพสต์ในโซเชียล” เกรียงไกร ระบุ จากเทรนด์ FOMO-FOTO ทำให้การเข้าถึงกิจกรรมในโลกโซเชียลเข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น เช่น อีเวนต์ที่เราจัดขึ้นมามีคนเข้าร่วมงาน 100,000 คน แต่ถ้าในโลกโซเชียลเข้าถึงผู้คนกว่า 3 ล้านคน ทำให้ประสิทธิภาพของการจัดงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งนี้ภายใต้แนวคิดในการดำเนินธุรกิจใหม่ จะทำให้ธุรกิจอีเวนต์กลับมาฟื้นตัว

แนะรัฐปลดล็อกธุรกิจอีเวนต์

เกรียงไกร กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐปลดล็อกการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขด้านสาธารณสุขใหม่ๆ ที่ควรนำมาพิจารณา เช่น ปัจจุบันมีคนฉีดวัคซีนเข็มแรกมากกว่าร้อยละ 70 ขณะที่การระบาดของโอมิครอนไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนๆ จึงอยากให้ ศบค.ปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การห้ามจัดงานที่มีคนเกิน 500 คนขึ้นไป “ยกตัวอย่างการจัดงานเวิลด์ เอ็กซ์โปที่ดูไบช่วงที่ผ่านมา เขาเปิดประเทศ 100% สำหรับนักท่องเที่ยว ไม่มีการตรวจ PCR ตรวจ ATK ผลเป็นลบเข้างานได้ทันที ถึงแม้จะมีคนติด แต่เมื่อได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ แค่ 4 วันก็หายได้ ซึ่งการจัดงานอีเวนต์ในตลาดโลก ไม่มีการจำกัดจำนวนคน ด้วยสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป รัฐควรปลดล็อกการจัดอีเวนต์ที่เปิดให้มีจำนวนคนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเปิดได้ การท่องเที่ยวจะกลับมา” เกรียงไกรระบุ สำหรับอินเด็กซ์ฯ เอง นอกจากการสร้างอีเวนต์ของตัวเองเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ได้พยายามกระจายความเสี่ยง เพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งแฟรนไชส์บริการฆ่าเชื้อ KILL & KLEAN หรือ ANYA ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ร่วมกับกลุ่มไมเนอร์ให้บริการ Sleep Test สำหรับนักท่องเที่ยว โดยวางแผนจะขยายธุรกิจในต่างประเทศ “การขยายธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับบริษัทในอนาคต” เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: “เซ็นทรัล รีเทล” ลงทุน แสนล้าน ปั้นกลยุทธ์ CRC Retailligence ตั้งเป้าค้าปลีกเบอร์ 1 เอเชีย  

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine