ส่งออกไทยอ่วม หลัง EU ตัดสัมพันธ์ - Forbes Thailand

ส่งออกไทยอ่วม หลัง EU ตัดสัมพันธ์

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Jul 2014 | 05:58 PM
READ 4532
SCB ประเมินปีหน้า ผู้ส่งออกไทยเสียหาย 47 ล้านเหรียญ หากโดนตัด GSP และเจรจา FTA ไม่คืบหน้า  สินค้าแช่แข็งหนักสุด เคราะห์ซ้ำจากปัญหาค้ามนุษย์
 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่รายงานบทวิเคราะห์ "อนาคตส่งออกไทยหลังสหภาพยุโรประงับความร่วมมือ" โดยระบุว่า การระงับความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปจะทำให้การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างไทยกับยุโรปล่าช้าออกไป โดยมีแผนจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2014 อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาการเมืองในช่วงปลายปี 2013 ต่อเนื่องถึงปี 2014 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่ในการบริหารประเทศ ทำให้การเจรจาในรอบที่ 4 เมื่อวันที่ 7-11 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เมื่อรวมกับการระงับความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปดังกล่าว อาจส่งผลให้ข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2015 ซึ่งเป็นวันแรกที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalised System Preferences: GSP) ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นรายได้ของประเทศ (Country Graduation) 
 
ทางศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าการตัดสิทธิ GSP ในเกณฑ์ Country Graduation จะส่งผลเสียต่อรายได้ผู้ส่งออกอย่างน้อย 47 ล้านเหรียญ จากส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้น หลักเกณฑ์ใหม่ในการได้รับสิทธิพิเศษ GSP นั้น ประเทศที่จะได้รับสิทธิต้องไม่เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (High-income countries) หรือกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งธนาคารโลกได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) มาเป็นเวลา 3 ปีติดกัน ตั้งแต่ปี 2011-2013 ทำให้ไทยจะต้องถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในต้นปี 2015 จำนวน 723 รายการ ส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น
 
สินค้าสำคัญที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กุ้งสดแช่แข็ง จักรยานยนต์ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิจะอยู่ที่ราว 47 ล้านเหรียญ หรือ 0.02% ของการส่งออกทั้งหมดเป็นอย่างน้อย
 
และยังมีแนวโน้มที่จะถูกแย่งตลาดจากความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง อัตราภาษีที่สูงขึ้นย่อมส่งผลให้ความสามารถการแข่งขันทางราคาของสินค้าไทยลดลง ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยถูกแย่งตลาดจากประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกคล้ายกับไทย และยังได้รับสิทธิพิเศษทั้งจาก GSP และ FTA เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเม็กซิโก เป็นต้น  
 
สำหรับสินค้าส่งออกหลักที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ปลาหมึก และจักรยานยนต์ โดยสินค้าเหล่านี้มีการพึ่งพาตลาดยุโรปค่อนข้างมากและได้ใช้สิทธิประโยชน์ GSP ในอัตราที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของสินค้าที่จะได้รับผลกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งหมดยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของการส่งออกทั้งหมด
 
สำหรับผลกระทบในรายธุรกิจนั้น สินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ GSP เกิน 80% ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง คอมเพรสเซอร์ตู้เย็น จักรยานยนต์ เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม และปลาหมึก เป็นต้น จะต้องปรับตัวในระยะสั้น โดยเพิ่มคุณภาพหรือยกระดับสินค้าให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งเพื่อสร้างความได้เปรียบ อีกทั้งควรหาตลาดใหม่ๆ เช่น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
 
การปรับตัวระยะกลางและยาวนั้น ควรมีการออกไปลงทุนในประเทศที่ยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอยู่ ผู้ประกอบการควรเริ่มเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ให้มากขึ้นเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษี  ทั้งนี้ เวียดนามยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP ส่วนลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรในทุกรายการยกเว้นสิทธิในสินค้ากลุ่มอาวุธ (Everything But Arms: EBA)
 
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าทะเลแช่งแข็งยังจะได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับไทยสู่ระดับต่ำสุด (Tier 3) ในรายงานการค้ามนุษย์ 2014 ของสหรัฐฯ โดยไทยถูกปรับลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่ม Tier 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด ทั้งนี้การปรับอันดับครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในอุตสาหกรรมประมง เช่น กุ้งแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง และปลาหมึก ผลกระทบจากกรณีดังกล่าวมีแนวโน้มไม่น้อยไปกว่าผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะพิจารณามาตรการลงโทษไทยภายใน 90 วันนับจากวันที่ถูกปรับลดอันดับ ดังนั้น รัฐบาลและผู้ส่งออกไทยควรเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อภาครัฐและเอกชนทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกอย่างเร่งด่วน