“สารสนเทศภูมิศาสตร์" (GIS) โครงสร้างพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล - Forbes Thailand

“สารสนเทศภูมิศาสตร์" (GIS) โครงสร้างพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Nov 2014 | 08:12 PM
READ 11427
Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นนโยบายเศรษฐกิจล่าสุดที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐและเอกชน แนวคิดนี้มาจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT Digital ในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ส่งผลให้ทุกวงการตื่นตัวและปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้

ดังนั้นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีสารสนเทศจึงกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจยุคนี้ ที่เน้นการค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Commerce) ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ภายใต้เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีบทบาทสำคัญในการก้าวไปสู่ความสำเร็จในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือ สารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS นั่นเอง

 


รูปแสดงการจัดเก็บข้อมูลของ GIS ที่จะแยกข้อมูลประเภทต่างๆออกจากกันและจัดเก็บเป็นแต่ละชั้นข้อมูล

 
สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) คืออะไร 
มีอีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรงแต่อาจจะยังไม่เป็นที่จับตามองจากสังคมไทยมากนัก นั่นคือ “สารสนเทศภูมิศาสตร์" (Geographic Information System - GIS) เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีกระบวนการทำงานเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างฐานข้อมูล ตำแหน่งที่สัมพันธ์กับพื้นที่ และเวลา แล้วนำผลรวบรวมมาแสดงในรูปแบบของแผนที่  กราฟ  ความหนาแน่น และความสัมพันธ์ต่างๆ  ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ ประยุกต์และบูรณาการกับด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การตลาด วัตถุดิบ หรือข้อมูลคู่แข่ง ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยตัดสินใจด้านการบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
 
GIS มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย โดยใช้ GIS มาประเมิน วิเคราะห์และตัดสินใจ วางรากฐานทางด้านระบบสาธารณูปโภคของประเทศส่วนใหญ่ เช่น ไฟฟ้า ประปา ผังเมือง ระบบคมนาคม เป็นต้น ส่วนภาคเอกชนนั้นมีการนำ GIS มาใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้วด้วย 

 
การพลิกโฉมธุรกิจให้รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพด้วย GIS 
ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปี 2558 การเดินทางเข้าสู่ AEC ของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในและนอกประเทศ หน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น GIS เป็นพลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกกิจกรรมของรัฐและธุรกิจของเอกชนเกิดขึ้นบนพื้นโลก จึงเกิดความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และตำแหน่งบนพื้นโลกตลอดเวลา GIS จะช่วยให้การวิเคราะห์  ตัดสินใจ  และติดตามกิจกรรมในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง เช่น ความต้องการของผู้บริโภค จุดอ่อนจุดแข็ง  ความได้เปรียบเสียเปรียบ และคู่แข่ง เป็นต้น

อีกทั้ง GIS ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศที่องค์กรมีอยู่เดิมได้อีกด้วย เช่น ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning), BI (Business Intelligent), MS office เป็นต้น ทำให้องค์กรสามารถวิเคราะห์วางแผนและบริหารงานธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบ GIS จึงเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและองค์กรอย่างมากมายมหาศาล 



- รูปแสดงการวิเคราะห์ตำแหน่งและรัศมีการให้บริการของแต่ละสาขาธนาคาร สำหรับการตั้งสำนักงานสาขาใหม่ เพื่อเลือกตำแหน่งสำนักงานสาขาที่มีศักยภาพมากที่สุด สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด -



- รูปแสดงการวิเคราะห์ความหนาแน่นของปริมาณการใช้จ่ายแต่ละพื้นที่ 1x1 ตารางกิโลเมตร สีในแต่ละตารางแสดงถึงความสามารถในการใช้จ่าย ซึ่งสีเข้ม แสดงถึงปริมาณการใช้จ่ายมาก และสีอ่อน แสดงถึงปริมาณการใช้จ่ายน้อย -



- การติดตามประเมินผลด้วยฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในกิจกรรมต่างๆ -


ตัวอย่างเช่น ธุรกิจการเงินการธนาคารได้ประยุกต์ใช้ GIS ในการวิเคราะห์พื้นที่การให้บริการเพื่อเปิดสาขาและติดตั้งตู้เอทีเอ็ม  หรือการคำนวณเส้นทางระบบขนส่งเงินไปยังตู้เอทีเอ็มและสาขาตามพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ทางภาครัฐยังใช้ GIS ในการช่วยบริหารและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จำนวนเกษตรกรและขนาดแปลงเพาะปลูกทุกชนิด จำนวนผู้ประสบภัยน้ำท่วม เขตพื้นที่ป่าไม้คงเหลือ การตรวจสอบผู้บุกรุกเขตพื้นที่ป่าไม้และเขตสัตว์ป่าสงวน เป็นต้น

 
GIS เครื่องมือสำคัญ ผลักดันชาติไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล
GIS เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศระดับประเทศ (NSDI) ที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารด้านภูมิสารสนเทศ เพื่อใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นโยบาย และบุคคลที่ต้องการเผยแพร่และสนับสนุนการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่ได้จะเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ ที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และตรงกับความต้องการได้ ทำให้ GIS มีความสำคัญเป็น National IT Platform สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล 
 
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม GIS สามารถช่วยให้การทำงานในยุคดิจิตอลง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถใช้ GIS เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศด้วยฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ การบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเป็นฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อการตัดสินใจ  การบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมถึงความมั่นคง  และภาคเอกชนสามารถนำ GIS มาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางด้านธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่มอันนอกเหนือจากการค้า ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่เป็นรูปแบบของตัวเลขที่เกิดจากการค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

หากองค์กรใดยังไม่เคยใช้ GIS เป็นเครื่องมือช่วยบริหารหน่วยงานหรือองค์กร ได้เวลาอันสมควรแล้วที่จะเริ่มศึกษาและนำ GIS มาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานและองค์กรของท่าน เพื่อก้าวทันเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งเพื่อร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
 
 

ไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ESRI (Thailand) จำกัด ในกลุ่มบริษัท CDG