สตาร์ทอัพ Audacy ผู้สร้างสัญญาณโทรศัพท์ในอวกาศ - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพ Audacy ผู้สร้างสัญญาณโทรศัพท์ในอวกาศ

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Aug 2019 | 09:32 AM
READ 4320

มนุษย์โลกผู้ต่ำต้อยอย่างเรายิงดาวเทียมกระจายไปทั่วมาตั้งแต่ปี 1957 แต่ปัญหาท้าทายที่ใหม่กว่านั้นคือ การเชื่อมสัญญาณสื่อสารกับภารกิจบนสวรรค์ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาคำตอบให้ปัญหานั้น ขอเชิญพบกับ สตาร์ทอัพ Audacy (audacy.space)

บริษัทอายุ 4 ปีแห่งนี้ก่อตั้งโดยศิษย์เก่า Stanford และอดีตผู้เชี่ยวชาญ SpaceX ผู้สร้างสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น สัญญาณโทรศัพท์ในอวกาศ โดยใช้กลุ่มโหนดสื่อสาร สถานีภาคพื้นดิน เครื่องรับส่งวิทยุแบบมีเสาในตัวสำหรับผู้ใช้งาน และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ

บริษัทคาดว่าระบบนี้จะช่วยติดตามภารกิจในอวกาศได้จากทุกที่ตั้งแต่บนโลกไปถึงดวงจันทร์ และเนื่องจากระบบเดิมๆ มาถึงขีดจำกัดแล้ว Audacy ซึ่งระดมทุนได้ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสถานีภาคพื้นดินอยู่ในเมือง San Francisco และมีแผนจะเพิ่มสถานีใน Singapore และ Luxembourg จึงต้องการจับกระแสความต้องการที่กำลังบูมสำหรับการคุยกับคนในอวกาศแบบเรียลไทม์

ข้อจำกัดของการมีเฉพาะสถานีภาคพื้นดินคืออะไร? เป็นเพราะบริษัทให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมทุกวันนี้จะต้องรอให้ดาวเทียมของบริษัทโคจรมาถึงจุดที่สามารถสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดิน จึงจะสามารถส่งภาพกลับลงมาให้โลกดาวน์โหลดได้ กระบวนการนี้ทำให้การติดต่อระหว่างโลกกับอวกาศยังเกิดความล่าช้า (delay) ขณะที่ธุรกิจบนโลกต้องการความรวดเร็วของข้อมูลเพื่อตัดสินใจ

ในยุคที่ดาวเทียมพาณิชย์เพิ่มจำนวนขึ้นมาก บริษัทอย่าง สตาร์ทอัพ Audacy จึงมีเป้าหมายจะเปิดให้บริการสถานีภาคพื้นดินเพื่อการพาณิชย์จำนวนหนึ่งภายในปี 2019 นี้ และจะตามด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่แก้ปัญหาการ delay ของการส่งข้อมูลจากดาวเทียมกลับมาที่โลก

Audacy อยู่ระหว่างสร้างระบบ Inter-satellite Data Relay ซึ่งจะประกอบด้วยสถานีภาคพื้นดินของบริษัททั้ง 3 แห่ง และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (MEO) 3 ดวง ที่บริษัทจะส่งขึ้นฟ้าภายในปีนี้ โดยบริษัทหวังว่ารัศมีของเครือข่ายระบบนี้จะทำให้บริษัทสามารถรับส่งข้อมูลจากดาวเทียมอื่นๆ ไปที่โลกได้แบบเรียลไทม์ และหากทำสำเร็จ Audacy จะเป็นบริษัทแรกของโลกที่ให้บริการระบบ Inter-satellite Data Relay เชิงพาณิชย์

โดยบริษัทเปรียบเทียบบริการของตนในปี 2018 ซึ่งเพิ่งจะมีสถานีภาคพื้นดินเพียงแห่งเดียวว่า สามารถครอบคลุมบริการได้เพียง 15% ของพื้นที่โลก และรับส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 100 Mbps แต่ถ้าหากมีระบบ Inter-satellite Data Relay โดยสมบูรณ์ในปี 2021 ระบบนี้จะครอบคลุมการบริการ 100% ของทั้งโลก และรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วถึง 5,000 Mbps

เรากำลังสร้างกระดูกสันหลังแบบใหม่ให้กับการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจอวกาศที่กำลังพัฒนาขึ้น และเครือข่ายของ Audacy ถูกวางตำแหน่งไว้อย่างดีเพื่อตอบสนองลูกค้าหลากหลายประเภท อันรวมไปถึงชุมชนอัจฉริยะด้านสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่กำลังเติบโตด้วยDr.Ralph Ewig ซีอีโอของ Audacy กล่าว

การติดต่อสื่อสารได้แบบเรียลไทม์จะขยายความสามารถของบริการสังเกตการณ์โลก และช่วยเร่งการเติบโตของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้ารายแรกๆ ของเรา

ในกลุ่มลูกค้ารายแรกๆ ของ Audacy คือ พาร์ทเนอร์ของบริษัท ICEYE สตาร์ทอัพสัญชาติฟินแลนด์ผู้ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมแก่รัฐบาลและอุตสาหกรรมเอกชนทั่วโลก

ICEYE เพิ่งปล่อยดาวเทียมดวงที่สองของบริษัท ICEYE-X2 ขึ้นสู่อวกาศ ดาวเทียมดวงนี้โคจรผ่านสถานีภาคพื้นดิน 25 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าหากสามารถใช้ระบบใหม่ของ Audacy ได้ ICEYE จะส่งข้อมูลได้เร็วและมากกว่าเดิมมหาศาล

ทั้งนี้ Audacy ไม่ใช่รายเดียวที่กำลังจับจ้องสมรภูมิเศรษฐกิจอวกาศ คู่แข่งอย่าง Kepler Communications และ Analytical Space ก็กำลังวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อรับส่งข้อมูลดาวเทียมให้ได้เร็วขึ้นและมากขึ้นเช่นกัน

  ที่มา