“เมื่อ 10 ปีก่อนที่ผมเริ่มธุรกิจสาหร่าย ผมไม่มีความรู้ในสิ่งที่ทำเลย ไม่มีคอนเน็คชั่น และไม่มีเงิน ความยากของผมคือการไม่มีทุกอย่างในวันนั้น แต่โชคดีก็อยู่ที่ผมไม่มีทุกอย่างในวันนั้นเหมือนกัน สิ่งที่ผมมีอย่างเดียวคือ passion ที่ทำให้ผมค่อยๆ หาความรู้และลงมือทำ” อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ “เบอร์หนึ่ง” เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์สาหร่ายในไทย เริ่มบทสนทนากับ Forbes Thailand
สมัยวัยรุ่นเขาชอบเล่นเกมมาก ถึงขั้นที่เคยมีรายได้จากการเล่นเกมออนไลน์สูงสุดเดือนละ 4 แสนบาท แต่เมื่อเกมส์ออนไลน์เสื่อมความนิยม ประกอบกับอยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ต้องติดหนี้กว่า 40 ล้านบาท อิทธิพัทธ์ จึงคิดหาวิธีสร้างรายได้ นั่นคือการขาย เกาลัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบรับประทาน ธุรกิจไปได้ดีจนสามารถขยายได้กว่า 30 สาขา แต่ต่อมาศูนย์การค้าที่เขาเช่าพื้นที่ไม่อนุญาตให้คั่วเกาลัด ทำให้ยอดขายตกลงครึ่งหนึ่ง เป็นที่มาของการนำ สาหร่าย มาวางขาย และสร้างรายได้แซงหน้าเกาลัด
ในที่สุด อิทธิพัทธ์ จึงตัดสินใจลุยธุรกิจสาหร่ายเต็มตัว เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์สาหร่ายให้มีรสชาติถูกปาก สามารถเก็บได้นานขึ้น และทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม พร้อมตั้งชื่อแบรนด์ว่า เถ้าแก่น้อย จากนั้นก็เสนอสินค้าเข้าไปที่ 7-Eleven เมื่อร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ตอบตกลง เขาจึงนำเงินที่ได้จากการขายร้านเกาลัดไปสร้างโรงงานเล็กๆ มีญาติพี่น้องมาร่วมแรงร่วมใจผลิตสินค้าให้ทันวางขาย
นับถึงปัจจุบัน เถ้าแก่น้อย มีสินค้าที่วางขายทั้งในไทยและต่างประเทศแล้วราว 200 รายการ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสาหร่าย แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ทอด ย่าง เทมปุระ และอบ และระยะหลังเขาเน้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ข้าวโพด มากขึ้น ชายหนุ่มตั้งใจว่า ภายในปี 2561 สัดส่วนระหว่างผลิตภัณฑ์สาหร่ายกับข้าวโพดจะอยู่ที่ 60:40 หรือ 70:30
การกระโจนเข้าสู่สนามอย่างเอาจริง สร้างความได้เปรียบให้อิทธิพัทธ์ รายได้ 4-5 ปีแรกของ เถ้าแก่น้อย เติบโต 2 เท่าทุกปี และขึ้นแตะหลักพันล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2551ส่วนรายได้ 3 ปีที่ผ่านมานั้น ปี 2555 อยู่ที่ราว 2.54 พันล้านบาท ปี 2556 ราว 2.72 พันล้านบาท และปี 2557 ราว 2.73 พันล้านบาท ปีนี้เขาคาดการณ์รายได้ไว้ที่ราว 3.2 พันล้านบาท
เมื่อธุรกิจที่เขาสร้างแตะหลักพันล้านไปเรียบร้อย ความท้าทายใหม่จึงเป็นการพา เถ้าแก่น้อย ไปสู่การเป็น global company ที่มีสินค้าส่งออกไป 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีส่งออกไปหลายสิบประเทศแล้ว ขณะเดียวกันก็เตรียมนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขยายกำลังการผลิต เตรียมความพร้อมสู่การเป็น global company ตามที่ตั้งเป้าไว้
จีน เป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตภัณฑ์ของ เถ้าแก่น้อย สามารถเติบโตได้ดี เขาทำตลาดที่นั่นในชื่อ Xiao Lao Ban แปลว่า “เถ้าแก่น้อย” สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ด้วยการชูจุดเด่นที่เทคโนโลยีการผลิตและวัตถุดิบคุณภาพ ส่วนในไทย เขาปรับบรรจุภัณฑ์ให้ซื้อกลับไปได้ง่าย และเปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ เพื่อเป็นช่องทางการขายสินค้า
...waiting for Gist...
เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
คลิ๊กอ่าน อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ เมื่อ “เถ้าแก่น้อย” เป็นว่าที่ “เศรษฐีหมื่นล้าน” ฉบับเต็มได้ใน Forbes Thailand ฉบับ OCTOBER 2015